‘ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา เป็นกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ที่มีความสั้น-ยาวแตกต่างกันตั้งแต่ 11 บรรทัดจบในครึ่งหน้าจนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม 36 บท โดยสื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาท ธรรมชาติ หน้าที่ของกวีและกวีนิพนธ์ ไปจนถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคมทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับมนุษยชาติโดยเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมคิดไปกับเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้อ่านและผู้แต่งมองเห็นหรือค้นพบอาจไม่ใช่สิ่งหรือคำตอบเดียวกัน’ เป็นถ้อยคำจากคณะกรรมการตัดสินซีไรท์ ที่ส่งผลให้นักเขียนมุสลิมจากใต้สุดของประเทศได้รับรางวัลวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าที่สุดของอาเซียน
ซะการีย์ยา อมตยา นักเขียนซีไรท์คนล่าสุด เป็นคนจังหวัดนราธิวาสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาความรุนแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาเติบโตที่หมู่บ้านเล็กๆ ริมตีนเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส สนใจศึกษางานของกวีต่างประเทศ เคยมีผลงานแปลในจุดประกายวรรณกรรมและปาจารยสาร ออกเดินทางอ่านบทกวี ร่วมกับผองเพื่อน และนอกเหนืออื่นใดยังฝันที่จะถ่ายทอดเรื่องราวแผ่นดินเกิดผ่านตัวอักษรเหมือนนิทานที่เขาเคยฟังในวัยเยาว์
เส้นทางเดินของซาการีย์ยา ผ่านเส้นทางอันหลากหลาย เขาได้เข้าเรียน
คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง แต่ได้ยุติการเรียนหลังเรียนถึงปีที่ 5 โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่เรียนทำให้คิดว่า “กฎหมายบางข้อไม่ยุติธรรม” หลังจากนั้น ได้ใช้เวลา 5 ปีศึกษาในคณะ “อิสลามศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีอาหรับ” (Islamic Sciences, Arabic Language and Literature) จาก Darul Uloom Nadwatul Ulama ประเทศอินเดียเป็นประสบการณ์หล่อหลอมจิตวิญญาณกวีของเขา
“สมัยเรียนมัธยมรู้สึกว่ากวีนิพนธ์ไม่น่าสนใจเท่าไหร่ แต่พอไปอินเดียความรู้สึกเปลี่ยน จำได้ว่าเข้าเรียนวันแรกก็ไปซื้อกวีนิพนธ์มาเลย เป็นเล่มที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยเขียนถึง “มุฮัมมัด อิกบาล” รุ่นพี่บอกว่ายาก เลยท้าทายต้องอ่านให้ได้ ปรากฏว่ากว่าจะอ่านเข้าใจก็เรียนปีสุดท้ายแล้ว” ว่าแล้วก็หัวเราะนิดๆซะการีย์ยาใช้ชีวิตท่ามกลางภาษาและวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย บางครั้งความเหงาก็มาทักทายกันบ้าง ทว่าทุกความรู้สึกก็นำเขาไปสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางสายนี้ กับบทรำพันที่แอบเขียนในชั่วโมงเรียนและการอ่านบทกวีอาหรับในกิจกรรมนักศึกษา ถึงแม้จะยังไม่รู้ตัวก็ตาม
เพราะตอนนั้นคิดว่าจะไปเป็น “สะพาน”
“ปีสุดท้ายอาจารย์ถามว่าจบแล้วจะไปเป็นอะไร ผมตอบไปว่าจะเป็นสะพานที่ทอดผ่านระหว่างคนสองฝั่ง คือคิดว่าอยากจะแปลงาน เป็นสะพานทางความคิดและภาษา เชื่อมระหว่างวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเขียนเต็มตัวแบบนี้”
เมื่อกลับมาเมืองไทยนอกจากจะแปลหนังสือแล้ว “ปุถุชน” กลายเป็นนามแฝงที่เขาใช้โพสท์บทกวีตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ กว่าสองปี เสียงวิจารณ์ที่กลับมาทำให้คิดว่าน่าจะถึงเวลาส่งบทกวีไปให้สังคมสาธารณะได้พิจารณาบ้าง และกลายจุดเริ่มต้นของสะพานที่เขากำลังทำหน้าที่ถึงตอนนี้“แรกๆ ที่โพสท์เพราะอยากเขียนให้คนอื่นอ่าน แต่นั่นคือสนามหนึ่งเท่านั้น ที่สุดแล้วก็ให้ค่ากับพื้นที่ในกระดาษ เพราะอยากได้อะไรที่จริงจังมากกว่าชอบไม่ชอบ ถึงการพิจารณาจะเป็นรสนิยมส่วนตัวของบรรณาธิการ แต่ถ้าไม่ผ่านอย่างน้อยก็ทำให้เราต้องมาพิจารณางานตัวเองด้วยว่าเพราะอะไร คนเขียนส่วนใหญ่มองตัวเองไม่ขาดหรอก เหมือนเล่มนี้ก็ทั้งคัดทั้งกรองกันสองรอบ” เขาอธิบาย
นอกจากระบบบรรณาธิการแล้ว ซะการีย์ยายังให้ความสำคัญกับการวิจารณ์ เพราะเชื่อว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเติบโต ทว่านั่นกลับเป็นสิ่งที่สังคมการอ่านเขียนในบ้านเมืองนี้กำลังขาดแคลน โดยเฉพาะในงานประเภทกวี
ขนาดปีนี้พิมพ์บทกวีเยอะ (ตามฤดูกาลของซีไรต์) และมีงานหลายเล่มที่น่าสนใจแม้จะไม่เข้ารอบรางวัลใหญ่ ก็ยังแทบไม่มีเสียงสะท้อนกลับมา นอกจากบทวิจารณ์ของ “อ.สกุล บุณยทัต”
“อาจเพราะกวีนิพนธ์เป็นศาสตร์ที่ยากจะวิจารณ์ เรื่องสั้นนิยายดีไม่ดีจะบอกได้ง่ายกว่า คือจะมองฉันทลักษณ์นั่นก็เป็นเชิงโครงสร้าง เชิงช่างในการสร้างงานศิลปะเท่านั้น ทั้งที่จำเป็นมาก”
จะให้อ่าน ให้เข้าใจ ให้รู้จักความลึกซึ้งที่มากกว่าโครงสร้าง ต้องไปแก้กันที่จุดเริ่มต้นอย่าง “ตำราเรียน”“ตอนนี้กวีนิพนธ์ร่วมสมัยเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ไม่ถูกหยิบยกมาอยู่ในกระแสหลักของการศึกษา บางคนอ่านแล้วก็ถามว่า เฮ้ย นี่คือบทกวีด้วยเหรอ..” เขาว่าพลางหัวเราะ
และการเรียนทั้งประเทศในหลักสูตรเดียวกันนี้ นอกจากส่งผลถึงรสนิยมรวมหมู่แล้ว ยังส่งผลถึงการพัฒนางานกวีด้วย
“นิยายกับเรื่องสั้นไปไกลแล้ว แต่กวีนิพนธ์ยังไม่ไกลเท่า อาจเพราะนิยาย,เรื่องสั้นไม่ใช่ศาสตร์ของเรา เลยรับสิ่งใหม่ได้ไม่ยาก แต่กวีเป็นศาสตร์ดั้งเดิมเลยยากที่จะปล่อยวางและเปิดกว้าง เพราะรู้สึกว่าที่เรามีนั้นสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว เรายังกอดตัวเอง หวงแหนในสิ่งที่ตัวมีมากไป”
“บทกวีขนบคือศิลปศาสตร์ที่สั่งสมกันมายาวนาน แต่ก็ควรเปิดให้เด็กๆ ได้เห็นถึงสิ่งอื่นที่ต่างไปด้วย เรียนรู้ควบคู่กันไปในกระแสหลัก เป็นอีกแขนงของบทกวี”
เพราะใจที่เปิดกว้าง จะทำให้ได้สิ่งที่กว้างกว่ากลับมา
ส่วนหนึ่งในผลงานของซาการีย์ยา อ่านในงาน Thai Poet Society forum 2009
ผลิบานจากคาบสมุทรมลายู
เธออาจถามฉันว่า บุหงาของฉันหายไปไหน
มาตุภูมิของฉันอยู่แห่งหนใด
ฉันมีความภักดีต่อราชอาณาจักรแห่งนี้หรือไม่
ฉันจะมีชีวิตเยี่ยงไรในประเทศที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม
ฉันจะยืนเคียงข้างฝ่ายใดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นี่คือเรื่องราวที่ฉันได้พบเห็น
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
ตาของฉันเป็นช่างไม้ ส่วนยายเย็บปักถักร้อย
ฉันเติบโตในหมู่บ้านเล็กเล็กริมตีนเขาบูโด
ในท่ามกลางนิทานพื้นบ้านและเรื่องเล่าจากอัลกุรอาน
ทุกวันฉันพูด ร้องไห้ และหัวเราะ
ด้วยภาษาแม่ของฉัน
บทสนทนายามเช้าที่ร้านน้ำชา
ราวสำนักข่าวอิสระประจำท้องถิ่น
ถ่ายทอดเรื่องราวจากที่ห่างไกล
ในสรรพสำเนียงของเรา
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
เสียงปืนในภาษาของฉันและเธอแตกต่างกัน
เมื่อเสียงปืนแตกโป้งโป้งหนังสือพิมพ์ลงข่าวปังปัง
นกดุเหว่า บรรพบุรุษของฉันเรียกบุหรงตูโว
คำว่า เลือด น้ำตา ผู้ปกครอง และการกดขี่
เมื่อเปล่งออกมาจากปากของฉันด้วยภาษาของเธอ
ความหมายและการตีความจึงกัดกร่อนความจริง
ฉันไม่ได้ร่วมสร้างถ้อยคำเหล่านี้
กระนั้นฉันยังคงฝันที่จะถักทอความในใจ
และจินตนาการของฉันด้วยภาษาของเธอ
แม้ที่สุดภาษาของเธอ
เป็นได้เพียงภาษาที่สองของฉันก็ตาม
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
บางทีเธออาจสงสัยในตัวฉัน
แต่ศาสนาของฉันสอนให้มองโลกในทางดี
ให้เชื่อฟังผู้ปกครองอันเปี่ยมธรรม
ให้ต่อสู้กับความอยุติธรรม
และให้กล่าวความจริงเบื้องหน้าผู้ปกครองที่อธรรม
ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะก่อการกบฏ แบ่งแยกดินแดน
ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะขัดขืนยื้อแย่งอำนาจรัฐ
เพียงเธอยื่นมือที่ปราศจากเขม่าดินปืน
ฉันจะหอบดอกไม้จรุงกลิ่นหอมยื่นให้
แต่หากมือนั้นเปื้อนเลือดที่แห้งกรังของผู้คนไซร้
ฉันจะโบกธวัชแห่งเมล็ดข้าว
ร่วมต่อต้านกับผืนแผ่นดิน
แม้ที่สุดความปราชัยจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
จากคุณ : ศอบรี ยูนุ @ 2011-04-09 15:25:30
จากคุณ : ศอบรี ยูนุ @ 2011-04-09 15:22:45
จากคุณ : ฮาฟีช @ 2010-11-06 01:32:44
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3585 ครั้ง