เลขาฯ ป.ป.ท.เผยผลการตรวจสอบโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภับพิบัติ (อุทกภัย) ปี 2552 พบพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าถูกภัยพิบัติน้ำท่วมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติจริง ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหายเกินจริงจากตัวปลัดอำเภอและนายอำเภอเอง โดยเตรียมส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ตามเชือดข้าราชการกังฉิน พร้อมเสนอ ครม.แก้ระเบียบงบภัยพิบัติ ลดอำนาจอำเภอจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดช่องว่างการทุจริต
วันที่ 7 ก.ย.นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.แถลงผลการตรวจสอบโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ประจำปีงบประมาณ 2552 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการผู้ประสบอุทกภัยพบพิรุธจำนวนมากในหลายพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยจากการไปตรวจสอบพื้นที่ที่แจ้งว่าของบภัยพิบัติไม่พบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติจริง เป็นการประเมินความเสียหายมากเกินจริงของข้าราชการรัฐ อาทิ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ อีกทั้งยังพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ มีปลัดอำเภอเข้าไปเป็นประธานโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสียเอง มีการสมยอมกับคู่สัญญาซึ่งพบว่าบุคคลดังกล่าวที่ได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างเป็นญาติผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีอิทธิผลในท้องที่ต่างๆ เสียส่วนใหญ่
นายภิญโญ กล่าวต่อว่า ป.ป.ท.จะเสนอความเห็นให้ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้จำกัดความคำว่าภัยพิบัติให้ชัดเจน ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ งบภัยพิบัติ จะให้อำนาจทางอำเภอแต่ละแห่งโดยมีคณะกรรมการแต่ละอำเภอเป็นผู้ดูแลงบและทำการจัดสรร ซึ่งจากจุดนี้ ป.ป.ท.เห็นว่า เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต จึงจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี เปลี่ยนโครงสร้างการดูแล จัดสรร เป็น 3 ส่วน คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคส่วนของอำเภอ ภาคประชาสังคม ร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้อำนาจไปกระจุกตัวอยู่ที่อำเภออย่างเดียว ซึ่งถ้าหากข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะสามารถนำแนวทางมาปรับใช้ได้เลย
อย่างไรก็ตาม จะเสนอไปยังกรมสรรพากรให้ตรวจสอบบุคคลธรรมดาที่เข้าทำสัญญาตกลงการจ้างกับหน่วยราชการโดยวิธีพิเศษ เพื่อป้องกันการจ้างบุคคลธรรมดาที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในงานที่รับจ้างหรือจงใจเลี่ยงภาษีโดยแบ่งงานออกเป็นหลายโครงการย่อย ในส่วนของนิติบุคคลที่จะมาเป็นคู่สัญญาจะต้องสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังต้องหาแนวทางป้องกันการเบิกจ่ายงบฯซ่อมแซมถนนที่ทับซ้อนกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับงบภัยพิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการทุจริตได้
นายภิญโญ กล่าวต่อว่า สำหรับการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อจากนี้ ป.ป.ท.จะส่งโครงการต่างๆ ที่พบหลักฐานการทุจริตที่พบชัดเจน ประมาณ 50 โครงการ ในทั่วทุกภาคที่พบความผิดปกติ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ และนครศรีธรรมราช ที่หลักฐานค่อนข้างชัดเจน ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการตามกฎหมาย โดยทาง ป.ป.ท.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดำเนินการเอาผิดด้วย ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการไม่ล่าช้าจนเกินไป อีกทั้งการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงจังจะเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ไม่กล้าทำผิดเพิ่มขึ้น ซึ่งในหลายโครงการหากเอาผิดจริงจะพบเจ้าหน้าที่ระดับตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอไล่ลงมาเกือบจะทั้งหมด
นายภิญโญ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ตรวจสอบพบมีทั้งสิ้น 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การประกาศเขตภัยพิบัติไม่ถูกต้อง ไม่มีการเกิดภัยพิบัติขึ้นจริงมีเพียงเหตุฝนตกหรือน้ำท่วมปกติ และภาพถ่ายประกอบการขออนุมัติไม่ตรงกับพื้นที่จริง บางโครงการใช้ภาพซ้ำซ้อนกันมาขออนุมัติงบประมาณ 2.การอนุมัติให้ความช่วยเหลือไม่ถูกต้องเช่น ถนนเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่ประเมินว่าเสียหายจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้และอนุมัติให้ซ่อมแซมถนนทั้งสาย 3.การจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้อง บางพื้นที่ผู้รับจ้างไม่มีอาชีพ หรือศักยภาพเพียงพอที่จะรับว่าจ้าง บางรายเป็นลูกหลานของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ต้องนำแรงงานชาวบ้านมาช่วยปรับเกลี่ยถนน ไม่มีช่างควบคุมงาน บางโครงการผู้รับจ้างเป็นลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล 4.การควบคุมงานไม่ทั่วถึง บางพื้นที่มีช่างควบคุมงาน 1 กรรมการตรวจการจ้าง 3 คน ต้องรับผิดชอบการตรวจรับงานถึง 15 โครงการ และ 5.การตรวจรับงานไม่ถูกต้อง เช่น สัญญากำหนดให้ซ่อมแซมเป็นถนนลูกรังแต่ผู้รับจ้างนำหินคลุกมาลงแทน
สำหรับพื้นที่ที่ ป.ป.ท.ได้สุ่มตรวจสอบ รวม 21 จังหวัดใน 5 ภาคของประเทศ ซึ่งผลการตรวจสอบโครงการ 373 โครงการ งบประมาณกว่า 92 ล้านบาท พบโครงการที่ผิดปกติ 274 โครงการ ความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท ในส่วนของพื้นที่ภาคอีสานสุ่มตรวจสอบ 6 จังหวัด 38 อำเภอ จำนวน 193 โครงการ พบความผิดปกติทุกโครงการ ความเสียหายประมาณ 28 ล้านบาท หรือคิดเป็น 100% พื้นที่ภาคเหนือ ตรวจสอบ 7 จังหวัด 27 อำเภอ 98 โครงการพบความผิดปกติใน 48 โครงการ ความเสียหายกว่า 16 ล้านบาท ภาคกลางตรวจสอบ 4 จังหวัด 11 อำเภอ 34 โครงการพบโครงการผิดปกติ 15 โครงการ ความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ภาคตะวันออกสุ่มตรวจสอบจังหวัดจันทบุรีเพียงจังหวัดเดียว ไม่พบความผิดปกติ ภาคใต้สุ่มตรวจสอบ 3 จังหวัด 31 โครงการ พบโครงการผิดปกติ 14 โครงการ ความเสียหายประมาณ 3 ล้านบาท
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1808 ครั้ง