ธนาคารกลางมาเลเซียได้ซื้อพันธบัตรเงินหยวนเข้าทุนสำรองแล้ว แสดงถึงก้าวสำคัญในความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งในการส่งเสริมบทบาทเงินหยวนในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นเงินตราสกุลทางเลือกแข่งกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติมาเลเซียในครั้งนี้คาดว่าจะเป็นการเริ่มเขี่ยลูกการกระจายทุนสำรองมายังหลักทรัพย์รัฐบาลจีนโดยธนาคารกลางอื่นๆในเอเชียมากขึ้น “สิ่งนี้นำมาสู่ความน่าเชื่อถือของเงินหยวนขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง” นายดาริอุส โควัลซิก นักกลยุทธ์จากธนาคารเครดิต อากริโคลของฝรั่งเศสประจำฮ่องกง
“มันจ่อให้เกิดผลลัพธ์แบบโดมิโน่ขึ้น โดยเริ่มจากคู่ค้าของจีนในเอเชีย หลังจากนั้นก็จะขยายตัวไปทั่วโลก” เขากล่าว
ธนาคารกลางมาเลเซียปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ โดยกล่าวแต่เพียงว่า ทางแบงก์ชาติมาเลเซียไม่เคยพูดคุยกันถึงการกระจายทุนสำรอง ซึ่งอยู่ที่ 311,000 ล้านริงกิต ณ สิ้นเดือนสิงหาคมหรือประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ ณอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เทียบกับ 95,000 ล้านดอลลาร์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนตอนประกาศ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้เปิดเผยกับไฟแนนเชียลไทม์ว่า การซื้อพันธบัตรครั้งนี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานและคิดว่ามีการซื้อร่วมกับหรือซื้อตามโดยธนาคารกลางอื่นๆในเอเชีย อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นธนาคารกลางของประเทศใด
เดือนสิงหาคม ทางการจีนได้เปิดตลาดพันธบัตรในประเทศในตลาดระหว่างธนาคาร (Interbank Market) ให้กับธนาคารกลางของต่างชาติ ซึ่งเข้าถึงเงินหยวนผ่านการทำสัญญาสว็อปส์เงินในหลายครั้งที่ผ่านมาเป็นเงิน 800,000 ล้านหยวน
ข้อตกลงการสว็อปส์เงินลงนามตั้งแต่ปี 2008 กับประเทศอาร์เจนติน่า เบลารุส ฮ่องกง ไอซ์แลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามก็ไม่มีรายละเอียดว่า มีการแลกเงินตามสัญญาสว็อปส์นี้เท่าใด ธนาคารพาณิชย์อย่างเอชเอสบีซีและซิตี้กรุ๊ปซึ่งได้สะสมเงินหยวนผ่านการทำธุรกรรมการชำระเงินค่าสินค้าข้ามพรมแดนก็ได้รับอนุญาตให้นำเงินหยวนที่มมีไปลงทุนในพันธบัตรในตลาดระหว่างธนาคารได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีธนาคารใดได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ
การตัดสินใจอนุญาตให้ธนาคารกลางบางแห่งสามารถลงทุนในตลาดพันธบัตรในประเทศได้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนในการส่งเสริมการใช้เงินหยวนในระดับนานาชาติ บทบาที่เพิ่มขึ้นของหยวนอาจเป็นการคุกคามสถานะขอเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า มันต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเงินหยวนจะกลายเป็นเงินตราสกุลหลักในระบบทุนสำรองโลก โดยให้เหตุผลถึงการควบคุมตลาดการเงินที่ยังเข้มมากของจีน
ในระยะสั้น ข่าวนี้น่าจะได้รับการตอบรับในทางบวกจากรัฐบาลสหรัฐฯ หากประเทศอื่นๆเริ่มต้นซื้อพันธบัตรหยวนเป็นทุนสำรอง นั่นจะสร้างแรงกดดันให้เงินหยวนต้องแข็งค่าขึ้นจากการที่เงินหยวนสามารถหมุนเวียนเข้าออกประเทศได้ 2 ทาง
แต่จริงๆแล้ว มาตรการของจีนน่าจะเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะสามารถตอบโต้การซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯของจีนด้วยการซื้อสินทรัพย์ของจีนคืนอย่างที่รักเศรษฐศาสตร์บางคืนแนะนำ แหล่งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กรระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดกับธนาคารกลางของจีนและประเทศอื่นๆในเอเชีย การซื้อพันธบัตรหยวนของมาเลเซียครั้งนี้ถือเป็น “ก้าวกระโดดครั้งสำคัญ” แต่แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นั่นยังเป็นแค่ก้าวเดินของทารก ความตั้งใจของจีนจะต้องไม่ไปสั่นคลอนระบบการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary System) จีนต้องค่อยๆเพิ่มบทบาทของเงินหยวน”
ที่มา Financial Times