ชาติอาหรับในภูมิภาคอ่าวได้เริ่มดำเนินการติดอาวุธรอบใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ในยามสันติ โดยสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯมูลค่ากว่า 123,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากประเทศอาหรับต้องการต่อต้านอำนาจทางทหารของอิหร่าน
ซาอุดิอาระเบียสั่งซื้ออาวุธกว่า 67,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในแพ็คเกจการขายอาวุธให้กับบรรดาชาติอาหรับในครั้งนี้ ถือเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมอาวุธสหรัฐฯครั้งใหญ่
โดยเฟสแรกของข้อตกลงกับซาอุดิอาระเบียก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการอนุมัติจากสภาคองเกรสคาดว่าจะมีมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์
นายแอนโธนี่ คอร์เดสแมนจากศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาหรือ CSIS ในกรุงวอชิงตันดีซีกล่าวให้ความเห็นกับไฟแนนเชียลไทม์ว่า สหรัฐฯกำลังหวังที่จะสร้าง “โครงสร้างทางความมั่นคงใหม่ยุคหลังสงครามอิรัก ซึ่งสามารถเป็นหลักประการในการขนส่งน้ำมันไปป้อนระบบเศรษฐกิจโลกได้”
การขายอาวุธครั้งนี้จะ “เป็นการยกระดับการปร้อมปรามในระดับภูมิภาค (Regional Deterrence) และช่วยลดขนาดของกองทัพสหรัฐฯซึ่งต้องประจำการในภูมิภาคนี้ด้วย”
การซื้ออาวุธครั้งใหม่เกิดขึ้นในเวลาที่หลายๆประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งสำรองน้ำมันที่พิสูจน์แล้วกว่า 2 ใน 3 ของโลก เกิดความรู้สึกหวาดหลัวหลังจากอิหร่านมีความพยายามในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์
ประเทศเหล่านี้ยังกลัวอีกว่า การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของอิหร่านไมว่าจะโดยกองทัพอิสราเอลหรือสหรัฐฯจะกระตุ้นให้เกิดการโจมตีล้างแค้นประเทศในตะวันออกกลาง (ซึ่งก็เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ) หรือเกิดการปั่นป่วนของการลำเลียงน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุส
ซาอุดิอาระเบียจะได้รับเครื่องบินขับไล่ F-15 จำนวน 85 ลำ และ จะมีการอัพเกรดเครื่องบินอีก 70 ลำ บริษัทโบอิ้งจะเป็นซัพพลายเออร์หลักในการจัดส่งเครื่องบินล็อตนี้ซึ่งจะช่วยยกระดับความศักยภาพในการผลิตเครื่องบินรบชั้นสูง ธุรกิจซึ่งโบอิ้งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขัน นอกจากนั้นคาดว่าจะมีสัญญาผูกพันที่ต่อเนื่องในอนาคตที่จะต้องมีการช่วยอัพเกรดระบบเรดาร์และระบบป้องกันขีปนาวุธ และการยกระดับความทันสมัยของกองเรือตะวันออกของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย
“จุดประสงค์ของซาอุก็เพื่อส่งสาสน์ตรงไปยังอิหร่านว่า ตอนนี้เรามีแสนยานุภาพทางอากาศเหนือกว่าคุณแล้ว” นักวิเคราะห์การทหารชาวซาอุกล่าว
พันธมิตรทางทหารของสหรัฐฯอื่นๆในภูมิภาคอ่าวก็เข้าร่วมในโครงการจัดซื้ออาวุธครั้งใหญ่นี้ด้วย นายธีโอดอร์ คาราซิคจากสถาบันวิเคราะห์ทางทหารภูมิภาคตะวันออกใกล้และภูมิภาคอ่าวในดูไบกล่าวว่า ประเทศ UAE ได้ลงนามในสัญญาซื้ออาวุธมูลค่ากว่า 35,000-40,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว
UAE ได้รับไฟเขียวให้สามารถซื้อ “ธาด” (Thaad) ซึ่งเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธในระดับที่สูงจากพื้นโลกมาก (High Altitude Missile Defence System) ซึ่งกำลังพัฒนาโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน UAE และ คูเวต แต่ละประเทศได้ลงนามในสัญญาอัพเกรดระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออตซึ่งพัฒนาโดยเรธีออน (Raytheon) ซึ่งครอบคลุมไปถึงท่านป้องกันภัยทางอากาศในระดับความสูงที่ต่ำลงด้วย
ในที่อื่นๆ ประเทศโอมานคาดว่าจะใช้เงินซื้ออาวุธเป็นเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ และ 7,000 ล้านดอลลาร์สำหรับคูเวตในปีนี้จนถึงปี 2014 ในการสับเปลี่ยนและอัพเกรดเครื่องบินรบและระบบบัญชาการและควบคุม จากการวิเคราะห์ของเบลนเฮม แคปิตอล พาร์ตเนอร์ส บริษัทที่ปรึกษาซึ่งช่วยเหลือในการลงนามสัญญาทางทหาร โครงการจัดซื้ออาวุธของโอมานจะรวมถึงเครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 18 ลำ และการอัพเกรดอีก 12 ลำ สัญญานี้คนที่ได้รับประโยชน์คือ บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน และเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตเครื่องบินรบชั้นนำของสหรัฐฯอีกด้วย
โดยมูลค่าของสัญญาขายอาวุธสงครามให้กับประเทศซาอุดิอาระเบีย UAE โอมาน และ คูเวตจากสหรัฐฯในครั้งนี้คาดว่าจะสูงถึง 122,880 ล้านดอลลาร์ ตลอดระยะเวลา 4 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2014
นายแกรนต์ โรแกน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเบลนเฮม กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยปกติแล้วจะซื้ออาวุธแบบซื้อขาดครั้งเดียว (one-off basis) แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านี้กำลังแซงหน้ายุโรปตะวันตกเป็นประเทศผู้ซื้อขาประจำรายใหญ่แล้ว “พวกเขาคือผู้ซื้อรายใหญ่” นายโรแกนกล่าว
ที่มา Financial Times
http://www.ft.com/cms/s/0/ffd73210-c4ef-11df-9134-00144feab49a.html
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 5923 ครั้ง