นพ.กิติพันธ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคหัวใจเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีอัตราการเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของไทย รองลงมาจากอุบัติเหตุและมะเร็ง ดังนั้น กิจกรรมนี้จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจว่า โรคหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะผู้บริหารส่วนมากที่มักมีความเสี่ยงของโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องจากต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาดูแลตัวเองหรือออกกำลังกาย ทั้งนี้เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพในอนาคต
นอกจากนั้นมีรายงานข่าวแจ้งว่า นักวิจัยในอังกฤษใช้แบบคำนวณทางคณิตศาสตร์พบว่า การได้รับรังสีแม้เป็นปริมาณน้อยก็ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนติงว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปโดยไม่มีหลักฐานทางชีววิทยาสนับสนุน
คณะนักคณิตศาสตร์ที่อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ใช้แบบคำนวณทางคณิตศาสตร์พบว่า รังสีทำลายโมโนไซต์ เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่สามารถแทรกผ่านผนังหลอดเลือด ไปกำจัดโปรตีน MCP-1 เชื่อกันว่าโปรตีนนี้หากมีมากจะทำให้เกิดการอักเสบ นำไปสู่การเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ผลที่ได้จากแบบคำนวณนี้สอดคล้องกับอัตราการเป็นโรคหัวใจของผู้ทำงานเกี่ยวกับรังสี
คณะนักวิจัยระบุว่า เป็นครั้งแรกที่พบกลไกเพื่อใช้อธิบายความเสี่ยงโรคหัวใจ จากการทำงานเกี่ยวกับรังสีตามที่เคยมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ผู้ได้รับรังสีจากการทำงานเป็นเวลานานมักเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ดังนั้น การได้รับรังสีแม้เป็นปริมาณน้อย เช่น รังสีทางการแพทย์ รังสีเอกซเรย์ในการทำฟัน อาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด นอกเหนือจากการทำให้เป็นมะเร็งอย่างที่เชื่อกันในขณะนี้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1815 ครั้ง