หยวน–ดอลลาร์
ปะทะเดือดในโลกมุสลิม
นับวันสงครามการเงินจะมีความดุเดือดรุนแรงขึ้นทุกที
ล่าสุดรัฐมนตรีคลังของบราซิลถึงกับออกมากล่าวว่า
โลกกำลังถูกผลักเข้าสู่
“สงครามค่าเงิน”
โดยซัดทอดความผิดทั้งหมดไปยังกลุ่มประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกที่เป็นเจ้าของเงินตราสกุลหลักทั้งสหรัฐฯ
ยุโรป และ ญี่ปุ่น
ซึ่งต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำระยะยาวจากวิกฤตการเงินและมีหนี้สินล้นพ้นตัว
โดยประเทศเหล่านี้ซึ่งเป็นเจ้าของเงินตราสกุลหลักอย่างดอลลาร์
ยูโร ปอนด์
และเยนกำลังเอาเปรียบทั้งโดลกโดยการลดค่าเงินตัวเองเพื่อเร่งการส่งออก
นำไปสู่ความปั่นป่วนไปทั่วโลกจนประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต่างต้องออกมารับมือแผนการโจมตีค่าเงินครั้งใหญ่ที่ถูกออกแบบและวางแผนมาโดยประเทศมหาอำนาจและกลุ่มทุนการเงินไมกี่กลุ่ม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและใกล้ตัวที่สุดก็คือ
ประเทศไทยที่ต้องโดนหางเลขไปด้วยจากค่าเงินบาทที่แข็งและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเกทับสู้กับการโจมตีค่าเงินที่ถูกโหมกระหน่ำไปทั่วโลก
สุ่มเสี่ยงต่อหายนะทางเศรษฐกิจจากการส่งออกที่อาจพังทะลายได้ทั่วโลก
แต่หากมองดูลึกๆแล้วแกนกลางของปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ความขัดแย้งอละการปะทะกันดุเดือดระหว่างจีนและสหรัฐฯผ่านการบี้กันหนักของเงินหยวนและเงินดอลลาร์
สหรัฐฯพยายามใช้การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินผ่านการออกมาตรการสารพัดของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด
สหรัฐฯพยายามใช้เกมสงครามค่าเงินเพื่อบีบให้จีนล้มละลายทางการเงินจากการที่ถือทุนสำรองมหาศาลในรูปของดอลลาร์
ซึ่งส่วนมากก็เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
การที่เฟดประกาศที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯนั้นไม่ต่างจากการชักดาบทางอ้อม
เพราะเงินดอลลาร์มหาศาลจะถูกเสกออกมาจากอากาศแบบไร้ค่า
ต่างจากเงินที่เกิดจากภาษีประชาชนหรือเงินออมจากต่างชาติที่เกิดจากการทำการผลิตจริง
มีค่าแน่นอน
สหรัฐฯยังได้ใช้แรงกดดันทางการเมืองสารพัดเพื่อบีบให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวนด้วย
ซึ่งนั่นเป็นการเดินเกมกดดันให้จีนล้มละลายทางการเงินอีกทางหนึ่งแต่ผ่านกลไกทางการเมือง
นอกเหนือจากการใช้กลไกตลาด
นายกเวิน เจียเป่าของจีนเองก็ยอมรับแล้วว่า
หากค่าเงินหยวนจีนแข็งค่าอย่างรวดเร็วในระดับ20-40%ย่อมส่งผลให้ผู้ส่งออกจีน
“ล้มละลายหมดประเทศ”
ซึ่งย่อมทำให้เกิดคนว่างงานทันที300ล้านคนและจีนจะล่มสลาย
และข้อนั้นจีนก็รู้ดีว่า
นี่คือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวของสหรัฐฯที่มีต่อจีน
แต่เมื่อสหรัฐฯเล่นสงครามการเงินในเชิงปริมาณด้วยการถมดอลลาร์ครั้งใหญ่สู่ระบบการเงินโลก
และจีนเองก็ทราบดีว่า
ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกไม่มีทางเลือกอื่นในการพยุงการส่งออกไปได้ดีกว่าการไล่ซื้อดอลลาร์ไปเรื่อยๆ
ซึ่งนั่นก็คือ การปล้นดีๆนั่นเอง
เพราะเงินจำนวนนั้นจะกลายเป็นทุนสำรองและถูกโยกกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
หรือแท้ที่จริงก็คือ
“ขยะทางการเงินกองใหญ่ที่สุดในโลก”
เพราะยังไงสหรัฐฯก็ไม่มีเงินมาใช้หนี้แน่ๆ
และเมื่อถึงเวลาที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้น
รัฐบาลทั่วโลกจะขาดทุนมหาศาลจากการที่ถือดอลลาร์ในทุนสำรอง
เพราะดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำให้ราคาพันธบัตรดิ่งเหวไม่หยุด
การแก้เกมง่ายๆแต่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกก็คือ
การเลิกใช้ดอลลาร์
โดยจีนได้ใช้วิธีดันเงินหยวนมาแข่งกับดอลลาร์แทน
ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้แล้ว
จีนย่อมสามารถกลบผลขาดทุนมหาศาลที่สหรัฐฯก่อขึ้นได้อย่างง่ายดายผ่านการพิมพ์เงินหยวนมาชดเชย
ซึ่งการตอบรับเงินหยวนกำลังดีวันดีคืน
มาเลเซียกลายเป็นประเทศแรกที่ประเดิมการซื้อพันธบัตรหยวนเข้าทุนสำรอง
เงินหยวนนั้นในระยะยาวแล้วมีแต่จะแข็งค่าขึ้นดังนั้นจึงดูมีเหตุผลหากจะซื้อหาเงินหยวนมาเก็บไว้เป็นทุนสำรอง
และการแข็งค่าของเงินหยวนในอนาคตจะกลายเป็นตัวเร่งให้เงินตราสกุลหลักดั้งเดิมร่วงลงอย่างหนัก
จะเว้นก็แต่เงินเยนเท่านั้นซึ่งเป็นเงินสกุลเอเชียและมีการค้ากับเอเชียและจีนที่สูงและมีการเกินดุลการค้าย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของเอเชียซึ่งเป็นเขตอิทธิพลที่ใกล้ตัวจีนทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร
การขยายตัวของเงินหยวนไม่น่าจะมีปัญหามาก
เงินหยวนน่าจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ส่งออกในอาเซียน
ไต้หวัน เกาหลีใต้
และอาจรวมถึงญี่ปุ่นด้วยในอนาคต
เพราะญี่ปุ่นมีปัญหาค่าเงินแข็งมากกว่าใครเพื่อน
เงินหยวนที่ไม่หวือหวา
แต่มีแนวโน้มแข็งค่าในระยะยาวย่อมมีประโยชน์ต่อผู้ส่งออกญี่ปุ่นด้วย
มีจุดที่น่าสังเกตอย่างยิ่งในช่วง10ปีที่ผ่านมา
ในหนังสือที่ชื่อ The
New Silk Road ที่เขียนขึ้นโดยBen
Simpfendorferกล่าวถึงปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นอย่างเงียบๆแต่มีพลวัตสูงมากนั่นคือ
การกลับมาของเส้นทางสายไหม
ซึ่งมีการเติบโตขึ้นของการเดินทางไปมาของผู้คนตลอดเส้นทางนี้ทั้งจีน
อาเซียน เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง
และแอฟริกา มีการค้าระหว่างกันที่สูงขึ้น
รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนของทุนเปโตรดอลลาร์ตลอดเส้นทางสายไหม
การเชื่อมโยอย่างแน่นแฟ้นของระบบเศรษฐกิจตคลอดเส้นทางสายไหมย่อมส่งผลอย่างสำคัญของสถานะของเงินหยวนในระบบการเงินโลก
และดูเหมือนว่าจีนเองจะกำลังพาเงินหยวนสู่การผจญภัยบนเส้นทางสายไหมนี้ด้วย
และล่าสุดนายกเวิน
เจียเป่าของจีนก็พาเงินหยวนวิ่งไปจนสุดปลายเส้นทางสายไหมถึงอาณาจักรออตโตมาน
โดยการเยือนประเทศตุรกีของนายเวินนั้น
จีนได้บรรลุข้อตกลงในการใช้เงินหยวนและเงินลีร่าของตุรกีในการค้าระหว่างกันด้วย
ปัจจุบันจีนกับตุรกีมีการค้าระหว่างกันโตขึ้นจาก1,000ล้านดอลลาร์ในปี2000มาเป็น12,600ล้านดอลลาร์ในปี2008ก่อนลดลงมาอยู่ที่10,000ล้านดอลลาร์ในปี2009จากวิกฤตการเงิน
แต่นั่นคงไม่สามารถหยุดแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของการค้าระหว่างกันได้
นั่นถือเป็นพัฒนาการล่าสุดของการปักธงของเงินหยวนในโลกมุสลิม
ตุรกีนั้นถือเป็นประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ
และมีความสำคัญยิ่งในแง่ของความมั่นคงและดุลอำนาจในตะวันออกกลางและยุโรป
ตุรกียังเป็นประเทศมุสลิมที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดด้วย
เศรษฐกิจตุรกีมีขนาดใหญ่พอๆกับกลุ่มGCC 6ประเทศรวมกัน
ใหญ่กว่าซาอุดิอาระเบียเท่าตัวทั้งๆที่ไม่มีน้ำมัน
บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจตุรกีได้ดี
นอกจากนั้นแล้วทางจีนและตุรกีก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการค้าระหว่างกันเป็น100,000ล้านดอลลาร์ด้วยภายในปี2020
โลกมุสลิมโดยเฉพาะตะวันออกกลางถือเป็น1ในแกนหลักแกนหนึ่งที่ค้ำยันเงินดอลลาร์ไว้นอกเหนือจากจีนและญี่ปุ่น
ตราบใดที่สหรัฐฯยังสามารถใช้กลยุทธ์
“แบ่งแยกแล้วปกครอง”
โดยการกระจายการก่อหนี้และหลอกคนมาลงทุนในตลาดทุนสหรัฐฯได้
จีนย่อมมีพลังในการเขย่าตลาดทุนและเงินดอลลาร์ได้จำกัด
เพราะหากจีนคิดทำเช่นนั้น
สหรัฐฯก็สามารถชักจูงให้ญี่ปุ่นและอาหรับมาพยุงเงินดอลลาร์ได้
แต่แม้ว่ารัฐบาลอาหรับจะยังคงมีความเหนียวแน่นกับสหรัฐฯดีและยังคงตรึงค่าเงินตัวเองกับดอลลาร์แบบเหนียวแน่น
แต่นั่นย่อมไม่จริงสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนและภาคเอกชนซึ่งไม่ได้มีท่าทีชอบสหรัฐฯมากนัก
และปัจจุบันด้วยนโยบายการลดการพึ่งพาภาคน้ำมันไปสู่ภาคการผลิต
การค้า
และการบริการที่มากขึ้นย่อมหนุนให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในระบบเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตรวมถึงการศึกษามูลค่ามหาศาลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ชนชั้นกลางและผู้ประกอบการใหม่ที่เติบโตขึ้นย่อมเล็งเห็นโอกาสในการมุ่งไปยังทิศตะวันออกซึ่งมีจีนเป็นแกนกลางพลวัต
จริงอยู่ที่การค้าน้ำมันยังทำอยู่ในรูปของดอลลาร์
แต่การค้าสินค้าและบริการต่างๆซึ่งจะเป็นเรื่องของภาคเอกชนทั้งหลายก็มีแนวโน้มที่จะทำในรูปของเงินหยวนมากขึ้น
และยิ่งจีนมีการปักธงอย่างแน่นหนาในแอฟริกาในฐานะผู้ลงทุนและคู่ค้ารายใหญ่แล้ว
เงินหยวนย่อมบินไกลไปถึงกาฬทวีปแห่งนี้ซึ่งก็มีประชากรมุสลิมมากมายเช่นกัน
และด้วยระบบธนาคารที่ลงหลักปักฐานมานานกว่าในตะวันออกกลาง
ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะมีธุรกรรมเงินหยวนที่โตเร็วและคึกคักมากกว่าในตะวันออกกลางที่รัฐบาลยังตรึงค่าเงินแน่นกับดอลลาร์
และในฐานะที่ตะวันออกกลางทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าของเส้นทางสายไหมของทั้ง3ทวีปทั้งเอเชีย
ยุโรป และแอฟริกา
ก็ย่อมทำให้เงินหยวนมีการเข้าสู่ตะวันออกกลางในลักษณะโดยตรงจากจีน
และอาจวกกลับมาทางอ้อมจากในแอฟริกาและพื้นที่โดยรอบในลักษณะที่เป็นน้ำวนได้
ก่อเกิดเป็นการผนวกเครือข่ายเส้นทางสายไหมอันใหญ่โตผ่านเงินหยวนที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อใดที่เงินหยวนจับจองพื้นที่ในโลกมุสลิมได้อย่างมั่นคงและกว้างขวางพร้อมๆกับการพัฒนาตลาดทุนและระบบการเงินภายในที่เข้ารูปเข้ารอย
วันแห่งหายนะที่อาหรับจะเลิกตรึงค่าเงินดอลลาร์คงมาถึงในเร็ววัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1548 ครั้ง