รูปภาพ : นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน ที่มา : Bloomberg
จีนเตรียมเพิ่มสกุลเงินของประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเข้าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อันเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเดินตามเพื่อกระจายการถือครองทุนสำรองมูลค่ากว่า 8.7 ล้านล้านดอลลาร์
“เราสามารถกระจายทุนสำรองได้มากขึ้น โดยจะพิจารณาไม่ใช่เฉพาะประเทศที่เล็กกว่าเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจบางประเทศด้วย” นายโจว เสี่ยวชวน (Zhou Xiaochuan) ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนกล่าวระหว่างการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟในกรุงวอชิงตันดีซีในวันนี้ (11 ตุลาคม 2010) ด้วยสินทรัพย์ที่มากขึ้น “คุณสามารถโยกเงินบางส่วนไปยังเครื่องมือที่เสี่ยงกว่าเดิมแต่มีผลตอบแทนสูงขึ้นได้ด้วย” นายโจวกล่าว
จีนเพิ่มการถือครองพันธบัตรเกาหลีเกือบ 3 เท่าตัวมาอยู่ที่ 5.15 ล้านล้านวอน (หรือราว 4,600 ล้านดอลลาร์) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการการเงินแห่งเกาหลีใต้ ขณะที่นายฮูลิโอ เบลาร์ด (Julio Velarde) ประธานธนาคารกลางของเปรูกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่ธนาคารกลางหลายแห่งไล่ซื้อพันธบัตรที่ออกเป็นสกุลเงินซอล สกุลเงินของเปรู
ความต้องการในการกระจายทุนสำรองไปสู่สกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาในหมู่ผู้ดำเนินนโยบายเกิดขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดอาการเซหนักจากปัญหาการว่างงานและยุโรปเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ในเดือนนี้ว่า เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัว 6.4% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วซึ่งจะเติบโตในระดับ 2.2% ในปีหน้า
ความผันผวนที่สูงขึ้น
“ทางการจีนคือหนึ่งในผู้ที่ชาญฉลาดที่สุดในโลก” นายเคนเน็ธ แอตคินทิว (Kenneth Atkintewe) ผู้จัดการกองทุนในสิงคโปร์จากบลจ. อะเบอร์ดีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่า 261,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก “หากคุณดูที่ปัจจัยพื้นฐานของประเทศเกิดใหม่หลายๆประเทศ ประเทศเหล่านี้ดูดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด ใครต้องการถือดอลลาร์ในเวลานี้?”
เงินสกุลต่างๆของประเทศเกิดใหม่วิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเงินรูปีของอินเดียแข็งค่าขึ้น 4.7%, เงินเรียลของบราซิลพุ่งขึ้น 3.3%, เงินหยวนจีนสูงขึ้น 1.7%, เงินวอนเกาหลีใต้แข็งขึ้น 4.2% และเงินเปโซของเม็กซิโกไต่ขึ้น 4.8%
การเคลื่อนตัวในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดความผันผวนสูงขึ้นในเงินตราสกุลต่างในประเทศเกิดใหม่เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายตั้งแต่บราซิลไปจนถึงเกาหลีใต้ต่างต้องการที่จะสะกัดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศและหยุดการแข็งค่าของค่าเงินแต่ละประเทศ นายอาร์มินิโอ้ ฟราก้า อดีตประธานธนาคารกลางบราซิลกล่าวกับบลูมเบิร์ก
“มันดูเหมือนว่าจะเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติ” นายฟราก้าซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบีเอ็มแอนด์เอฟ โบเวสป้า เอสเอ (BM&F Bovespa SA) ในเมืองเซาเปาโล ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดหลักทรัพย์ของบราซิลกล่าว “นับวันจะยิ่งเห็นความสำคัญที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพของโอกาสในการลงทุนในประเทศเกิดใหม่และผมเชื่อว่า ธนาคารกลางต่างๆก็เห็นตรงนั้นด้วย”
ทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนซึ่งมากที่สุดในโลกเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่เกือบ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน เนื่องจากธนาคารกลางจีนไล่ซื้อดอลลาร์เพื่อรั้งไม่ให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ปัจจุบันจีนคือผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่ากว่า 846,700 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม นอกจากนั้นจีนยังได้ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ชื่อ China Investment Corp หรือ CIC เพื่อช่วยกระจายทุนสำรองให้สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ขณะนี้เม็กซิโกกำลังเห็นถึง ความสนใจที่ “คึกคัก” จากนักลงทุนจีนในพันธบัตรรัฐบาลเม็กซิโกที่ออกเป็นเงินเปโซ นายอ็อกตาวิโอ้ ลาร่า รองผู้อำนวยการฝ่ายการออกตราสารหนี้ของกระทรวงการคลังเม็กซิโกกล่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากต่างเผชิญกับวิกฤตการณ์ค่าเงิน เม็กซิโกได้ลดค่าเงินในปี 1994 ส่งผลให้ค่าเงินเปโซร่วงลงกว่า 55% ในปีนั้น ขณะที่ในช่วงวิกฤตการเงินในเอเชียระหว่างปี 1997-1998 ชาวเกาหลีใต้ต้องต่อแถวยาวเพื่อบริจาคเครื่องประดับเพื่อช่วยให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้สร้างทุนสำรองดอลลาร์ขึ้นมาและหยุดยั้งการทะลักออกของเงินทุนต่างประเทศ
ผู้นำการแข็งค่า
ตอนนี้ บรรดาสกุลเงินของประเทศเกิดใหม่กลายเป็นผู้นำการแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ตัดลดภาระหนี้ต่างประเทศลงเหลือ 26% ของจีดีพีจากระดับกว่า 41% ของจีดีพีในปี 1999 ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟระบุ เงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้นกว่า 61% นับแต่มกราคม 2001 ขณะที่เงินเปโซวิ่งขึ้นกว่า 31% และเงินบาทของไทยก็พุ่งขึ้นกว่า 30% การแข็งค่าขึ้นเหล่านี้เทียบกับการแข็งค่าขึ้นเพียง 3.5% ของเงินยูโรเมื่อเทียนบกับดอลลาร์
ทุนสำรองต่างประเทศทั่วโลกพุ่งขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2005 จากข้อมูลของบลูมเบิร์กและไอเอ็มเอฟ ประเทศกำลังพัฒนาเป็นเจ้าของทุนสำรองกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้
การกระจายทุนสำรองสอดคล้องกับพัฒนาการในลักษณะ “หลากขั้ว” มากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก นายโจวกล่าว เนื่องจากทุนสำรองเพิ่มสูงขึ้น “คุณไม่จำเป็นต้องเก็บทุนสำรองจำนวนมาก” ไว้ใน “สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก” นายโจวกล่าว
เงินตราสกุลอื่นๆนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ เยน และฟรังก์สวิส มีส่วนแบ่งในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน เป็นส่วนแบ่งที่สูงที่สุดนับแต่ไอเอ็มเอฟเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1999
ส่วนแบ่งดอลลาร์
ส่วนแบ่งของเงินดอลลาร์ในทุนสำรองทั้งโลกลดลงมาอยู่ที่ 62% ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 73% ในปี 2001 จากข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ส่วนแบ่งของเงินยูโรในทุนสำรองซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากดอลลาร์ร่วงมาอยู่ที่ 26.5% ในเดือนมิถุนายนปีนี้ เทียบกับสถิติที่ 28% ในเดือนกันยายน 2009 เนื่องจากกรีซต้องขอรับความช่วยเหลือกว่า 110,000 ล้านยูโร (ประมาณ 153,000 ล้านดอลลาร์) เพื่ออุดหนุนงบประมาณที่ขาดดุลมโหฬารซึ่งมีสัดส่วนการขาดดุลกว่า 14% ของจีดีพีกรีซ
“เงินตราสกุลหลักต้องเป็นเครื่องกักเก็บมูลค่าที่ดี ต้องเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดี ต้องมีความต้องการที่สูง ต้องมีปริมาณหมุนเวียนที่สูง ฯลฯ” นายดิว่า กูอินอิกุนโด้ (Diwa Guinigundo) รองผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์กล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว “เงินหยวนของจีนและเงินรูเบิ้ลของรัสเซีย และมันก็จะเป็นแค่เรื่องของเวลาเท่านั้นก่อนที่เงินทั้ง 2 สกุลนี้จะมีคุณสมบัติเป็นเงินตราสกุลหลักของโลก”
นอกจากนั้นจีนกำลังเคลื่อนไหวที่จะดันเงินหยวนให้มีบทยาทในภาคการค้าระหว่างประเทศและตลาดการเงินด้วย ธนาคารกลางจีนกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ทางการจีนจะอนุญาตให้บริษัทต่างสามารถชำระค่าสินค้าผ่านแดนเป็นเงินหยวนได้มากขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ และจะส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนในต่างแดนให้มากขึ้น ขณะที่นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ทางธปท.มีแผนที่ซื้อพันธบัตรเงินหยวนในอนาคต
“สิ่งที่เราจะเห็นในอนาคตเป็นไปได้ว่า จะมีเงินตราสกุลอื่นๆอยู่ในทุนสำรองมากขึ้นๆ” นายเบลาร์ด ประธานธนาคารกลางเปรูกล่าว “การกระจายทุนสำรองดูสมเหตุสมผลในทุกๆแง่มุม”
ที่มา Bloomberg
http://noir.bloomberg.com/apps/news?pid=20601080&sid=anSqKJYcTZ14
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1359 ครั้ง