รูปภาพ : นายอาฟัก ข่าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ซาดิก
ที่มา : www.standardchartered.com
ธนาคารกลาง UAE เตรียมออกบัตรเงินฝากอิสลามหรือ Islamic CD (Islamic Certificates of Deposit) ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยให้ธนาคารอิสลามภายในประเทศมีเครื่องมือในการบริหารเงินสดในมือ จากการเปิดเผยของนายธนาคารอาุวโสจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ซาดิก (Standard Chartered Saadiq)
นายอาฟัก ข่าน (Afaq Khan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารอิสลามสังกัดต่ายสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แห่งนี้กล่าวว่า การทำธุรกรรมทดสอบจะเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
“มันจะเป็นเครื่องมือในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงินอิสลาม (Islamic Money Market)” นายข่านให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2010 ระหว่างเข้าร่วมการประชุมการเงินอิสลามที่กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของ UAE
การขาดเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องถูกมองว่าเป็น 1 ในอุสรรคสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเงินอิสลามที่เพิ่งเกิดขึ้นมานี้ ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีสินทรัพย์อยู่ในระบบกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก
การออกบัตรเงินฝากอิสลามนี้จะช่วยให้การบริหารสภาพคล่องของธนาคารอิสลามใน UAE มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารอิสลามเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารกลางได้ เนื่องจากการประมูลบัตรเงินฝากแบบปกติ (ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยด้วย) จากธนาคารกลางจะขัดกับหลักอิสลามทันที
ปัจจุบันสินทรัพย์ในธนาคารอิสลามคิดเป็น 16% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดในระบบธนาคารของ UAE เทียบกับเพียง 5% สำหรับระบบธนาคารในปากีสถานซึ่งได้ริเริ่มระบบการบริหารเงินระยะสั้นหรือ Islamic Treasury ที่ชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่นมาแล้วระยะหนึ่งก่อนประเทศ UAE อีก นายข่านระบุ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ซาดิกเป็น 1 ในธนาคารทั้งหลายที่ร่วมกันเป็นคณะกรรมการด้านการบริหารสภาพคล่องซึ่งจัดตั้งโดยธนาคารกลาง UAE ในปีนี้ นอกจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้กำลังมองไปถึงการจัดตั้งตลาดซื้อคืนพันธบัตรแบบอิสลาม (Islamic Repurchase Facility) อีกด้วย
สำหรับบัตรเงินฝากอิสลามนี้จะตั้งอยู้่บนพื้นฐานของสัญญามูราบาฮาซึ่งอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Murbaha Facility) ซึ่งบัตรเงินฝากอิสลามนี้จะมีการนำออกมาประมูลในแต่ละวัน
ภายใต้หลักการของสัญญามูราบาฮานี้ ธนาคารอิสลามจะทำกำไรจากส่วนต่างจากการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ยกเว้นก็แต่ทองคำและเงินเท่านั้น วิธีการนี้จะช่วยให้ธนาคารอิสลามหลีกเลี่ยงการจ่ายดอกเบี้ยซึ่งผิดหลักศาสนาได้
ในเบื้องต้น บัตรเงินฝากอิสลามนี้จะสงวนไว้สำหรับสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารอิสลามเต็มรูปแบบเท่านั้น และจากนั้นจึงค่อยขยายไปสู่หน่วยธุรกิจธนาคารอิสลามซึ่งมีบริษัทแม่เป็นธนาคารพาณิชย์อีกที
ที่มา Reuters
http://www.reuters.com/article/idUSLDE69A05E20101011
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1711 ครั้ง