ทุนเกาหลีผงาดในตะวันออกกลาง
ประเทศเกาหลีใต้ถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองประเทศหนึ่งทั้งในเอเชียและโลก
ทั้งๆที่หลังสงครามเกาหลีแล้ว
ประเทศนี้มีฐานะที่ยากจนกว่าประเทศไทยมาก
สภาพอาจจะดูแย่กว่าญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่2ด้วยซ้ำ
อีกทั้งต้องอยู่ภายใต้การปกครองระบบเผด็จการทหารภายใต้การนำของนายพลปัก
จุง ฮี ที่มีรัฐบาลสหรัฐฯให้การหนุนหลังอยู่
ประเทศก็มีนักการเมืองคอร์รัปชั่นไม่ใช่น้อย
แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการรวดเร็ว
และเกาหลีใต้มีการวางตำแหน่งและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องและเหมาะสมไม่ว่าจะช่วงก่อนหรือหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย1997-1998ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกจับตามองเกาหลีใต้ในฐานะเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ที่งานนี้ดูเหมือนว่า
จะไม่ใช่เสือกระดาษเหมือนแต่ก่อน
แต่เป็นเสือที่เมีขี้ยวเล็บและพิษสงอย่างแท้จริง
มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงในหลายๆด้านทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์
อุตสาหกรรมต่อเรือ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไอที
ภาคการเงิน
อุตสาหกรรมพลังงานโดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์
อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง
และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่และสินค้าทุน
ทุกวันนี้เกาหลีใต้ต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นมากจากประเทศเพื่อนบ้านที่ล้วนแล้วมีความแข็งแกร่งและศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง
แม้เกาหลีใต้จะกวดญี่ปุ่นมาติดๆในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
และเริ่มตีญี่ปุ่นได้ในตลาดรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
แต่ญี่ปุ่นเองก็มีเครือข่ายในระบบเศรษฐกิจโลกที่ใหญ่โตและกว้างขวางกว่าเกาหลีใต้มาก
และญี่ปุ่นเองก็ตระหนักดีว่าต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อต่อกรกับ
“พยัคฆ์ติดปีก”
ในระบบเศรษฐกิจโลกตัวนี้อย่างเข้มข้น
ขณะเดียวกันการเติบโตขึ้นของจีนเองก็สร้างแรงกดดันมหาศาลในการแข่งกับพญามังกรในด้านของอุตสาหกรรมหนักต่างๆที่จีนมีทั้งแรงงานราคาถูก
เทคโนโลยี และการสนับสนุนที่เหนียวแน่นจากรัฐบาล
และดูเหมือนว่าทั้ง3ประเทศที่นอกจากจะเป็นทั้งเพื่อนบ้านและคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักแล้ว
ดูจะมีใจตรงกันด้วย
เมื่อกระแสลมแห่งเศรษฐกิจโลกได้พัดทั้ง3ประเทศมาเผชิญหน้ากันในดินแดนที่กำลังกลายเป็นเหมืองทองแห่งใหม่ของนายทุนจำนวนมากที่ต่างพากันมาจับจองพื้นที่และพากันมาขุดทองอย่างไม่ขาดสาย
และแหล่งทองขนาดมหึมานั้นก็คือที่
ตะวันออกกลาง นั่นเอง
ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากหอการค้าดูไบระบุว่า
ตลาดการก่อสร้างในตะวันออกกลางมีมูลค่ากว่า1.3ล้านล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันหลายๆประเทศในกลุ่มGCCก็มีแผนการลงทุนขนาดมหึมารออยู่ในช่วง10ปีข้างหน้านี้
โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า1.44ล้านล้านริยัลหรือกว่า385,000ล้านดอลลาร์เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม2010ออกมา
โดยแผนนี้กินเวลา 5ปีจากปี2010-2014นอกจากนั้นแล้วกลุ่มGCCเองก็มีแผนการพัฒนาระบบรางร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคเข้าด้วยกันมูลค่ากว่า120,000ล้านดอลลารด้วย
และนโยบายการลงทุนอีกด้านที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในวงการธุรกิจและความมั่นคงก็คือ
การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ซึ่งแต่ละประเทศมีการคาดการณ์ถึงความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นในช่วง20-30ปีข้างหน้า
ทำให้การพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งทั้งถูก
มั่นคง
และไม่สร้างมลภาวะทางอากาศดูจะเป็นที่ต้องการมากในภูมิภาคนี้
ทั้งเกาหลีใต้และเพื่อนบ้านอย่างจีนและญี่ปุ่นนั้นต่างก็มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศกลุ่มGCCด้วยกันทั้งสิ้นในฐานะคู่ค้ารายใหญ่
กลุ่ม GCCนั้นมีตลาดส่งออกน้ำมันรายใหญ่ๆ4รายซึ่งหนึ่งในนั้นก็ย่อมเป็นสหรัฐฯ
แต่อีก 3รายที่เหลือก็คือ3ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกที่กล่าวมาแล้ว
โดยจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด
รองลงมาก็คือ ญี่ปุ่น และ
เกาหลีใต้ตามลำดับ
นอกจากนั้นแล้วทั้ง 3ประเทศยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆรายใหญ่ไปยังตะวันออกกลางด้วย
ดังนั้นโดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว
ตะวันออกกลางและ 3ชาติในเอเชียต่างมีความจำเป็นและขาดไม่ได้จากกันและกัน
แต่ปัญหาที่เหลืออยู่ก็คือ
ใครจะเป็นผู้ชนะในสนามทางเศรษฐกิจในดินแดนเสี้ยวพระจันทร์แห่งนี้
และดูเหมือนว่าทั้งฟ้าและฝีมือมนุษย์จะเป็นใจให้เกาหลีใต้ไม่ใช่น้อย
ประเทศเกาหลีใต้ได้สร้างความฮือฮาหรืออาจเรียกว่า
“ช็อค” น่าจะดูเหมาะกว่า
เพราะกลุ่มทุนพันธมิตรเกาหลีใต้นำโดยบริษัทKorea
Electric Power หรือKEPCOบริษัทผู้ผลิตและลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้กลับกลายเป็นผู้ชนะการประมูลสัญญาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอาบูดาบีมูลค่า20,000ล้านดอลลาร์ไปได้
ตอกหน้าประเทศแชมป์โลกด้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศสที่ส่งบริษัทArevaผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดของโลกที่จับมือกับทุนพลังงานฝรั่งเศสอย่างTotalและGDF
Suez รวมถึงได้เหยียบหน้าพันธมิตรญี่ปุ่น–อเมริกาอย่างGE-Hitachiในช่วงปลายปี2009ที่ผ่านมา
โดยมูลค่าโครงการที่ประมูลได้ในตะวันออกกลางในปีที่แล้วของเกาหลีใต้มีสูงถึง36,000ล้านดอลลาร์
ทั้งนั้นหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ได้อ้างแหล่งระดับจากรัฐบาลโซลระบุว่า
ชัยชนะครั้งนี้อาจนำไปสู่การประมูลงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในภูมิภาคมูลค่าสูงถึง400,000ล้านดอลลาร์ในช่วง20ปีข้างหน้าได้
และล่าสุดในปีนี้ดูจะเป็นปีทองของเกาหลีใต้อย่างแท้จริง
เพราะแค่ช่วง 9เดือนแรกของปีนี้
บริษัทเกาหลีใต้ชนะสัญยางานในต่างประเทศมูลค่ากว่า50,700ล้านดอลลาร์แล้ว
และคาดว่าจะทะลุ 60,000ล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน
โดยที่น่าสนใจก็คือกว่า72%ของงานที่ประมูลได้ล้วนมาจากตะวันออกกลาง
ทั้งนี้มีความเห็นที่น่าสนใจจากนักวิเคราะห์ในดูไบอย่างนายธีโอดอร์
คาราซิก
ที่ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเกี่ยวกับการผงาดของเกาหลีในตะวันออกลางว่า
เป็นเพราะตะวันออกกลางชื่นชมประสิทธิภาพของเกาหลีใต้พร้อมกันนั้นยังอยู่ในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย
และตรงนี้เองที่พลวัตเศรษฐกิจโลกมีผลอย่างยิ่งต่อศักยภาพของญี่ปุ่นที่กำลังเสียเปรียบเกาหลี
เพราะค่าเงินเยนนั้นยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง
ขณะที่เงินวอนเองยังแข็งค่าน้อยกว่ามาก
ทำให้ผู้ประมูลงานเกาหลีใต้กำชัยเหนือกลุ่มทุนญี่ปุ่นรวมถึงยุโรปด้วย
ขณะเดียวกันการที่กลุ่มทุนเกาหลีใต้มีชัยชนะเหนือจีนไม่ว่าจะเป็นการขนส่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
อุตสาหกรรมพลังงานทั้งนิวเคลียร์และพลังงานทางเลือกทั้งๆที่จีนก็มีฐานด้านนี้ดีและได้รับการสนับสนุนอย่างมาจากภาครัฐ
อีกทั้งค่าเงินหยวนยังไม่แข็งค่ามาก
ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเกาหลีใต้ที่สูงมากทั้งในด้านเทคโนโลยี
การจัดการ ต้นทุน และนโยบายภาครัฐด้วย
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการที่เกาหลีใต้ทำได้ดีกว่าคู่แข่งก็คือ
ขณะที่จีนประมูลงานทั่วโลกจำนวนมากมายนั้น
กลับพบว่าจีนเองก็มีการขนคนของตัวเองเข้าไปทำงานในโครงการต่างประเทศด้วย
ต่างจากเกาหลีใต้ซึ่งในตะวันออกกลางนั้นปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะในวัยรุ่นมีสูงมาก
อีกทั้งอัตราการเติบโตของประชากรก็สูงด้วย
ทำให้รัฐบาลค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องการว่างงานมาก
แต่เกาหลีใต้นั้นก็ตอบโจทย์ตรงนี้ด้วยการจ้างคนงานในท้องถิ่นเป็นหลัก
ซึ่งจุดนี้ย่อมทำให้ประเทศเจ้าของโครงการรู้สึกว่าได้ประโยชน์จริงๆจากการให้งานแก่ทุนเกาหลีใต้ไปทำด้วย
นอกจากนั้นแล้วกลุ่มทุนเกาหลีใต้ยังทำงานใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นในด้านการถ่อายทอดเทคโนโลยีและทักษะต่างๆ
และมีการร่วมลงทุนในด้านการศึกษาอย่างมากในภูมิภาคนี้ด้วย
ซึ่งก็เป็นการตอบโจทย์ในทางนโยบายในภูมิภาคอีกเช่นกัน
ซึ่งในกลุ่ม GCCนั้นแม้จะมีเงินทุนมากมายบแต่คุณภาพการศึกษาและทักษะของคนในประเทศยังด้อยอยู่มาก
ทำให้ต้องมีการรื้อระบบการศึกษาและทำการลงทุนครั้งใหญ่
โดยมีการดึงสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยจากต่างประเทศมาเปิดสาขาในภูมิภาคมากมาย
กำลังคนที่มีคุณภาพ
มีทักษะการทำงานและด้านภาษา
ย่อมตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในภาคการค้า
บริการ การเงิน อุตสาหกรรม
และเทคโนโลยีในอนาคตด้วย
ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า
การที่เกาหลีใต้สามารถผงาดขึ้นมาอย่างสง่างามและแข็งแกร่งในภูมิภาคตะวันออกกลางได้นั้น
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ภูมิภาคนี้ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ที่สูงโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
ยังต้องอาศัยความมุมานะและทะเยอทะยานจากการที่ต้องโดนบีบหนักจากคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น
จีน และตะวันตก
การที่ทำการศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจในตลาดอย่างลึกซึ้งและตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกๆด้านและทุกภาคส่วน
รวมถึงประสิทธิภาพที่ครบวงจรในด้านต่างๆ
ความเป็นเลิศในด้านองค์ควาามรู้และเทคโนโลยี
การส่งเสริมและความร่วมมือที่แนบแน่นจากภาครัฐ
และโชคเล็กๆน้อยๆจากแรงเหวี่ยงในกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงินในตอนนี้
ที่ดูเหมือนจะเลือกผู้ชนะไว้ในใจแล้ว