ในหลวง”ทรงห่วงปัญหาน้ำท่วมรพ.มหาราช จ.นครราชสีมา ผอ. เผย ออกซิเจนจะหมดภายใน 3 วันประวิตร”สั่งระดมกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือน้ำท่วม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมหนักอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เตรียมจะลงพื้นที่น้ำท่วมช่วงบ่ายวันนี้(19ต.ค.) เพื่อสำรวจความเสียหาย และนำความขึ้นกราบบังคมทูล
พญ.สุวรรณี ตั้งวีระพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา บอกกับรายการ”เช้าข่าวข้น”ว่า ออกซิเจนจะหมดภายใน 3 วันนี้ เตรียมแผนย้ายคนไข้ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ และขณะนี้อยากจะขอรับบริจาคเงินสดเพื่อนำมาซ่อมแซมความเสียหาย
ทั้งนี้ น้ำจากลำตะคองทะลักเข้าท่วมสูงจนถึงชั้น 1 โรงพยาบาล ทั้งห้องโอพีดีสำหรับตรวจรักษาคนไข้นอก โรงอาหาร โรงซักฟอก ศูนย์มะเร็ง ห้องดับจิต ถูกท่วมทั้งหมด ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่มีอาหารเเละน้ำดื่ม ประกอบกับภายในโรงพยาบาลระดับน้ำท่วมสูง รถขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าได้ ต้องใช้เรือเท่านั้น เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกำลังลำเลียงผู้ป่วย และญาติหลายร้อยคน รวมทั้งคณะแพทย์พยาบาล ออกไปส่งที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา เป็นการเบื้องต้น และได้ประกาศขอความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญที่อยู่บริเวณภายนอกช่วยกันบริจาคน้ำดื่มและข้าวกล่องให้แก่ผู้ที่ติดอยู่ภายในประมาณ 6,000 คน เป็นการเร่งด่วน
นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ติดอยู่ในบ้านเรือน เช่น บ้านกุดสวาย ต.พลับพลา อ.โชคชัย และอีกหลายหมู่บ้านของ อ.ปักธงชัย ได้ร้องขอผ่านสื่อมวลชนให้ทางราชการนำเรือท้องแบนและเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากหลายครอบครัวติดอยู่ตั้งแต่กลางดึกวันที่ 16 ตุลาคม เเละยังไม่ได้รับประทานอาหารเลย
ส่วนจ.นครสวรรค์ น้ำป่าไหลหลากท่วมถนนหลายสายในพื้นที่ อ.ไพศาลี อ.ตากฟ้า อ.ท่าตะโก และ อ.หนองบัว โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 11 (อินทร์บุรี-พิจิตร) น้ำกัดเซาะคอสะพานช่วง กม.69+630 ขาด การจราจรไม่สามารถผ่านไปได้ ผู้ที่จะเดินทางไป จ.พิจิตร ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นอื่นแทน นอกจากนี้น้ำยังไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรเขตเทศบาลตำบลหนองบัวและพื้นที่หลายตำบลของ อ.หนองบัว ส่วนที่ อ.ชุมแสง มีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มริมแม่น้ำน่าน โดยเฉพาะโรงเรียนวัดเกยไชยเหนือ มีน้ำท่วมขัง สูง 50 เซนติเมตร
ส่วนที่ อ.ท่าตะโก มีน้ำป่าไหลหลากจาก จ.เพชรบูรณ์ เข้าท่วมตลาด อ.ท่าตะโก ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร และบนถนนนครสวรรค์-ท่าตะโก ถูกน้ำท่วมถนนเป็นทางยาวกว่าสิบกิโลเมตร รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ขณะที่กำแพงกองบินที่ 4 ใน อ.ตาคลี ถูกกระแสน้ำป่าพัดจนพังลง ก่อนไหลเข้าท่วมถนนบริเวณหน้ากองบิน และบ้านเรือนที่อยู่สองฟากถนน ระดับน้ำสูงเกือบ 1 เมตร
ส่วนภาคกลางที่ จ.ลพบุรี น้ำยังคงท่วมถนนตั้งแต่ด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหารราช ถูกน้ำท่วมสูงยาวกว่า 5 กิโลเมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
นายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม นายอำเภอบ้านหมี่ กล่าวว่า วันนี้เข้าสู่วันที่สามแล้วที่น้ำท่วม จ.ลพบุรี และระดับน้ำก็ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน อ.บ้านหมี่ กับ อ.โคกสำโรง หลายจุดมีท่วมขังสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือน ใน ต.ดงพลับ ต้องใช้เรือในการสัญจร ขณะที่ ต.หนองเมือง ต.พุคา ต.บางกะพี้ ก็ถูกน้ำจากคลองชลประทานล้นท่วมบ้านเรือนชาวบ้านและพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่ และต้องระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เนื่องจากระดับน้ำท่วมกว่า 2 เมตร
ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม ตำรวจ สภ.ลำสนธิ ได้รับแจ้งจาก อปพร.และเจ้าหน้าที่กู้ภัยว่าพบรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ทะเบียน กข 4696 นครนายก ที่ถูกน้ำป่าพัดสูญหายไปตั้งแต่เย็นวันที่ 16 ตุลาคม แล้วที่บริเวณหมู่ 11 ต.หนองรี จึงนำกำลังไปตรวจสอบ พบศพนายพร้อม กุศลส่ง อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 84/1 หมู่ 9 ต.บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก นางดวงกมล มานินัน อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/501 แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพฯ และสุนัขพันธุ์พุดเดิลอยู่ในรถ เจ้าหน้าที่มูลนิธิจึงนำศพส่งตรวจชันสูตรที่โรงพยาบาลลำสนธิ
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.นครสวรรค์ ประกาศพื้นที่เสียหาย 15 อำเภอ ได้แก่ อ.ลาดยาว อ.บรรพตพิสัย อ.ชุมตาบง อ.ตากฟ้า อ.แม่เปิน อ.แม่วงก์ อ.ชุมแสง อ.โกรกพระ อ.หนองบัว อ.เมือง อ.เก้าเลี้ยว อ.พยุหะคีรี อ.ท่าตะโก อ.ตาคลี และ อ.ไพศาลี รวม 88 ตำบล 654 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 27,330 ครัวเรือน 68,104 คน
ขณะที่พื้นที่การเกษตรเสียหาย 82,220 ไร่ ถนน 167 สายถูกตัดขาด รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ในส่วนของการช่วยเหลือ ได้แจกถุงยังชีพไปแล้ว 17,760 ชุด ยารักษาโรค 3,252 ชุด น้ำดื่ม 33,738 ขวด เรือท้องแบน/เรือพาย 12 ลำ เครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่อง
ต่อลงมาที่ จ.สุพรรณบุรี น้ำในแม่น้ำท่าจีนยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำในเขต อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง
ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้รับรายงานในพื้นที่ จ.นครราชสีมาและ จ.ปราจีนบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากอุทกภัย รวมทั้งพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากน้ำป่าไหลลงทุกพื้นที่โดยรอบ อย่างไรก็ตามได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตลอดสัปดาห์นี้ เนื่องจากจะมีพายุลูกใหม่เข้ามา และกำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประเมินสถานการณ์ปัญหาน้ำเหนือไหลบ่า น้ำทะเลหนุนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำด้วย
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องติดตามเฝ้าระวังสภาวะน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอีก 4-5 วันนี้จะมีพายุเมกีพัดเข้าประเทศฟิลิปปินส์ ก็จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดต่างๆ ทางภาคอีสาน ภาคตะวันออก หรือภาคกลางของไทยด้วย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นๆ เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และจะให้ประชาชนปฏิบัติตามที่ได้มีการซักซ้อมกันไว้ ส่วนที่มีข่าวในช่วงวันที่ 23-26 ตุลาคม จะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอาจจะทำให้ไปรวมกับน้ำที่ไหลหลากลงมา และไหลเข้า กทม.จนน้ำท่วมนั้น ขณะนี้เตรียมพร้อมไว้แล้ว คิดว่าน้ำเหนือที่ไหลลงมานั้นจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม กทม.
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนงบประมาณนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจที่จะใช้เงินทดรองราชการในเรื่องการช่วยเหลือภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง จังหวัดละ 50 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามระเบียบ บางจังหวัดที่เกิดภัย งบไม่พอก็ขอขยายวงเงินได้ที่ส่วนกลาง คิดว่าจังหวัดที่งบไม่เพียงพอคือจังหวัดที่ประสบภัยใหญ่ๆ เรื่องนี้คงต้องมีการติดตามสถานการณ์ และขณะนี้หลายจังหวัดก็ยังไม่มีการรายงานเข้ามา เพราะมีส่วนที่ต้องสำรวจหลังน้ำลดด้วย
นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก จัดตั้งศูนย์รับแจ้งความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ที่มีปัญหาถนนขาดไม่สามารถสัญจรได้ และเปิดเลขหมาย 1356 ให้ประชาชนโทรแจ้งเหตุความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณกลางกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อซ่อมบำรุงพื้นที่เสียหายให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
ส่วนการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ที่มีผลกระทบต่อเส้นทางที่น้ำท่วมนั้น ขณะนี้การเดินรถไฟสายเหนือและสายอีสานบางขบวนสามารถให้บริการได้ตามปกติแล้ว และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ม.ร.ว.สุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด กทม.รู้สึกเป็นห่วง จึงมอบให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) เปิดศูนย์รับบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผู้สนใจสามารถบริจาคได้ที่ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) และที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือที่ไหลผ่านเข้ามาในพื้นที่ กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำเฝ้าระวังพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่เสี่ยง 13 เขตที่อยู่ริมแม่น้ำมีกระสอบทรายเตรียมพร้อม 4 ล้านใบ ที่น่าเป็นห่วงคือชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเจ้าพระยา 27 ชุมชน กว่า 1,300 หลังคาเรือน
นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวว่า กทม.เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลากเข้า กทม.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่าปริมาณน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันนี้มีการระบายน้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา 1,096 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีการระบายน้ำที่ 2 , 217 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมจะมีปริมาณน้ำเหนือไหลหลากเข้า กทม. 3,313 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน หรือประมาณช่วงบ่ายของวันที่ 20 ตุลาคม น้ำจึงมาถึงพื้นที่ กทม. จึงให้สำนักงานเขต 13 เขต ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีสถานีสูบน้ำ 157 แห่ง และประตูระบายน้ำอีก 214 แห่ง เตรียมความพร้อม คาดว่าจะสามารถรับมือได้
ทางด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังจากเดินทางร่วมกับนายอภิสิทธิ์ ไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.นครราชสีมา ว่า นายกฯ ได้ขอความร่วมมือสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และช่อง 11 รวมทั้งสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ และอสมท ให้ช่วยรายงานเส้นทางจราจร สภาพอากาศให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งตนได้ประสานไปแล้ว โดยนายกฯ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารตามช่องทางข้างต้น นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประสานไปยังบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ได้รับทราบข่าวสารต่างๆ
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า วาระการประชุมครม.วันที่ 19 ตุลาคมนี้ นายอภิสิทธิ์จะเสนอวาระให้ยกเว้นระเบียบของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชนแบบเร่งด่วน ส่วนงบทดรองจ่ายของจังหวัดต่างๆ นั้นจะเพิ่มจาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ส่วนจะเพิ่มงบได้อีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม. ทั้งนี้นายกฯ จะหารือกับครม.ในการประสานหาหน่วยงานกลางเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นระบบ เพราะตอนนี้หน่วยงานต่างๆ ระดมกำลังเข้าพื้นที่จนทำให้การทำงานมีความยากลำบาก
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม. ถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมในหลายจังหวัด ว่า กระทรวงกลาโหมไม่ได้ของบประมาณเพิ่ม เพราะมีงบเร่งด่วนในการดำเนินการอยู่แล้ว ตนได้สั่งการไปทั้งหมดแล้ว โดยให้กองบัญชาการทหารสูงสุด เหล่าทัพทุกเหล่าทัพ รวมถึงหน่วยทหารพัฒนาที่ลงไปสำรวจว่าจะระบายน้ำได้อย่างไรบ้าง ส่วนกองทัพภาคที่ 2 นำกำลังและยุทโธปกรณ์ทั้งหมดลงไปช่วยเหลือ หากไม่เพียงพอก็จะระดมจากพื้นที่อื่นได้อีก รวมทั้งให้ใช้เฮลิคอร์ปเตอร์บินสำรวจด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าสถานการณ์จะหนักมากขนาดนี้ ซึ่งต้องขอให้ภาคเอกชนให้การสนับสนุนด้วย สำหรับการแจ้งข่าวสารกับประชาชนก็มีทั้งทีวีและวิทยุของกองทัพได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า ครม.มีแนวโน้มที่จะตั้งศูนย์เฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือหรือไม่ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องถามนายกรัฐมนตรี ท่านคงได้ดำเนินการต่อไปเพื่อช่วยเหลือ
เมื่อถามว่า สถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ภาคอีสาน กำลังทหารจะเพียงพอหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ใช้กองทัพภาคที่ 2 ทั้งหมดถ้าไม่เพียงพอเราก็สามารถระดมกำลังพล จากกองทัพภาคที่ 1 ได้แต่ในทุกพื้นที่เราก็ต้องเตรียมการในการรับน้ำ เพราะขณะนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าฝนตกหนักเป็นระยะเวลานาน