นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง ในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมาย เพื่อต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคลิปวิดิโอ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไปคุยกับเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนได้เดินทางไปพบนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการ ประธานศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง โดยเป็นการไปพบส่วนตัว ในฐานะเป็นนักเรียนสมัยที่เรียนหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้ากันมา แต่ยืนยันว่าเนื้อหาของการพูดคุย ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคเลย เนื่องจากนายพสิษฐ์ไม่ได้เป็นตุลาการ จึงไม่สามารถไปเบี่ยงเบนประเด็นการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ และไม่ขอเปิดเผยว่าไปพบกี่ครั้ง เนื่องจากดูข้อมูลของทางพรรคเพื่อไทยที่จะนำมาเปิดว่า จะมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
“ไปหลายครั้ง แต่ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะผมจะได้รู้ว่ามีครั้งไหนบ้างที่เขาแอบถ่ายไว้ มั่นใจว่าไม่ว่าจะมีคลิปอะไรออกมาอีกตนก็สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้เพราะเดินทางไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ”นายวิรัช กล่าว
นายวิรัช กล่าวต่อว่า หากการเดินทางไปพบครั้งนี้ เป็นการไปพบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ว่าไปอีกเรื่องนึง แต่นี่เป็นการไปพบเลขาฯ เรื่องส่วนตัวเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกันกับคดียุบพรรค ตนเชื่อว่าเรื่องดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ทำตั้งแต่นายทศพล เพ็งส้มไปรับเอกสารจากเจ้าหน้าที่ศาลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะจัดฉาก สร้างสถานการณ์เพื่อสร้างหลักฐาน เพราะในคลิปเห็นชัดว่า เป็นสถานที่ในห้องประชุมของศาลรัฐมธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลภายนอกจะนำอุปกรณ์บันทึกภาพเข้าไปได้
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนคนคอการเมืองคิดอย่างไรต่อ ข่าวคลิปวิดีโอเกี่ยวข้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ตัวอย่าง โดยดำเนินการวิจัยข้อมูลในช่วง 17 – 18 ตุลาคม 2553 พบว่า หลังมีข่าวคลิปวิดีโอเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนที่ถูกศึกษาเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.2 ระบุความนิยมที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์เหลือน้อยถึงไม่นิยมเลย ในขณะที่ร้อยละ 47.8 ยังคงนิยมมากถึงมากที่สุด แต่ที่น่าพิจารณาคือ ข่าวคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ในกลุ่มคนคอการเมืองที่เป็นพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 กลายเป็นกลุ่มที่มีความนิยมน้อยถึงไม่นิยมเลยต่อพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.8 ยังคงนิยมพรรคประชาธิปัตย์ระดับมากถึงมากที่สุด และในกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 นิยมพรรคประชาธิปัตย์ระดับน้อยถึงไม่นิยมเลย
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.0 คิดว่า ข่าวคลิปวิดีโอมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ ร้อยละ 46.0 ระบุไม่กระทบ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำแนกตามจุดยืนทางการเมือง พบว่า กลุ่มที่เป็นพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 และกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ระบุว่า ข่าวคลิปวิดีโอกระทบต่อความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ระบุไม่กระทบ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.7 ระบุผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ เพราะ การทำงานจะไม่ต่อเนื่อง และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เปลี่ยนนโยบายใหม่ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ และเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวาย ในขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุไม่มีผล เพราะ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน ไม่มีอะไรดีขึ้น และพรรคอื่นก็ต้องเข้ามาดำเนินการได้
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.5 มองว่า “จำเป็น” ที่กระบวนการยุติธรรมต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
นาย วรภัทร ปราณีประชาชน หนึ่งในนักศึกษาไทยประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า จากผลสำรวจจะเห็นว่า คณะบุคคลในกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะกระบวนการยุติธรรมเป็น “เสาหลัก” สำคัญประการหนึ่งของสังคมไทยที่คอยประคับประคองแก้ไขสถานการณ์ความแตกแยกของคนในสังคมเวลานี้ แต่ภายหลังมีข่าวคลิปวิดีโอเผยแพร่ออกมา ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอย่างกว้างขวาง
“ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะออกมาทำความกระจ่างให้ปรากฏเพื่อลดความเคลือบแคลงสงสัยและแรงเสียดทานจากสาธารณชน เพราะฝ่ายตุลาการเป็นที่พึ่งที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเห็นได้จากผลสำรวจที่ระบุว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมไม่มีการเลือกปฏิบัติ” นายวรภัทร กล่าว
ในขณะที่ ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า “กลุ่มพลังเงียบกำลังเปลี่ยนทิศ” จากที่เคยอยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เริ่มแสดงตนออกมาให้เห็นว่า เชื่อถือและนิยมพรรคประชาธิปัตย์และกระบวนการยุติธรรมน้อยถึงไม่มีเลย จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะ กลุ่มพลังเงียบ คือกลุ่ม “สวิง” ที่เป็นตัวแปรสำคัญว่า ถ้าเทคะแนนไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดย่อมมีผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศและต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรวดเร็วฉับไวต่อความรู้สึกของสังคม ไม่ควรดื้อดึงอีกต่อไป เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องของ “ระบบ” ไม่ใช่ “ตัวบุคคล” ที่จะนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์แห่งความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในหมู่ประชาชนไปได้ การลาออกและการชี้แจงด้วยเหตุผลตามหลักฐานความเป็นจริงที่จับต้องได้จึงเป็นอย่างน้อยสองทางเลือกที่อาจจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นศรัทธาของสาธารณชนต่อ “โครงสร้างของสังคม” และเสาหลักของประเทศต่อไป เพราะหนทางแก้ไขมีอยู่เนื่องจากกว่าร้อยละ 80 บอกว่า ให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่เลือกปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่า สาธารณชนที่ถูกศึกษายังคงเปิดพื้นที่ไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีให้กลับคืนมาได้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 62.8 เป็นเพศชาย ร้อยละ 37.2 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.9 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 14.1 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 13.0 อายุระหว่าง 30-39 ปีและร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 46.4 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 60.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 32.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 22.1 มีอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ ร้อยละ 14.5 เป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 7.6 เป็นผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 27.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 11.0 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.2 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 6.4 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1219 ครั้ง