ทำไมไทยควรเป็นพันธมิตรเกษตรโลกกับกาตาร์
โดยเบ๊นซ์
สุดตา
ณ
วันนี้มีความชัดเจนมากแล้วว่า
ปัญหาวิกฤตอาหารของโลกเริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว
หลังจากโลกเผชิญวิกฤตอาหารครั้งรุนแรงไปเมื่อช่วงปี2007-2008ที่ผ่านมาแล้วห่างหายไปพักหนึ่ง
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในปี2010ได้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตในเชิงโครงสร้างจากปัญหาต่างๆของโลกทั้งภาวะโลกร้อน
วิกฤตการเงิน
การเพิ่มสูงขึ้นของประชากรและระดับรายได้ในประเทศกำลังพัฒนา
และการปรับเปลี่ยนของนโยบายรัฐบาลในหลายๆประเทศ
ซึ่งปัจจัยในเชิงโครงสร้างเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรที่จะขับเคลื่อนพลวัตระบบเกษตรโลกในระยะยาวให้เข้าสู่ภาวะการตีบตันและความผันผวนของทั้งราคาและผลผลิตการเกษตรโลกในอนาคต
ดังนั้นวิกฤตอาหารโลกที่กลับมาในครั้งนี้จะเป็นวิกฤตที่มีความเรื้อรัง
กินลึก และเพิ่มความรุนแรงกว่าเดิมในอนาคต
ดังนั้นแล้วประเทศไทยซึ่งถือว่ามีความโชคดีในด้านปัจจัยพื้นฐานต่างๆจึงควรมีการวางกรอบทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่ต้องมีทั้งมาตรการในเชิงรับเพื่อรับมือกับปัจจัยเชิงลบต่างๆที่จะมีผลต่อภาคเกษตรไทยทั้งในแง่ของผู้ผลิตและผู้บริโภค
ในขณะเดียวกันนี่ถือเป็นโอกาสสำคัญในการที่ไทยจะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในการกำหนดทิศทางภาคการเกษตรและอาหารของโลก
ซึ่งคาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตรไทยและโลกน่าจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องไม่ลืมว่า
การที่ไทยจะออกสู่ตลาดโลกในอนาคตนั้นจะใช้รูปแบบการผลิตและการจัดการเศรษฐกิจในภาคการเกษตรแบบในปัจจุบันไม่ได้
ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาความผันผวนของค่าเงินทั่วโลกหลังจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯและยุโรปย่อมส่งผลให้ปัญหาค่าเงินบาทกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือแม้แต่ปัจจัยชี้ขาดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยในทันทีหากไทยยังคงเป็นแค่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานแบบในปัจจุบัน
แต่ไทยควรขยับตัวเองไปเป็นผู้ลงทุนในภาคการเกษตรแทนการเป็นผู้ส่งออกภาคการเกษรตร
ขณะเดียวกันประเทศไทยควรมีการปรับกระบวนทัศน์ในภาคการเกษตรครั้งใหญ่โดยการใช้เทคโนโลยีและการบริหารเครือข่ายอุปทานทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาแทนที่การพึ่งพาความเห็นใจจากธรรมชาติและตลาดโลก
ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในเร็ววัน
เพราะต้องอาศัยทรัพยากรต่างๆทั้งด้านการเงิน
บุคลากร องค์ความรู้
และเครือข่ายเข้ามาเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้
แต่ใช่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่คิดเรื่องวิกฤตอาหาร
เรื่องอาหารเป็นเรื่องปากท้องและความอยู่รอดของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์
และสมควรยิ่งที่ไทยควรจะหาพันธมิตรที่เหมาะสมในลักษณะที่ส่งเสริมผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายซึ่งกันและกัน
และเป็นพันธมิตรที่มีความยั่งยืนและโตไปด้วยกันในระยะยาว
และประเทศที่น่าสนใจและมีคุณสมบัติที่จะเดินไปกับไทยได้นั้นก็คือ
ประเทศกาตาร์ โดยประเทศกาตาร์นั้นถือเป็น1ใน6ประเทศสมาชิกกลุ่มGCCในภูมิภาคอ่าว
ถือเป็นประเทศผู้ผลิตและเจ้าของสำรองก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
แต่แม้ประเทศกาตาร์จะร่ำรวย
และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากในแต่ละปี
แต่กาตาร์ก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่สุ่มเสี่ยงมากหากเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างซาอุดิอาระเบีย
โดยประเทศกาตาร์ที่มีประชากร1.6ล้านคน
ต้องมีการนำเข้าอาหารกว่า95%ของการบริโภค
โดยในช่วงวิกฤตอาหารปี 2008การขาดดุลด้านอาหารของกาตาร์มีมูลค่าสูงถึง1,200ล้านดอลลาร์
และอาจสูงขึ้นกว่าเดิมได้ในอนาคตหากวิกฤตรุนแรงกว่าเดิม
นอกจากนั้นแล้ว
กาตาร์ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องของน้ำ
โดยประเทศกาตาร์ซึ่งต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคบริการและอุตสาหกรรมควบคู่กับภาคปิโตรเลียมนั้นกลับมีสำรองของน้ำที่ใช้ได้เพียง2วันเท่านั้น
นั่นย่อมทำให้กาตาร์มีความกังวลด้านน้ำที่สูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ประเทศกาตาร์จึงมีการตั้งคณะทำงานที่รวมศูนย์และเป็นประสานงานกับเครือข่ายต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายอาหารในระยะยาวที่ชื่อโครงการความมั่นคงอาหารแห่งชาติกาตาร์หรือQNFSP
(Qatar National Food Security Programme) โดยQNSFPเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี2008องค์กรนี้เป็นศูนย์กลางด้านนโยบาย
เครือข่าย
และทรัพยากรต่างๆที่ชัดเจนมากของประเทศกาตาร์
มีการรวบรวมเอาทรัพยากรจากภาครัฐและเอกชนทั้งในกาตาร์เองและองค์กรในต่างประเทศด้วย
นอกจากนั้นแล้วองค์กรนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ที่ชื่อQIA
(Qatar Investment Authority) ด้วย
โดยในปี 2008เช่นกันที่QIAได้ตั้งบริษัทลูกที่ลงทุนในธุรกิจการเกษตรโดยเฉพาะนั่นคือHasaad
Food โดยมีทุนเริ่มต้นกว่า1,000ล้านดอลลาร์
ขณะที่กองทุน QIAของรัฐบาลกาตาร์ที่นำเอารายได้ในรูปเปโตรดอลลาร์ลงไปทั่วโลกก็มีสินทรัพย์
ณ ปัจจุบันกว่า 70,000ล้านดอลลาร์(ข้อมูลจากMonitor
Group) ฉะนั้นHasaad
Foodจึงมีหลังอิงในด้านกระสุนทางการเงินที่ไม่จำกัดที่สามารถอัดฉีดเพิ่มเติมได้ในอนาคต
ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ
ประเทศกาตาร์ดูจะมีความชัดเจนในยุทธศาสตร์ด้านR&Dภาคการเกษตรด้วยโดยQNFSPมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและการวิจัยชั้นนำอย่างTexas
A&M University มหาวิทยาลัยของสหรัฐฯซึ่งมีสาขาในกาตาร์ด้วย
และ German
Aerospace Centre ของเยอรมัน
ซึ่งทั้ง 2สถาบันจะมีความร่วมมือด้านการวิจัยในเรื่องพลังงานทดแทนและปัญหาด้านทรัพยากรน้ำด้วย
ซึ่งการที่ไทยไปร่วมมือกับกาตาร์ผ่านโครงการนี้จะทำให้ไทยได้แลกเปลี่ยนและร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดและมีความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบัน
ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการยกระดับผลิตภาพของภาคการเกษตรไทยทั้งระบบในอนาคตด้วย
นอกจากทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อปัจจัยทางด้านอุปทานทั้งเงินทุนและความรู้แล้ว
การร่วมมือกับกาตาร์ยังทำให้ไทยมีโอกาสในการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของประเทศในกลุ่มพื้นที่แห้งหรือDry
Land ได้อีกด้วย
โดยในปัจจุบันกาตาร์เป็น1ในสมาชิกของกลุ่มที่เรียกว่า
พันธมิตรพื้นที่แห้งของโลก
หรือ Global
Dry Land Alliance ซึ่งคาดว่าจะมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ45-60ประเทศ
ประเทศในกลุ่มนี้มีพื้นที่คิดเป็น45%ของผิวโลก
มีประชากร 30%ของโลก
หรือกว่า 2,000ล้านคน
แต่เป็นที่อยู่ของประชากรทีมีปัญหาด้านความั่นคงทางอาหารกว่า60%ของโลก
ประเทศเหล่านี้แม้จะยากจนแต่ก็มีประชากรที่มีความต้องการทางอาหารมาก
ขณะเดียวกันประเทศพวกนี้ซึ่งเป็นประเทศอาหรับและแอฟริกาก็มีทรัพยากรเหมืองแร่มหาศาลที่เป็นที่ต้องการของทั่วโลกด้วย
ดังนั้นแล้วในอนาคตประเทศเหล่านี้ย่อมมีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพในด้านการส่งออกและลงทุนด้านเกษตรด้วย
ประเทศกาตาร์ใช่จะมีแต่ความจริงจังในการระดมทรัพยากรและมีมาตรการในเขิงรูปธรรมในด้านความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น
แต่กาตาร์มีจุดยืนที่ชัดเจนถึงความ
“จริงใจ” ต่อประเทศที่กาตาร์จะเข้าไปลงทุนด้วย
โดยหัวหอกการลงทุนอย่างHasaad
Foodนั้นมีนโยบายที่ชัดเจนในการเข้าไปลงทุนในฐานะหุ้นส่วนทางการพัฒนาทางการเกษตรกับคนในพื้นที่
และประกาศชัดว่า
กาตาร์จะไม่มีการส่งออกผลผลิตในท้องถิ่นเกินกว่า40%กลับไปยังประเทศอย่างแน่นอน
โดย Hasaad
Foodประกาศชัดถึงการเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและได้มาตรฐานสากลด้วย
ซึ่งจุดนี้ย่อมลดความกังวลของไทยในเรื่องความมั่นคงทางอาหารไปได้มากท่ามกลางกระแสของการ
“ไล่ยึดที่ดินทางการเกษตร”
หรือ “Land
Grab” ที่บางคนถึงกับมองว่าเป็นลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่
ดังนั้นแล้วประเทศไทยควรหาประโยชน์จากการร่วมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรกับกาตาร์ผ่านโครงการQNFSPนี้
โดยให้ภาคประชาชน
ผู้ประกอบการรายย่อยและหน่วยงานด้านการศึกษามีส่วนร่วมกับความร่วมมือด้านนี้มากเป็นพิเศษเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนทุกระดับ
ขณะเดียวกันรัฐบาลควรถือโอกาสนี้ดึงทุนกาตาร์ทั้งHasaad
Food เอง
รวมถึงบริษัทแม่อย่าง QIAมาลงทุนทั้งระบบโซ่อุปทานการเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วยโดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จำเป็น
และทำการเชื่อมโยงหุ้นส่วนของ2ประเทศนี้เข้าสู่อุตสาหกรรมฮาลาลและการเงินอิสลามที่เน้นด้านการเกษตรไปด้วย
ซึ่งจะทำให้ประเทศมีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นมากในฐานะนักลงทุนการเกษตรรายใหญ่ของโลกและผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1598 ครั้ง