รูปภาพ : นางเซติ อัคตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย
ที่มา : The Star Online ของมาเลเซีย
มาเลเซียเตรียมออกใบอนุญาตก่อนสิ้นปีนี้ให้กับธนาคารอิสลามแห่งใหม่ซึ่งจะทำการจัดตั้งร่วมกันระหว่างสถาบันต่างๆจากเอเชียและตะวันออกกลาง นางเซติ อัคตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียเปิดเผยกับบลูมเบิร์ก
ธนาคารใหม่นี้จะมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ นางเซติระบุในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กวานนี้ (26 ตุลาคม 2010) โดยไม่ได้ระบุถึงชื่อของบริษัทหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งธนาคารใหม่นี้ เธอยังกล่าวอีกว่า ธนาคารอาจมีการออกใบอนุญาตสำหรับ “อภิมหาธนาคารอิสลาม” ใบที่ 2 นี้ภายในปีหน้า
“เหตุผลหนึ่งสำหรับการออกใบอนุญาตครั้งนี้ก็เพื่อใ้หมีจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย เพื่อให้มีผู้เล่นขนาดใหญ่ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายและเป็นตัวกลางของเงินทุนขนาดใหญ่สำหรับภาคธุรกิจทั่วโลก” นางเซติกล่าว “ตอนนี้ เรามีสถาบันการเงินอิสลามจำนวนมากแต่เราไม่มีสถาบันขนาดใหญ่”
มาเลเซียริเริ่มระบบการเงินอิสลามขึ้นหลังจากธนาคารอิสลามแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน มาเลเซียมีส่วนแบ่งของพันธบัตรอิสลามหรือ ซูกุ๊ก ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดกว่า 60% จากมูลค่าของพันธบัตรอิสลามทั่วโลกมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลของบลูมเบิร์ก นางเซติยังกล่าวอีกว่า ธนาคารใหม่นี้จะสามารถเป็นตัวช่วยสำหรับการออกพันธบัตรอิสลามที่มีมูลค่าสูงกว่านี้ได้
มาเลเซียมีมาตรการลดหย่อนทางภาษีและแรงจูงใจอื่นๆเพื่อดึงดูดให้สถาบันการเงินทั่วโลกรวมถึง บลจ. อาเบอร์ดีน และ แฟรงคลิน เทมเพลตัน อินเวสต์เมนต์ เข้ามาในประเทศเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของมาเลเซียในฐานะศูนย์กลางการเงินอิสลามของโลกในเอเชีย
การบริหารสภาพคล่อง
นครกัวลาลัมเปอร์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการบริการการเงินอิสลามหรือ IFSB หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตั้งมาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมการเงินอิสลามซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ IFSB ได้จัดตั้งบรรษัทบริหารสภาพคล่องอิสลามระหว่างประเทศ หรือ International Islamic Liquidity Management Corp. ขึ้น ซึ่งบริษัทนี้จะมีสำนักงานใหญ่ในกัวลาลัมเปอร์ด้วย และจะทำการออกตราสารระยะสั้นเพื่อช่วยให้บรรดาธนาคารอิสลามสามารถบริหารจัดการเงินทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางมาเลเซียได้ออกใบอนุญาต 5 ใบให้กับธนาคารจากต่างประเทศรวมถึง เนชั่นแนล แบงก์ ออฟ อาบูดาบี พีเจเอสซี และ พีที แบงก์ มันดิรี (PT Bank Mandiri) ของประเทศอินโดนีเซียด้วย นอกจากนั้นมาเลเซียยังได้อนุมัติใบอนุญาตการประกอบกิจการทาฟากุล (tafakul) หรือการประกันแบบอิสลามให้กับ 4 บริษัทอีกด้วยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บรรดาใบอนุญาตเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อปีที่แล้วเพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศ
“แรงจูงใจสำหรับสิ่งนี้ก็เพื่อยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างกันของเรากับระบบการเงินอื่นๆทั่วโลกและช่วยให้เกิดความคล่องตัวในกิจกรรมด้านการค้าและการลงทุน” นางเซติกล่าวระหว่างการประชุมด้านการเงินอิสลามในนครกัวลาลัมเปอร์
“เราได้เปิดเสรีตลาดแห่งนี้เพื่ออนุญาตให้มีการออกตราสารในสกุลเงินต่างประเทศได้” เธอกล่าว “นี่จะช่วยให้ตลาดโตได้มากกว่านี้”
ล่าสุด สินทรัพย์ในระบบธนาคารอิสลามในประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 337,600 ล้่านริงกิตหรือราว 109,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกรกฎาคม คิดเป็น 20% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดในระบบธนาคารของมาเลเซีย กระทรวงการคลังกล่าวในรายงานเศรษฐกิจประจำปีเมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
ที่มา Bloomberg