วันที่ 28 ตุลาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปยังวัดฤาไชย ต.กุฎี อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัย พร้อมกับพระราชทานถุงยังชีพและยาสามัญประจำบ้าน 1,000 ชุด สุขาเคลื่อนที่ที่ผลิตจากกระดาษลูกฟูก 200 ชิ้น จากนั้นทรงเยี่ยมราษฎรที่มารอเฝ้ารับเสด็จ รวมทั้งนายบุญช่วย ชมจำปา อายุ 72 ปี ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ หลังจากบ้านถูกน้ำท่วมจึงมาสร้างเพิงอาศัยอยู่ริมถนน ซึ่งถึงกับน้ำตาไหลด้วยความปลื้มปีติ
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเรือยาว 10 ลำ แก่ราษฎรเพื่อใช้สัญจรไปมา ทั้งยังทรงซักถามราษฎรถึงความต้องการการช่วยเหลือ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาสิ่งของที่ราษฎรผู้ประสบภัยต้องการและขาดแคลน โดยเฉพาะสุขาเคลื่อนที่และการกำจัดขยะ นอกจากนั้นทรงให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมการช่วยเหลือฟื้นฟูภายหลังน้ำลด
จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ด้านหน้าวัดโคกทอง หมู่ 12 ต.กุฎี พระราชทานถุงยังชีพแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมพื้นที่ อ.ผักไห่ มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 37,188 คน ทรงซักถามปัญหาและความต้องการให้ช่วยเหลือตรงจุด ซึ่งทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมขังในทุกพื้นที่ โดยมีพระราชดำรัสว่า นั่งรถพระที่นั่งผ่านเห็นนาข้าวที่กำลังออกรวงถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วทรงเสียดาย หากกรมชลประทานหาทางระบายน้ำจากพื้นที่นาที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา ได้ จะช่วยเกษตรกรได้มาก
ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปัญหาน้ำท่วมขัง อาจใช้เวลานานกว่าจะระบายน้ำได้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้จังหวัดจัดทำห้องสุขาชั่วคราวเพิ่มเติม และจะทรงจัดหารถผลิตน้ำดื่มพระราชทานแก่ราษฎรให้มีน้ำสะอาดบริโภค นอกจากนั้นทรงให้เร่งดูแลเรื่องการกำจัดขยะ ซึ่งอาจต้องใช้เรือออกเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลเพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเสียและเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนการมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำสิ่งของยังชีพเหล่านี้ไปมอบให้ถึงบ้านราษฎร เพราะในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยหนัก ราษฎรคงออกมารับความช่วยเหลือเองไม่ได้ และเมื่อน้ำลดให้ทุกหน่วยงานเร่งดูแลช่วยแก้ไขซ่อมแซมเครื่องยนต์เครื่องจักรกลการเกษตรและเร่งฟื้นฟูในด้านต่างๆ ขณะนี้มีบริษัทเอกชนหลายแห่งอาสาจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้แล้ว นอกจากนี้พระองค์ทรงห่วงต้นไม้และพันธุ์พืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชพื้นเมืองที่ถูกน้ำท่วม โดยมีพระราชดำรัสว่า น้ำถ้าท่วมนานก็คงจะตายหมด
ที่ จ.อ่างทอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้ นายแผน วรรณเมธี ประธานสภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนบ้านรอ ต.บางแก้ว และชุมชนโพธิ์ล้อมตาล ต.บ้านอิฐ อ.เมืองอ่างทอง จำนวน 1,000 ชุด
อยุธยา-ปทุม-นนท์ยังวิกฤติ
ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เป็นประธานในการประชุมเตรียมรับมือน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่น้ำลด โดยสรุปดังนี้
สถานการณ์พื้นที่ประสบภัย 27 จังหวัด 238 อำเภอ 1,757 ตำบล 14,509 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 1,089,615 ครัวเรือน 3,292,377 คน พื้นที่ประสบภัยเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก (อ.บางกระทุ่ม) และหนองบังลำภู (อ.โนนสัง และ อ.ศรีบุญเรือง)จังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง 3 อันดับแรก ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2553 อันดับ 1 อยุธยา อันดับ 2 ปทุมธานี อันดับ 3 นนทบุรี
ทั้งนี้พื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลเข้าสู่คลองเมือง แล้วล้นทะลักเข้าเกาะเมืองอยุธยาชั้นนอก เช่น ชุมชนทุ่งภูเขาทอง ชุมชนไผ่ลิง ชุมชนลุมพลี ชุมชนวัดพระญาติ หมู่บ้าน วัด และโบราณสถาน น้ำยังคงท่วมสูง 2-3 เมตร ล่าสุดน้ำจากคลองเมือง บริเวณหน้าวัดหน้าพระเมรุได้ซึมเข้าอุทยานประวัติศาสตร์วัดพระศรีสรรเพชญ์
สถานการณ์น้ำขึ้น-ลง บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือน้ำขึ้นเวลา10.00 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง2.17เมตร และน้ำขึ้นอีกครั้ง19.10 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.80 เมตร ขณะที่บริเวณหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้าน้ำขึ้นเวลา 09.36 น.สูงกว่าระดับน้ำ ทะเลปานกลาง1.95 เมตร ส่วนช่วงเย็นน้ำจะขึ้นอีกครั้งเวลา18.19น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.38 เมตร จึงทำให้พื้นที่ในปทุมธานี นนทบุรีและสมุทรปราการยังต้องเฝ้าระวังอยู่
การคาดการณ์ / เตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยระหว่าง 28 ตุลาคม – 9 พฤสจิกายน ที่จะเกิดน้ำท่วมสูงมากขึ้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำมูล ขณะนี้น้ำเหนือทัพใหญ่ไหลมาที่อ. สตึก บุรีรัมย์ สูงกว่าตลิ่ง 2.20 เมตร จากนั้นวันที่ 31 ต.ค. น้ำจะมาถึง อ.ราษีไศล ศรีสะเกษ และอ.เมืองอุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่ง 1.50 เมตร คาดการณ์ว่าน้ำถึงอุบลราชธานีวันที่ 2 พ.ย. 3200 ลบ.ม/วินาที สูงกว่าตลิ่ง 1.40 เมตร เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ลุ่มน้ำชี น้ำเหนือฝั่งแม่น้ำชียังไหลมาต่อเนื่อง อยู่ที่ อ.โกสุมพิสัย จะผ่าน อ.เมือง อ.ฆ้องชัย จ.มหาสารคาม ในวันที่ 4 พ.ย. จากนั้นเข้าสู่ อ.ทุ่งเขาหลวง อ..เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ อ.เมืองยโสธร ในวันที่ 6 พ.ย. จากนั้นเข้าสู่ อุบลราชธานี ในวันที่8-9 พ.ย. ทำให้น้ำล้นตลิ่ง ต้องเฝ้าระวังพื้นที่โดยรอบ ลุ่มแม่น้ำโขง ยังอยู่ในระดับทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตือนภัยได้ทันท่วงที
ภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม มีภาวะน้ำท่วมสูงขึ้นทุกอำเภอเนื่องจากน้ำเหนือยังไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์จะคลี่คลายขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลจะลดต่ำลง แต่ต้องเฝ้าระวังอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย. ที่น้ำทะเลสูงสุดในรอบเดือนพฤศจิกายน
ภาคใต้ ฝนตกหนัก-หนักมาก กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยที่ทางน้ำไหลผ่านและราบลุ่ม ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลลาก และน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งอาจเกิดภาวะน้ำท่วม
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1833 ครั้ง