ธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์กหรือ New York Fed (The Federal Reserve Bank of New York) ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกออกมากล่าวว่า เฟดสาขานิวยอร์กมีทองคำแท่งที่มากฝากเอาไว้น้อยลงกว่าที่ผ่านมาไปบ้าง ฉายภาพให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวที่มักจะไม่เปิดเผยตัวของะนาคารกลางต่างๆในตลาดทองคำ
ธนาคารกลางต่างๆมีส่วนช่วยดันราคาทองคำพุ่งทำสถิติสูงสุดตลอดกาลในแง่ของราคาที่เป็นตัวเงินที่ไม่ได้คำนึงถึงเงินเฟ้อด้วยการกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดเป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี อย่างไรก็ตามการค้าทองคำของธนาคารกลางมักจะถูกปิดเป็นความลับอยู่เสมอ เช่นเดียวกับข้อมูลในเรื่ีองของสถานที่ที่เก็บทองคำสำรองเอาไว้
เฟดสาขานิวยอร์กได้ทบทวนจำนวนประเทศที่เก็บทองคำสำรองไว้ที่แบงก์ชาติสหรัฐฯในนิวยอร์กนี้ลดลงจากเดิมไปกว่า 40% เหลือเพียงแค่ 36 ประเทศเท่านั้น จากเอกสารล่าสุดในปี 2004ซึ่งระบุว่ามีธนาคารกลาง 60 ประเทศฝากทองคำสำรองไว้ที่เฟดสาขานิวยอร์ก
การทบทวนตัวเลขนี้ถือว่ามีนัยสำคัญมากเพราะ ตู้เซฟตู้ประวัติศาสตร์ของเฟดนิวยอร์กซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นหินอันแน่นหนาของเกาะแมนแฮตตันที่ใช้เก็บรักษาทองคำนี้ถือว่าเป็นโกดังเก็บทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่าของทองคำที่เก็บรักษาไว้กว่า 290,000 ล้านดอลลาร์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีรัฐบาลประเทศไหนบ้างที่เก็บทองคำไว้ที่นี่ แต่ละตู้จะมีทองคำจำนวนมากดังนั้นแล้วผู้ที่มาเยี่ยมชมจะไม่สามารถบอกได้ว่า ทองคำแท่งไหนเป็นของรัฐบาลใด
อย่างไรก็ตามเฟดนิวยอร์กกล่าวว่า การปรับตัวเลขในครั้งนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการนับจำนวนประเทศที่ใช้บริการของแบงก์ชาติสหรัฐฯในการเก็บรักษาทองคำสำรอง ตัวเลขที่สหรัฐฯอ้างก่อนหน้านี้ว่ามี “ประมาณ 60 ประเทศ” นั้นหมายถึงจำนวนของธนาคารกลางต่างประเทศซึ่งมีบัญชีกับเฟดนิวยอร์กซึ่งนั่นรวมถึงธนาคารกลางซึ่งไม่ได้เก็บทองคำไว้ที่เฟดนิวยอร์กแล้วด้วย
เฟดนิวยอร์กกล่าวอีกว่า ตัวเลข 36 นั้นหมายความถึงแค่ธนาคารกลางต่างประเทศที่เก็บทองคำสำรองที่นิวยอร์กจริงๆเท่านั้น
“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขจำนวนบัญชีที่เก็บทองคำไว้ที่นิวยอร์กไว้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” โฆษกเฟดนิวยอร์กแถลง
มีเอกสารอยู่เพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่ระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับทองคำสำรองที่เฟดสาขานิวยอร์กนั่นคือ แผ่นพับหรือโบรชัวร์ของธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์กเกี่ยวกับทองคำสำรองที่เก็บไว้ใต้ดินซึ่งมี 2 เวอร์ชั่นด้วยกันได้แก่ เวอร์ชั่นปี 2004 และ 2008 โดยเอกสารดังกล่าวนี้ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์เฟดนิวยอร์กนั้นมีชื่อว่า “The Key to the Gold Vault”
โดยแผ่นพับฉบับปี 2004 ระบุว่า “ทองคำที่คุณเห็นในตู้เซฟของเฟดสาขานิวยอร์กนี้ … เป็นของรัฐบาลและธนาคารกลางและองค์กรการเงินระหว่างประเทศประมาณ 60 ประเทศ” อย่างไรก็ตามเฟดนิวยอร์กก็ไม่เคยมีการอธิบายก่อนหน้านี้ว่า จำนวนเหล่านี้รวมถึงบัญชีของผู้ที่ไม่ได้เก็บทองคำไว้กับแบงก์ชาติสหรัฐฯแล้ว
แต่หลังจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ติดต่อไปยังเฟดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ ก็ปรากฏว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ถอนเอาเอกสารแผ่นพับที่สามารถดาวน์โหลดได้นี้ออกจากเว็บไซต์ของเฟดนิวยอร์กแล้ว
เฟดนิวยอร์กยังกล่าวเสริมอีกว่า ตู้เซฟใต้ดินนี้เก็บทองคำไว้ทั้งสิ้น 226 ล้านออนซ์ช่วงกลางปี 2004 ไม่ใช่ 266 ล้านออนซ์อย่างที่เอกสารฉบับก่อนหน้านี้กล่าวอ้าง
ตู้เซฟใต้ดินนี้เปิดให้บริการในปี 1924 เป็นที่เก็บรักษาทองคำสำรองของรัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของทองคำสำรองทั้งโลก ขณะที่แหล่งเก็บรักษาทองคำสำรองที่สำคัญที่อื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯก็คือที่ธนาคารกลางอังกฤษในลอนดอนและธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศหรือ BIS (Bank for International Settlement) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ตลาดทองคำยังคงอยู่ในภาวะมืดมัวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางและหน่วยงานอื่นๆของรัฐบาลในตลาดทองคำเนื่องจากผู้ซื้อและผู้ขายรายใหญ่บางรายไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายบ่อยนัก
อย่างซาอุดิอาระเบียในปีนี้ได้กล่าวว่า ทองคำสำรองพุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว โดยทางธนาคารกลางซาอุดิอาระเบียอธิบายในงบการเงินประจำไตรมาสว่า การเพิ่มขึ้นของทองคำสำรองเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงทางบัญชีเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้จีนได้ทำให้ตลาดประหลาดใจเมื่อทางกาารจีนออกมาเปิดเผยว่า ทองคำสำรองได้พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัวโดยไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติม
นักลงทุนกำลังจับตามองการซื้อขายทองคำของธนาคารกลางเนื่องจากภาครัฐน่าจะมีการซื้อสุทธิทองคำจำนวน 15 ตันในปีนี้ จากการคาดการณ์ของจีเอฟเอ็มเอส บริษัทที่ปรึกษาด้านโลหะมีค่า ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วธนาคารกลางมักจะเป็นผู้ขายสุทธิทองคำมากกว่า 400 ตันต่อปี
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีสัญญาณถึงความไม่มั่นใจของรัฐบาลต่างๆที่มีต่อการถือเงินดอลลาร์ไว้ในทุนสำรองจำนวนมากและเริ่มที่จะพูดถึงการซื้อทองกันแล้ว ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสัญญาณที่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลหลายๆประเทศอาจเริ่มถอนทองคำออกจากสหรัฐฯแบบลับๆอยู่ โดยในเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีกระแสข่าวว่าธนาคารกลางฮ่องกงได้ถอนเอาทองคำสำรองทั้งหมดออกจากลอนดอนมาเก็บไว้ที่คลังเก็บทองคำสำรองของแบงก์ชาติฮ่องกงเองใกล้กับสนามบินนานาชาติเช็ก ลัป ก๊อก ขณะเดียวกันคลังเก็บทองคำใหม่นี้จะให้บริการในการเก็บรักษาทองคำให้กับรัฐบาลต่างๆทั่วโลกด้วย จากแถลงการณ์ของธนาคารกลางฮ่องกงหรือ HKMA (Hong Kong Monetary Authority)
ล่าสุดทาง Mtoday ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์กแล้วพบว่า ลิ้งก์เชื่อมโยงไปยังข้อมูลแผ่นพับซึ่งเปิดเผยข้อมูลสถานะของทองคำสำรองที่รัฐบาลต่างประเทศที่เข้าผ่านหน้า “New York Fed Services for Central
Banks and International Institutions” ซึ่งอธิบายบริการของเฟดนิวยอร์กที่ให้กับรัฐบาลต่างประเทศนั้น
ไม่สามารถเปิดหน้าเพื่อไปดุข้อมูลแผ่นพับได้จริงตามที่ FT กล่าวอ้าง โดยลิ้งก์แผ่นพับที่อยู่ในหน้านี้จะอยู่ใน http://www.newyorkfed.org/aboutthefed/fedpoint/fed20.html
อย่างไรก็ตาม เมื่อทาง Mtoday ได้เข้าไปยังหน้าที่เกี่ยวกับรายละเอียดการเข้าเยี่ยมชมธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์กหรือเฟดนิวยอร์กกลับพบว่า เอกสารแผ่นพับนั้นยังสามารถดาวน์โหลดได้อยู่ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงความรีบร้อนของเจ้าหน้าที่ผู้ดุแลเว็บของแบงก์ชาติสหรัฐฯที่อาจตรวจสอบไม่ถี่ถ้วนดี โดยลิ้งก์หน้าเยียมชมหรือ Visiting สามารถเข้าผ่านทาง http://www.newyorkfed.org/aboutthefed/visiting.html และเอกสารแผ่นพับที่มีให้ดาวน์โหลดไว้ชื่อ “The Key to the Gold Vault”
ทั้งนี้ข้อความในแผ่นพับได้ระบุชัดเจนถึงปริมาณทองคำล่าสุด ณ ปี 2008 ว่า ในช่วงต้นปี 2008 รัฐบาลต่างประเทศเก็บทองคำสำรองไว้กับเฟดราว 216 ล้านออนซ์ ซึ่งราคาปัจจุบันที่ประมาณ 1,300 ดอลลาร์จะมีมูลค่าที่ 280,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าสังเกตว่าน้อยกว่า 226 ล้านออนซ์ตามที่เฟดนิวยอร์กแถลงตอบโต้ FT
ที่มา Financial Times
http://www.ft.com/cms/s/0/15bc74ea-e2b0-11df-8a58-00144feabdc0.html
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดของข่าวที่แบงก์ชาติฮ่องกถอนทองคำกลับประเทศได้ที่
http://www.marketwatch.com/story/hong-kong-recalls-gold-reserves-from-london-2009-09-03
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญหายของเอกสารโดยไม่ทราบสาเหตุ ท่านสามารถดาวน์โลหดแผ่นพับล่าสุดนี้ได้ที่เว็บไซต์ของเรา
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3602 ครั้ง