นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ร่วมออกอากาศผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11
ภาพ/รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ
รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เริ่มต้นเปิดรายการด้วยวีทีอาร์ การเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบทุกภัยตามที่สถานที่ต่างๆของนายกฯ พร้อมด้วยบทเพลงกำลังใจของวงโฮป ศิลปินแนวเพลงเพื่อชีวิต เพื่อสื่อถึงการส่งกำลังใจไปให้กับประชาชนที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติในช่วงนี้
นายกฯกล่าวตอนหนึ่งในรายการว่า ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบกับภาวะน้ำท่วมมีความหลากหลายในสถานการณ์ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ก็จะมีความแตกต่างกันไป ยืนยันว่าไม่ได้ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ หลังภาคเอกชนที่ลงไปให้ความช่วยเหลือก่อนหน้านี้ เพราะได้ลงไปในพื้นที่ทันทีที่เกิดน้ำท่วม
“ยืนยันเงินชดเชย จะถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด คาดว่าภายใน 1 เดือน เพราะเป็นการอนุมัติพิเศษ พร้อมสั่งทุกระทรวงปรับลดงบประมาณในเรื่องอื่น เพื่อระดมช่วยน้ำท่วม” นายกฯ กล่าว
นายกฯกล่าวด้วยว่าหลังเสร็จรายการแล้ว จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในจ.สิงห์บุรี และอ่างทอง
ด้าน นายอภิรักษ์ เปิดเผยว่า ยังห่วงพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี และลุ่มน้ำชี มูล เพราะน้ำเริ่มไหลจาก จ.นครราชสีมา เข้าท่วมแล้ว โดยขณะนี้น้ำก้อนใหญ่อยู่ที่ จ.สุรินทร์ และคาดว่าจะเข้า จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 2 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ เมื่อวานที่ผ่านมา มีการตั้งศูนย์อพยพเขตเทศบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ส่วนน้ำชีก้อนใหญ่นั้น ขณะนี้อยู่ที่ จ.ขอนแก่น และคาดว่าจะไหลเข้า จ.ยโสธร ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน
ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมกับ นายวรภัทธ ปราณีประชาชน นักศึกษา ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อสาเหตุปัญหาน้ำท่วมและคณะบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,823 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา
พบว่าประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 สนใจระดับมากถึงมากที่สุดในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.5 ระบุว่า ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.3 มองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้นอกเหนือไปจากสาเหตุของภัยธรรมชาติแล้วคือ การพัฒนาที่ดิน เช่น การสร้างรีสอร์ต การก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ รองลงมาคือ ร้อยละ 40.9 ระบุขาดการวางแผนและป้องกันระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 38.7 ระบุการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ในการอนุมัติก่อสร้างขวางทางระบายน้ำ ร้อยละ 38.0 การวางผังเมืองไม่ดีพอ ร้อยละ 31.5 ระบุเป็นเพราะการสร้างเขื่อน ตามลำดับ
เมื่อถามว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเคยบริจาคสิ่งของให้กับใครบ้างหรือไม่ พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 51.1 เคยบริจาคช่วยผู้ประสบภัย ร้อยละ 50.2 บริจาคให้วัด ร้อยละ 22.3 บริจาคให้มูลนิธิต่างๆ ร้อยละ 18.3 บริจาคให้เด็กยากไร้ ร้อยละ 15.4 บริจาคให้สถาบันการศึกษา เพียงร้อยละ 5.3 บริจาคให้องค์กรด้านสุขภาพ และรองๆ ลงไปคือ บริจาคให้ผู้ทำงานด้านลดอุบัติเหตุ แก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในชุมชน บริจาคให้พรรคการเมืองและเลี้ยงสัตว์จรจัด เป็นต้น
เมื่อถามเฉพาะเรื่องการบริจาคให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 พร้อมที่จะบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ หรือ เงินให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 51.0 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลยว่า เงินหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่บริจาคจะถูกนำไปให้กับผู้ประสบภัยต่างๆ อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ในขณะที่ร้อยละ 49.0 ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงคะแนนความพึงพอใจโดยภาพรวมของการแก้ปัญหาน้ำท่วมของคณะบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับหนึ่งที่ได้คะแนนพอใจสูงสุด 7.52 ได้แก่ หน่วยกู้ภัย อันดับที่สองคือ กองทัพ ได้ 7.28 คะแนน อันดับที่สามได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ 7.07 คะแนน อันดับที่สี่ได้แก่ นักร้อง นักแสดง ได้ 6.66 คะแนน อันดับที่ห้า ได้แก่ บริษัทเอกชน และกลุ่มนายทุน ได้ 6.56 คะแนน อันดับที่หก ได้แก่ องค์กรอิสระ NGO มูลนิธิต่างๆ ได้ 6.39 คะแนน ตำรวจได้ 6.22 คะแนน กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ได้ 6.06 คะแนน รัฐบาลได้ 5.55 คะแนน นักการเมืองท้องถิ่นได้ 5.55 คะแนน และฝ่ายค้านได้เพียง 4.54 คะแนน
โดยประชาชนที่ถูกศึกษาระบุเรื่องที่ต้องการให้ คณะบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.7 ระบุเรื่องความรวดเร็วฉับไว รองลงไปคือ ร้อยละ 55.3 ระบุความครอบคลุมทั่วถึง ร้อยละ 55.3 ระบุการป้องกันปัญหาระยะยาว ร้อยละ 49.4 ระบุความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรองๆ ลงไปคือ การประสานร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และความเข้าใจที่แท้จริงของปัญหา ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 อยากเห็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จับมือกันลงพื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยหยุดความขัดแย้งไว้ชั่วคราว และเมื่อจำแนกตามกลุ่มจุดยืนทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกจุดยืนทางการเมือง คือ ร้อยละ 92.4 ในกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 87.4 ในกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 93.5 ในกลุ่มพลังเงียบต่างก็อยากเห็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจับมือกับฝ่ายค้านลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม
นอกจากนี้ ประชาชนยังได้ประเมินการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้านต่างๆ พบว่า ด้านความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือได้ 6.29 คะแนน ด้านการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหา ได้ 6.08 คะแนน ด้านมาตรการในการชดเชยเยียวยาได้ 5.87 คะแนน ด้านการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทั่วถึง ได้ 5.85 คะแนน และที่น้อยสุดคือ ด้านความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ ได้ 5.33 คะแนน ตามลำดับ
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เสียงสะท้อนของประชาชนต่อสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายน่าจะนำไปพิจารณาหาทางป้องกันแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในระยะสั้นและระยะยาวคือ การพัฒนาที่ดินและการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ การวางผังเมือง และการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลยจนเกิดปัญหาขั้นรุนแรงเพื่อจะได้งบภัยพิบัติมาใช้กัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลและสาธารณชนควรตั้งคำถามถามไปยังจังหวัดที่มีชุมชนถูกน้ำท่วมซ้ำซาก โดยสิ่งเหล่านี้ควรถูกตรวจสอบและนำมาเปิดเผยให้เรียนรู้ร่วมกันเป็นประสบการณ์อุทาหรณ์ต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและความรู้สึกต้องมีส่วนร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า คะแนนความพึงพอใจของประชาชนต่อทั้งรัฐบาล นักการเมืองท้องถิ่น และฝ่ายค้าน อยู่ในอันดับท้ายๆ ซึ่งน่าจะส่งสัญญาณเตือนใจเตือนสตินักการเมืองและคำถามสำคัญได้ว่า บทบาทหน้าที่ของนักการเมืองได้แสดงออกที่ “โดนใจ” ทันเวลาในยามที่ประชาชนกำลังประสบภัยพิบัติเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้แล้วหรือไม่
“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ค้นพบในการสำรวจครั้งนี้คือ ประชาชนในทุกจุดยืนทางการเมืองคือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่อยากเห็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเลิกทะเลาะหยุดขัดแย้งชั่วคราวและหันมาจับมือลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ดังนั้น ช่วงเวลาจังหวะนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายการเมืองจะสามารถกอบกู้ฟื้นความเชื่อมั่นศรัทธาจากสาธารณชน คณาจารย์ในสถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่อบรมฝึกฝนกลุ่มนักการเมืองน่าจะออกมาชี้ชวนให้กลุ่มนักการเมืองที่ผ่านการอบรมเหล่านั้นได้แสดงจิตสำนึกให้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้รับรู้ถึงความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้จากกลุ่มนักการเมืองดังกล่าว และถ้าหากจับมือกันได้จริง ก็น่าจะทำให้ชาวบ้านมีความสุขมากกว่าแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องการแบ่งอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวกับพวกพ้องของนักการเมืองเสียอีก” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 9.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 19.6 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40 – 49 ปี และ ร้อยละ 28.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 27.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และ ร้อยละ 7.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 41.8 ค้าขายอิสระ/ ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.3 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป เกษตรกร ร้อยละ 12.9 พนักงานเอกชน ร้อยละ 2.7 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.0 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 1.4 ว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1971 ครั้ง