ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนาเจาะลึกข้อมูลเชิงลึกประเทศไทย ทำไมต้องเจอน้ำท่วมร้ายแรง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า จากสถิติการเกิดปรากฏการร์เอลนิโย่และลานีญ่าในรอบ 50 ปี พบว่า โดยปกติปรากฎการณ์เอลนิโย่จะเกิดทุกๆ 3 ปี สลับกับปรากฎการณ์ลานีญ่า แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความถี่ของการเกิดปรากฎการณ์ทั้งสองเปลี่ยนแปลงไป โดยในปีหนึ่งจะเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ปรากฎการณ์ ส่งผลให้ช่วงต้นปีเกิดภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ในขณะที่ปลายปีจะเกิดภาวะฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็น ทำให้การคาดการณ์เกิดความคลาดเคลื่อน ส่งผลให้การบริหารจัดการของภาครัฐบกพร่อง ซึ่งหลังจากนี้ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นแผนการจัดการแบบบูรณาการ เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จนถึงเดือนธันวาคมยังต้องเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ที่อาจจะพัฒนากลายเป็นพายุดีเปรสชั่น ทั้งนี้ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุจะเข้าบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ส่งผลให้ในระยะนี้อาจเกิดฝนตกหนักได้อีกระลอก ยกเว้นกรณีที่ลมเย็นจากประเทศจีนมีความแรงพอที่จะพัดกลุ่มเมฆที่ก่อตัวเหนือบริเวณภาคใต้ไปยังประทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย จึงจะทำให้ภาคใต้ของประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตฝนตกหนัก น้ำท่วมสูง ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 จนถึงกุมภาพันธ์ 2554 ภาคใต้ของประเทศไทยยังจะมีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของปรากฏการณ์ลานีญ่า
ศ.ดร.ธนวัฒน์ สถานการณ์ภัยพิบัติในปี 2554 ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ่หรือภาวะแห้งแล้ง มากถึงร้อยละ 50 จากปกติที่มีโอกาสเกิดเพียง ร้อยละ 25 เนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ่มากขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรเตรียมแผนรองรับการเกิดภัยแล้งในปีหน้า
“จากการถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ พบว่าปัญหาการเกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นวิธีขจัดน้ำออกไปยังพื้นที่อื่น เช่น การสร้างเขื่อนและการสร้างคันกั้นน้ำ ส่งผลให้ความรุนแรงของน้ำท่วมไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป ในขณะที่ภาคใต้เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ” ศ . ดร . ธนวัฒน์กล่าว
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวเสนอว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาน้ำท่วมเชิงบูรณาการ ไม่มองปัญหาแบบแยกส่วนและไม่ควรเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยต้องมีแผนแม่บทเพื่อรองรับการพัฒนาเมือง มีกฎหมายควบคุมการใช้ที่ดิน ไม่ปล่อยให้แต่ละเมืองเติบโตแบบไร้ทิศทาง รวมทั้งต้องมีการทบทวนมาตรการป้องกันน้ำท่วม โดยใช้สิ่งก่อสร้างเป็นหลัก นอกจากนี้ควรใช้มาตรการด้านภาษีมาแก้ปัญหา
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2952 ครั้ง