ตลาดเงินอิสลาม:นวัตกรรมใหม่ในการบริหารสภาพคล่อง
ระบบการเงินอิสลามซึ่งเป็นตัวเป็นตนอย่างเป็นทางการจริงในช่วง10ปีที่ผ่านมานี้ถือว่ามีการพัฒนาที่รวดเร็วและมีแนวโน้มที่สดใสต่อเนื่อง
มีการขยายการให้บริการและออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆที่ตอบสนองความต้องการได้ดีจากกลุ่มคนที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม
ระบบการเงินอิสลามสในปัจจุบันถือว่ามีความครบเครื่องและความหลากหลายไม่ด้อยไปกว่าระบบการเงินทั่วไปของตะวันตกทั้งธนาคารอิสลาม
ประกันอิสลาม ตลาดทุนอิสลาม
กองทุนลงทุนแบบอิสลาม
ขณะนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจและมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการสร้างอุตสาหกรรมการเงินอิสลามให้เป็นรูปธรรมชัดเจนในประเทศตัวเองขึ้นมา
แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางการพัฒนาการเงินอิสลามทั่วโลกจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ
ระบบการเงินอิสลามยังคงมีอุปสรรคหลายอย่างในการก้าวไปข้างหน้า
และสิ่งหนึ่งที่คนในวงการเป็นกังวลกันมากก็คือ
เครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของธนาคารอิสลาม
ทั้งนี้ในโลกการเงินทั่วๆไปนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า
แต่ละสถาบันการเงินย่อมมีเงินมากเงินขาดแตกต่างกัน
ธนาคารบางแห่งในบางช่วงอาจมีการไหลเข้าของเงินมากจากการทีมีคนเอาเงินมาฝากเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
รวมถึงรายรับด้านต่างๆก็ไหลเข้าธนาคารอย่างมากด้วยเช่น
มีคนเอาเงินผ่อนคืนสินเชื่อ
ดอกเบี้ยรับจากการซื้อพันธบัตรรัฐบาล
เป็นต้น
ขณะที่บางรายก็เกิดปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอในระยะสั้นเช่นกัน
ซึ่งอาจเกิดจากลูกค้ามีความต้องการถอนเงินมากกว่าปกติ
ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อที่สูง
หรือเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นต้น
ดังนั้นแล้วในระบบการเงินจึงต้องมีการตั้งกลไกสำหรับบริหารสภาพคล่องในระยะสั้นขึ้นมา
ซึ่งจะมีการปล่อยกู้กันตั้งแต่ชั่วข้ามคืนไปจนถึง7วัน
หรือไม่ก็อาจทำในลักษณะการออกตั๋วเงินระยะสั้นขายให้นักลงทุนทั่วไปซึ่งมักจะมีอายุไม่เกิน1ปี
โดยปกติแล้วระบบธนาคารโดยทั่วไปจะมีวิธีการระดมเงินระยะสั้นที่หลากหลาย
ทั้งจากการกู้ยืมในตลาดระหว่างธนาคารหรือInterbank
Market ซึ่งมักจะกู้ยืมกันสั้นมากๆตั้งแต่เพียงข้ามคืนถึง7วัน
ทั้งนี้เพราะกระแสเงินไหลเข้า–ออกของธนาคารไม่เหมือนกัน
นอกจากนั้นเพื่อให้การกู้ยืมมีความมั่นคงและน่าเชื่อถือ
ในระบบธนาคารจึงมีกลไกที่เรียกว่า
ตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repo
Market) ขึ้น
โดยผู้กู้จะเอาตราสารหนี้ซึ่งมักจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลมาขายในอัตราคิดลดให้กับผู้ปล่อยกู้และมีสัญญาว่าจะซื้อคืนในภายหลัง
ซึ่งในประเทศไทยตลาด Repoจะมีธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นธนาคารกลางเข้ามาเล่นด้วย
นอกจากนั้นแล้วธนาคารเองก็อาจออกตราสารหนี้ขายนักลงทุนในตลาดซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันการเงินด้วยกันก็ได้ในการบริหารสภาพคล่อง
แต่ทั้งหมดนี้กลับเป็นเรื่องยากมากในระบบธนาคารอิสลามซึ่งเหตุผลง่ายๆก็คือ
การต้องปลอดดอกเบี้ย
ทั้งนี้เนื่องจากแม้แต่ประเทศอิสลามทั่วโลกก็ยังมีระบบดอกเบี้ย
ดังนั้นแล้วธนาคารอิสลามของแต่ละประเทศจะติดปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนระยะสั้นและเครื่องมือระยะสั้นมาก
ต่างจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศซึ่งทำธุรกรรมกับดอกเบี้ยอยู่แล้วและมีช่องทางในการเข้าถึงตลาดเงินซึ่งเป็นตลาดระยะสั้นดังที่กล่าวมาแล้ว
โดยงานศึกษาของคณะกรรมการบริการการเงินอิสลามในมาเลเซียหรือIFSB
(Islamic Financial Services Board)ระบุว่าในระบบธนาคารอิสลามนั้นจะมีปัญหาของสภาพคล่องส่วนเกินที่เอาไปหาประโยชน์ไม่ได้มากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั่วๆไป
งานศึกษาในปี 2006นี้ระบุว่า
ธนาคารอิสลามในอินโดนีเซียต้องเก็บ20%ของเงินสดส่วนเกินไว้กับธนาคารกลางเทียบกับเพียง2.1%กรณีของธนาคารที่มิใช่อิสลาม
ขณะที่ในปากีสถานธนาคารอิสลามมีเงินสดส่วนเกิน3.8%เทียบกับ0.3%ของธนาคารปกติ
ธนาคารอิสลามบังคลาเทศเก็บเงินสดกว่า57.3%ไว้เฉยๆกับธนาคารกลาง
เทียบกับ 24%ในธนาคารปกติ
เงินฝากเหล่านี้ก็ไม่ได้ประโยชน์อันใดด้วยเพราะไม่มีดอกเบี้ย
ขณะที่ใน UAEธนาคารอิสลามก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากธนาคารกลางได้
เพราะที่ UAEการบริหารเงินระยะสั้นจะใช้วิธีการประมูลบัตรเงินฝากของธนาคารกลาง
ดังนั้นจึงมีดอกเบี้ยด้วย
แต่ด้วยตลาดที่โตอย่างรวดเร็วและความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือสภาพคล่องล้นเกินในระยะสั้น
ทำให้มีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายในการแก้ปัญหานี้
ล่าสุดพัฒนาการที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการเงินอิสลามทั่วโลกก็มาถึง
เมื่อ IFSBได้จัดตั้งสถาบันการเงินพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วยบริหารสภาพคล่องในระบบธนาคารอิสลาม
นั่นคือ บรรษัทบริหารสภาพคล่องอิสลามระหว่างประเทศ
หรือ International
Islamic Liquidity Management Corp. หรือIILMโดยIILMจะถือเป็นแกนกลางของระบบตลาดเงินอิสลามระหว่างประเทศ
ซึ่งจะทำหน้าที่ในการออกตั๋วเงินอิสลามระยะสั้นเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ
ขณะเดียวกัน
ในส่วนของภาคเอกชนเองก็มีการออกตัวในเรื่องนี้เพราะเห็นเป็นโอกาสที่ชัดเจนและมีแนวโน้มในการเติบโตที่สูง
โดยธนาคาร Barclaysของอังกฤษได้ออกผลิตภัณฑ์การเงินเอาใจธนาคารอิสลามนั่นคือ
สัญญาพันธบัตรอิสลามหรือIslamic
Repo Contractทั้งนี้หลักทรัพย์ค้ำประกันที่ใช้จะเป็นพันธบัตรอิสลามหรือ
ซูกุ๊ก นั่นเอง
ขณะที่ทางฝั่งหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินอิสลามโลกอีกแห่งคือ
ตลาดการเงินอิสลามระหว่างประเทศ
หรือ International
Islamic Financial Market หรือIIFMในบาห์เรนก็กำลังดำเนินการในการพัฒนาตลาดRepoอิสลามอยู่เช่นกัน
โดยแทนที่จะคิดดอกเบี้ยจะใช้วิธีการคิดอัตรากำไรแทน
ขณะเดียวกันจะใช้กลไกของการตั้งตัวกลางในตลาดเพื่อรับซื้อและขายคืนพันธบัตรอิสลามในตลาดRepoเช่นกัน
ในฝั่งของUAEเองก็ได้เล็งเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้เช่นกัน
โดยธนาคารกลางของ UAEมีแผนที่จะออกบัตรเงินฝากอิสลาม
หรือ Islamic
Certificates of Deposit (Islamic CD)โดยจะอิงอยู่บนหลักการของสัญญามูราบาฮา(Murabaha
Contract)ที่อนุญาตให้มีการทำกำไรจากส่วนต่างการซื้อและขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเว้นแต่ทองคำและเงิน
ทั้งนี้คาดได้ว่าในที่อื่นๆตะวันออกกลางเช่นในคูเวตหรือกาตาร์ก็น่าจะมีความเคลื่อนไหวในด้านนี้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากที่มาเลเซียได้เดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังแล้ว
และทำในระดับโลกด้วย
เมื่อกรอบแนวทางต่างๆชัดเจนทั้งในแง่ของหลักการ
องค์กร และตัวผลิตภัณฑ์เอง
ตลาดเงินอิสลามย่อมเอื้อให้ระบบการเงินอิสลามสามารถเติบโตได้โดยปราศจากอุปสรรคได้อีกเยอะ
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงในระบบการเงินอิสลาม
และยังเป็นการดึงดูดเงินทุนและความสนใจจากหลายๆฝ่ายที่มีต่อการเงินอิสลามให้เพิ่มขึ้นได้อีก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก้าวต่อไปที่จะได้เห็นในระบบการเงินอิสลามก็คือ
ภาคธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินแต่มีความต้องการในการบริหารเงินระยะสั้นซึ่งอาจเคร่งหรือไม่เคร่งกับหลักอิสลามจะเข้ามาสู่ระบบตลาดเงินอิสลามมากขึ้น
ธนาคารอิสลามเองก็จะมีช่องทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในการบริหารเงินสด(Cash
Management) หรือบริการในลักษณะของIslamic
Treasuryซึ่งนักบริหารเงินและสภาพคล่องในโลกอิสลามมีความต้องการเพื่อช่วยเหลือในการจัดการบริหารสภาพคล่องในการทำธุรกิจ
นอกจากนั้นแล้วภาครัฐบาลก็จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดเงินอิสลามมากขึ้น
ทั้งธนาคารกลางเองที่จะมีเครื่องมือเข้ามาดูแลระบบธนาคารอิสลามโดยเฉพาะ
รวมถึงรัฐบาลที่จะออกตั๋วเงินคลังระยะสั้นซึ่งย่อมสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับธนาคารอิสลามและธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้
ซึ่งนั่นจะเพิ่มความหลากหลายและพัฒนาการให้กับตลาดซื้อคืนพันธบัตรอิสลามและอุตสาหกรรมการบริหารเงินได้อีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้คงไม่น่าแปลกใจหากจะเห็นมาเลเซียเป็นผู้ริเริ่มก่อนเสมอ
ซึ่งการริเริ่มในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่องและทำในระดับสากลจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาตำแหน่งของมาเลเซียให้เป็นผู้นำระบบการเงินอิสลามโลกต่อไป
ทั้งในด้านนวัตกรรม
การจัดระบบและการออกกฎควบคุมระบบการเงินอิสลาม
และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของระบบการเงินอิสลามโลก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2723 ครั้ง