ศูนย์ประสานงานเครือข่ายอาสาภาคประชาชนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (คอภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ว่า ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงในทุกจังหวัด แต่ยังมีความน่าเป็นห่วงใน จ.ปัตตานี โดยเฉพาะบริเวณชุมชนที่ใกล้เคียงอ่าวปัตตานี เนื่องจากมีบ้านเรือนประชาชนที่ประกบอาชีพชาวประมงถูกพายุพัดบ้านพังหลายสิบหลัง
ทั้งนี้พื้นที่ที่ประสบวาตภัยดังกล่าว อยู่ใน ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยในวันนี้ (7พ.ย.) เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เร่งระดมนำเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งมีประชาชนนอกพื้นที่และญาติพี่น้องเดินทางมาดูสถานการณ์และมาเยี่ยมเยียนญาติเป็นจำนวนมาก
ด้าน นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผวจ.ปัตตานี และ พล.ต.ชาญชัย ภู่ทอง ผบ.ฉก.ปัตตานี ได้นำกำลังทหารและอาสาสมัครเข้าไปเร่งช่วยเหลือชาวยะหริ่ง โดยฝ่ายทหารร่วมกับจังหวัดปัตตานีจะเข้าไปซ่อมแซมบ้านที่พังทั้งหลัง 4 หลังก่อน เร่งให้เสร็จภายใน 3 – 4 วัน ในขนาด 6 คูณ 8 เมตร และทยอยสร้างหลังต่อๆไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดปัตตานี ขณะนี้แม้ว่าระดับน้ำในหลายพื้นที่จังหวัดปัตตานีเริ่มลดลง แต่ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังสูงและเอ่อล้นตลิ่งท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม ต.บาราเฮาะ ,ต.ปะกาฮารัง,ต.ตะลูโบ๊ะ อ.เมือง ระดับน้ำสูง 2 เมตร ถนนในหมู่บ้านรถทุกชนิดผ่านได้ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ และในเขตเทศบาลบางส่วนใน ตำบลจะบังติกอ โดยเฉพาะถนนหลังวังระดับน้ำ 1-2 เมตร บ้านเรือนราษฏรยังจมอยู่ในน้ำ 3,000 ครัวเรือน
โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ เดินทางเข้าช่วยเหลือประชาชนบ้านเจะดี ต.ปะกาฮารัง ม.8 อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่เกิดน้ำท่วมอย่างหนักทั้งหมู่บ้าน 180 หลังคาเรือน โดยนำถุงพระราชทาน 20 ถุง และถุงยังชีพ 180 ถุง ไปแจก พร้อมสำรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายเพื่อจัดกำลังทหารช่างเข้าไปช่วยซ่อมแซม พร้อมทั้งมีชุดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากศูนย์แพทย์ทหารบก จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกตรวจสุขภาพ พบชาวบ้านเป็นโรคกัดเท้านับร้อยคน
ข้างล่างสภาพบ้านเรือนประชาชนที่ที่หมู่บ้าน ดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่พังเสียหายจากเหตุวาตภัย
ด้าน นายกฯเตรียมชงที่ประชุมครม. 9 พ.ย.นี้ออกแพ็คเกจช่วยเหลือสวนยางถูกพายุพัดหักโค่น พร้อมช่วยผู้ประสบภัยพายุพัด-ดินถล่มจากฤทธิ์ดีเปรสชั่น ด้านสวนยางพัทลุงเสียหายหนัก 4 อำเภอ แรงงานจ่อตกงานอื้อ
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปช่วยน้ำท่วมที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช โดยกล่าวว่า จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ให้พิจารณาเพิ่มหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ไม่เข้าเกณฑ์น้ำท่วม เช่น ถูกพายุพัด ดินถล่มได้รับความเสียหาย รวมทั้งจะเสนอให้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันด้วย
“รัฐจะไม่ละเลยผู้ประสบภัย โดยจะเสนอครม. ปรับงบประมาณในการช่วยเหลือให้สอดคล้องในพื้นที่แต่ละภูมิภาคที่ประสบภัยและมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการขยายหลักเกณฑ์เรื่องเงินช่วยเหลือทรัพย์สิน และพื้นที่ทางการเกษตร”นายอภิสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ภายหลังจากจัดรายการเชื่อมันประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ในช่วงเช้าแล้ว นายกฯ ได้เดินทาง ไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัย และน้ำป่าไหลหลากที่บ้านคลองเหลง ต.ควนทอง อ.ขนอม และที่บ้านเขาหลัก ต.ทุ่งใส อ.สิชล โดยได้มอบเงินเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย เป็นหัวหน้าครอบครัว 4 ราย ๆ ละ 50,000 บาท และเป็นสมาชิกครอบครัว 3 ราย ๆ ละ 25,000 บาท และกรณีบ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหลังเบื้องต้น จำนวน 4 หลัง ๆ ละ 30,000 บาท
สวนยางพัทลุงพังยับ แรงงานจ่อตกงาน
นายสุชาติ สาเหล็ม กำนันตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สวนยางในเขตพื้นที่ จ.พัทลุงได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากถูกลมพายุพัดถล่มเมื่อวันที่ 2 พย.ที่ผ่านมา โดยสวนยางพาราประสบความเสียหายล้มลงในหลายพื้นที่ และหลายสวนล้มทั้งหมด ประมาณ 40 -50 ไร่ โดยเฉพาะหนักที่สุดในพื้นที่ อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว อ.เขาชัยสน อ.ควนขนุน อ.ป่าบอน และ อ.ตะโหมด
“ต้นยางพาราได้รับความเสียหายในเบื้องต้นประมาณ 10,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามตัวเลขราคาตลาดของการซื้อขายยางพาราราคาไร่ละกว่า 200,000 บาท แต่ก็ยังไม่มีใครขาย เพราะยางพาราในขณะนี้ราคากว่า 100 บาท /กก. และมีรายได้บางรายประมาณ 5,000 – 6,000 บาท / วัน”นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ยางพาราได้รับความเสียหายครั้งนี้ประเมินค่ามิได้ เพราะยางพาราจะให้ผลประโยชน์ถึง 35 – 40 ปี / ไร่ และในการปลูกยางพาราใหม่ ต้องใช้เวลาประมาณ 7 – 10 ปี กว่าได้รับผลประโยชน์ สวนยางที่เสียในครั้งนี้ บางสวนเพิ่งกรีดได้ไม่ถึงปี ยังจะได้รับผลประโยชน์กว่า 30 ปี
“ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้น คือชาวสวนยางพารา ทั้งเจ้าของ และคนรับจ้างกรีด จะว่างงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่มีอยู่กว่า 1 ล้านครัวเรือนในทั้งประเทศ โดยภาคใต้มีสัดส่วนมากที่สุด”นายสุชาติกล่าว
ชี้ความเสียหาย1.5ล้านบาทต่อไร่
ขณะที่ นายเพิก เลิศวางพงศ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่าชาวสวนยางได้รับความเสียในครั้งนี้ รัฐจะต้องออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากยางพาราให้ผลประโยชน์ถึง 30 – 40 ปี โดยมีรายได้ประมาณ 30,000 บาท / ไร่ / ปี เฉลี่ยแล้วได้รับความเสียหายประมาณ 1.5 ล้านบาท / ไร่ และต้องปลูกใหม่ต้องใช้เวลาอีก 7 ปี จะต้องสูญเสียไปกว่า 200,000 บาท / ไร่
พื้นที่เกษตรพัทลุงเสียหาย 4 แสนไร่
นายวสันต์ กู้เกียรติสกุล เกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรพัทลุงที่ประสบภัยน้ำท่วม ประมาณ 428,330 ไร่ และที่ได้รับความเสียหาย จะเป็นนาข้าว 90,000 ไร่ พืชผักประมาณ 10,000ไร่ สวนผลไม้ และยางพารา กว่า 100,000 ไร่ สำหรับยางพาราที่ได้รับความเสียหายนั้นไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสวนยางพาราที่กรีดกันได้อย่างมาตรฐานและมีคุณภาพ จะกรีดได้ถึง 30 ปี
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1783 ครั้ง