ในโอกาสประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤศจิกายนนี้ ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยจะใช้โอกาสในช่วงเดือนพฤศจิกายน เชิญชวนทุกภาคส่วนมาทำข้อตกลงร่วมกัน และประกาศเจตนารมณ์หยุดยั้งพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ ในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,136 คน เมื่อวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้
ประชาชนถึงร้อยละ 93.1 เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาที่รุนแรงถึงรุนแรงมาก โดยการทุจริตคอร์รัปชันที่ประชาชนคิดว่าเป็นปัญหารุนแรงมากที่สุดในขณะนี้ได้แก่ การใช้อิทธิพลทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ (ร้อยละ 40.8) รองลงมาคือ การจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วประมูล (ร้อยละ 16.4) และการใช้นโยบาย/ใช้กฎหมาย แบบ 2 มาตรฐาน (ร้อยละ 13.0) ตามลำดับ
สำหรับนักการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตมากที่สุดได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 49.8) รองลงมาคือ นายชวน หลีกภัย (ร้อยละ 30.3) และนายกรณ์ จาติกวณิช (ร้อยละ 2.2)
ส่วนนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตน้อยที่สุดได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ร้อยละ 39.2) รองลงมาคือ นายเนวิน ชิดชอบ (ร้อยละ 24.2) และนายโสภณ ซารัม (ร้อยละ 8.3) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่นายกฯ อภิสิทธิ์กล่าวผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่นายกฯ ประกาศออกมาทั้ง 4 เรื่องจะทำให้เกิดผลได้จริง โดยเรื่องการปรับปรุงระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำให้โปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องที่ประชาชนเชื่อว่าจะไม่สามารถทำให้สำเร็จผลได้มากที่สุด รองลงมาคือ การปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ส่วนเรื่องที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ในวันที่ 10 – 13 พ.ย. นี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 75.8 ไม่ทราบว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อถามว่าหลังการประชุมแล้วปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72.3) เชื่อว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยจะยังคงเหมือนเดิม มีเพียงร้อยละ 15.5 ที่เชื่อว่าจะน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 12.2 เชื่อว่าจะมากขึ้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1243 ครั้ง