แม้ว่าสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่บางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ยังเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมดินโคลนถล่ม เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน นายวิทเยนทร์ มุตตามระ รองผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) แถลงหลังการประชุมว่า เหตุการณ์อุทกภัยและวาตภัยครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 181 คน
ขณะนี้ภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากวันที่ 9-11 พฤศจิกายนนี้ จะมีฝนตกค่อนข้างหนัก แต่จะไม่หนักมากเหมือนช่วงที่ท่วมหาดใหญ่ จ.สงขลา และไม่มีพายุเข้า หลังวันที่ 11 พฤศจิกายน ฝนจะซาลง แต่น้ำที่สะสมบนภูเขาอาจมีดินโคลนถล่ม หรือน้ำป่าไหลหลาก จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไปนี้อพยพ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.พรหมคีรี อ.ท่าศาลา อ.ลานสกา และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช, อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี, จ.พัทลุง อ.กงหรา, จ.ชุมพร อ.หลังสวน อ.สวี อ.ละแม และอ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำตาปี คาดว่าวันที่ 10 พฤศจิกายน จะดีขึ้น
วันเดียวกัน น้ำเริ่มเข้า อ.เมือง จ.อุบลราชธานี แต่ปริมาณไม่มาก ยังไม่ล้นตลิ่ง จากนั้นวันที่ 10-11 พฤศจิกายน น้ำจากแม่น้ำมูลจะเข้า จ.อุบลราชธานี แต่ระดับน้ำไม่สูง ประมาณ 30 เซนติเมตร น้อยกว่าที่คาดไว้ 10 เซนติเมตร ส่วนแม่น้ำชีไหลจาก จ.ร้อยเอ็ด ล้นตลิ่งที่ทุ่งเขาหลวง อ.เสลภูมิ และอ.อาจสามารถ เข้าสู่ อ.เมือง จ.ยโสธร วันที่ 11 พฤศจิกายน ขณะที่น้ำจากแม่น้ำชีคาดว่าจะเข้า จ.อุบลราชธานี วันที่ 18-20 พฤศจิกายน ดังนั้นลำน้ำมูลกับลำน้ำชีจะไหลเข้า จ.อุบลราชธานี เวลาที่ไม่พร้อมกัน
ส่วนสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำขึ้นสูงเล็กน้อย อยู่ที่ 2.06 เมตร และจะลดลงเรื่อยๆ ในหลายจังหวัดทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี และอ่างทอง ระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ ศชอ.เร่งให้ระบายออก หลังจากนี้ระดับน้ำทะเลหนุนจะลดลงทำให้การระบายน้ำง่ายขึ้น ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงมีน้ำท่วมใน 27 ชุมชนที่อยู่นอกแนวกั้น จะท่วมเฉพาะในเวลาที่น้ำขึ้นสูงตอนเช้าและตอนค่ำเท่านั้น สำหรับการแจ้งร้องเรียนที่ศูนย์ 1111 จากวันละ 1,000 สาย เหลือเพียง 47 สาย
เล็งฟื้นฟูน้ำท่วม 7 จว.
“แผนการฟื้นฟูจะเริ่มจาก 7 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ นครสวรรค์ ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี และ สุพรรณบุรี แต่จะเริ่มต้นที่ จ.นครสวรรค์ เนื่องจากมีการเสนอแผนฟื้นฟูเข้ามาสมบูรณ์แบบที่สุด โดยทุกหน่วยงานภาครัฐจะระดมสรรพกำลังไปเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นอกจากนี้กรณีที่บ้านประชาชนถูกไฟใหม้ใน จ.ลพบุรี จ.พิจิตร จ.ปราจีนบุรี เราได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทยบริจาควัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด 1.1 ล้านบาท ส่วนแรงงานจะใช้จากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ” นายวิทเยนทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวการหักหัวคิวค่าช่วยเหลือประชาชน 30% นายวิทเยนทร์ กล่าวว่า ในส่วนของเงินเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาท ไม่มีทางที่จะคอรัปชั่นได้ เพราะเป็นการโอนเข้าไปยังธนาคารออมสินไม่ได้ผ่านมือใคร ผู้ที่รับต้องใช้บัตรประชาชน ส่วนการใช้งบในวงเงิน 238 ล้านบาท จัดซื้อสิ่งของของ ศชอ.ยืนยันว่าได้พิจารณาอย่างละเอียด หากมีการเสนอราคามาไม่เหมาะสมก็ไม่อนุมัติ ที่ผ่านมาก็ไม่อนุมัติให้จัดซื้อหลายรายการ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายว่าต้องไม่ให้มีการคอรัปชั่นเด็ดขาด
เล็งชดเชยสวนยางไร่ละ 1.7 หมื่น
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุมอนุมัติในหลักการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ประสบอุทกภัยและวาตภัยทุกกลุ่มโดยเท่าเทียมกันทั้งภาคใต้และภาคเหนือบางส่วน ไม่เฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในกองทุนสงเคราะห์สวนยางเท่านั้น โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อนำเสนอกลับเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ทั้งจำนวนผู้ได้รับการชดชยและอัตราเงินชดเชยที่ชาวสวนจะได้รับ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน มีพื้นที่เสียหายจำนวน 5.48 แสนไร่ เป็นความเสียหายจากอุทกภัย 4.6 แสนไร่ และจากวาตภัย 5.2 หมื่นไร่
“ที่ประชุมมีการหารือกันในประเด็นนี้ค่อนข้างมาก และมีข้อเสนแนะหลายแนวทางจึงยังไม่ได้ข้อยุติ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ต้องสามารถช่วยเหลือผู้ปลูกยางให้ได้ประโยชน์สูงสุด เบื้องต้นมีข้อเสนอให้จ่ายชดเชยเท่าต้นทุนการปลูกยางต่อไร่ประมาณ 1.1 หมื่นบาท บวกกับเงินชดเชยของกระทรวงเกษตรฯ อีก 55% ของต้นทุนหรือเป็นเงิน 6,000 บาท รวมเป็น 1.7 หมื่นบาทต่อไร่ รัฐมนตรีบางคนมองว่าสูงเกินไป แต่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ ระบุว่าต้นทุนจริงสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ และยางพาราใช้เวลาในการปลูกนาน” นายวัชระ กล่าว
นอกจากนั้นต้นยางที่ล้มจากพายุและน้ำท่วมนั้น ได้มอบหมายให้ คชอ.เป็นเจ้าภาพประสานกับสภาอุตสาหกรรมในการหาแนวทางเข้ามารับซื้อไม้จากชาวสวน รวมถึงการกำหนดราคาที่เหมาะสม โดยนายกฯ กำชับให้เร่งดำเนินการและนำเสนอเข้า ครม.สัปดาห์หน้าเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีของสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย หรือในที่ไม่ควรปลูกนั้นได้ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรงเกษตรฯ ไปพิจารณาแนวทางดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติมด้วย
ดึงงบเหลื่อมปี 5.3 หมื่นล้านโปะ
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ ใช้หลักการเดียวกันพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท ยังอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจน รวมถึงกรณีที่อุปกรณ์จับปลาและทำการประมงได้รับความเสียหาย เห็นชอบให้จ่ายชดเชยเช่นเดียวกับผลกระทบสึนามิ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนวงเงินให้เหมาะสมและตรงกับความเป็นจริงที่สุด
ส่วนเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูหลังน้ำลด นายกฯ ได้สอบถามถึงเงินเหลือจ่ายหรือเงินกันเบิกเหลื่อมปีของปีงบ 2552 และ 2553 โดยสำนักงบประมาณได้รายงานเงินกันเบิกเหลื่อมปี 2552 มีวงเงินเหลือทั้งสิ้น 29,085 ล้านบาท ปี 2553 เหลือ 29,601 ล้านบาท รวม 2 ปี มีเงินทั้งสิ้น 58,686 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องหักภาระเงินที่ต้องเบิกจ่ายเป็นรางวัลหรือโบนัสของข้าราชการ จำนวน 5,500 ล้านบาท ดังนั้นจะมีเงินเหลือของปี 2552 และ 2553 ทั้งสิ้น 53,186 ล้านบาท โดยส่วนนี้นายกฯ ขอให้นำมาใช้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมและวาตภัยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเงินที่ยังไม่ได้ทำสัญญา เงินที่อยู่ในโครงการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนสามารถชะลอก่อนได้และเงินในโครงการที่ล้าช้าไม่เป็นไปตามกำหนด
คาดรัฐใช้เยียวยาถึง 1 แสนล้าน
นายวัชระ กล่าวด้วยว่า ครม.ได้รับทราบการปรับวงเงินงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง ขณะนี้มีการเสนอเข้ามาแล้ว 8 โครงการ จำนวน 2,648 ล้านบาท จากกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเป็นของกระทรวงเกษตรฯ 7 โครงการ และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 1 โครงการ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4,000 ล้านบาท นายกฯ ขอให้เสนอเข้ามาใหม่ในสัปดาห์หน้า โดยจะให้นำงบดังกล่าวไปใช้ในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ซ่อมถนน สะพาน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและวาตภัยแทน
“เบื้องต้นรัฐบาลต้องใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท ชดเชยความเสียหายผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง แต่เมื่อรวมพื้นที่ภาคใต้ด้วย นายไตรรงค์ประเมินเบื้องต้นอาจต้องใช้งบสูงถึง 1 แสนล้านบาท โดยใช้เงินในงบกลางของปี 2554 รวมกับงบเหลื่อมปีของปี 2552-2553 โดยขณะนี้ยังไม่ได้พูดถึงการนำเงินคงคลังออกมาสำรองใช้แต่อย่างใด เพราะคิดว่าที่เตรียมไว้น่าจะเพียงพอ” นายวัชระ กล่าว
ทั้งนี้นายกฯ ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ ไปหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยด้วย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมผ่านทางแบงก์รัฐและแบงก์เอกชน เพราะมาตรการที่ผ่านมาทั้งการลดดอกเบี้ยและขยายเวลาชำระหนี้หรือพักหนี้นั้นไม่เพียงพอ ต้องมีการสนับสนุนสินเชื่อใหม่อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยสรุปมาตรการฟื้นฟูการเกษตรหลังสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัย ดังนี้ สวนยางพาราไร่ละ 1.7 หมื่นบาท (เบื้องต้น) นาข้าวไร่ละ 2,098 บาท พืชไร่ไละ 2,921 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 4,908 บาท สำหรับพืชสวนและไม้ยืนต้นที่ยังไม่ตาย 2,454 บาท ปลา 3,406 บาท (ไม่เกิน 5 ไร่) กุ้ง ปู และหอย 9,098 บาท (ไม่เกิน 5 ไร่) สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชังหรือบ่อตารางเมตรละ 257 บาท (ไม่เกิน 80 ตร.ม.)
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1995 ครั้ง