“เลขาศูนย์ทนายความมุสลิม” จี้รื้อกระบวนการยุติธรรมในชายแดนใต้ หลังพิสูจน์ชัด “จีที 200” ที่ไร้ประสิทธิภาพ เผยที่แล้วมาเครื่องมือนี้ถูกใช้กวาดผู้บริสุทธิ์ให้ตกบ่วงคดีความมั่นคงจำนวนมาก แถมขบวนการสอบสวนก็ไร้ระเบียบ มีการทรมานทั้งกายและใจเหยื่ออันเป็นการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน ระบุแค่ปีที่แล้วปีเดียวมีถึงกว่า 500 คดีที่เกิดจากเครื่องมือที่มีค่าแค่ไม้ล้างป่าช้า และเมื่อถึงศาลมีการยกฟ้องไปแล้วถึง 39% ประกาศเร่งตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนใน จ.สงขลาตั้งรับผลกระทบจากไฟใต้
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา เปิดเผยถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ว่า การใช้เครื่องมือจีที 200 ที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น ยิ่งตอกย้ำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นในสังคมมากขึ้น และส่งผลกระทบการละเมิดด้านสิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์มาโดยตลอด
ทั้งนี้ ในปี 2550 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดยุทธการตรวจค้นและจับกุมอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ โดยมีการนำเครื่องมือจีที200 มาใช้มากที่สุด และน่าเป็นห่วงว่าผลการทำงานของรัฐในห้วงที่ผ่านมาสถิติของหน่วยงานรัฐเองชี้ว่า คดีเกี่ยวกับความมั่นคง มีอัตราการยกฟ้องสูงถึง 39.61% ซึ่งเทียบกับประเทศที่มีความเจริญแล้วมีเพียง 3% เท่านั้น สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นทางที่ต้องมีการตรวจสอบและทำงานอย่างรัดกุมมากขึ้น และต้องรื้อระบบกันใหม่
ปัญหาเหล่านี้ทำให้มีศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนความไม่เป็นธรรมทุกวัน เฉพาะปี 2552 มีการร้องเรียนจากญาติและครอบครัวของผู้ต้องสงสัย-ผู้ต้องหามากกว่า 1,300 คดี โดย 500 คดีนั้นมีสาเหตุมาจากการใช้เครื่องมือในการตรวจสอบสารขั้นต้นระเบิด หรือจีที200 ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทำให้มีการควบคุมตัวบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง สูญเสียอิสรภาพ และได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายใจ อีกทั้งจนถึงขณะนี้ก็ยังมีบางหน่วยงานที่เดินหน้าใช้เครื่องมือนี้ต่อไปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
ซึ่งกระบวนการหลังจากที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยนั้นจะมีการควบคุมตัวนาน 7 วันเพื่อไปซักถามและทำให้มีการรับสารภาพ ก่อนที่จะคุมตาม พรก.ฉุกเฉิน และมีการซักถามตามมาอีกครั้ง โดยระหว่างกระบวนการซักถามพบว่า ไม่มีระเบียบในการซักถาม บีบคั้นให้รับสารภาพ ทั้งการทำร้ายร่างกายและทรมานจิตใจ เช่น นำไปในสถานที่ไม่เหมาะสม ทั้งตู้คอนเทนเนอร์แล้วเร่งแอร์ให้หนาวจัด หรือเปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง อันเป็นการกดดันและทรมานจิตใจจนเกิดความเครียด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อนำคำสารภาพเป็นหลักฐานไปแจ้งจับตาม ป.วิอาญา แต่หลายเคสพบว่ามีประจักษ์พยานน้อยมาก
“เมื่อเร็วๆ นี้มีการร้องเรียนจากญาติผู้เสียหายว่ามีการนำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร และเมื่อได้ขออนุญาตเข้าเยี่ยมก็พบแผลตามตัว ซึ่งเรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในระหว่างการควบคุมตัว แต่จะดีขึ้นถ้านำไปสู่ ศปก.ยะลา นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเดิมที่เรามีการเรียกร้องมาโดยตลอด คือการให้สิทธิผู้ต้องสงสัยสามารถเรียกหาบุคคลใกล้ชิดหรือทนายความได้ระหว่างที่มีการสอบสวน เพราะการเป็นผู้ต้องสงสัยนั้นไม่มีข้อหา” นายสิทธิพงษ์กล่าว และว่า
ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือนั้น หลังจากที่มีการรับเรื่องร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ศูนย์ทนายความมุสลิมจะส่งผู้ช่วยทนายความติดตามและให้ความช่วยเหลือในการรักษาสิทธิเบื้องต้น เช่น จำนวนวันที่สามารถควบคุมตัวไว้ได้ สิทธิในการเข้าเยี่ยมจากญาติ ป้องกันการถูกซ้อม ถูกจับซ้ำซ้อน เป็นต้น และจะมีทนายความเข้าช่วยเหลือฟรีเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งแต่ละคดีแม้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์และศาลยกฟ้องแล้วต้องกินเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่งคือ จำเลยร้อยละ 90% ล้วนเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้มีความสูญเสียและบอบช้ำในวงกว้างมากกว่าที่คิด และรัฐยังขาดเรื่องการเยียวยาเหยื่อในกลุ่มนี้
นายสิทธิพงษ์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า ขณะนี้ศูนย์ทนายความมุสลิมกำลังจะเปิดศูนย์เพื่อรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งมี 4 อำเภอที่อยู่ภายใต้ พรบ.ความมั่นคง ซึ่งมีการประกาศใช้ใหม่และจำเป็นต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิ ความไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1519 ครั้ง