วันที่ 16 พ.ย.53 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2553 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดูเหมือนจะยังอยู่ในความรุนแรง การก่อเหตุด้วยการทำลายชีวิตและทรัพย์สินที่คล้ายจะลดลงในตอนต้นปีที่ผ่านมา กลับมีระดับสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนและกันยายน ในเดือนตุลาคม เหตุการณ์การก่อความไม่สงบก็ยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในวันที่ 25 ตุลาคม อันเป็นวันครบรอบ 6 ปีของกรณีสังหารหมู่ในเหตุการณ์ตากใบ (25 ตุลาคม 2547) กล่าวโดยรวมนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนตุลาคม 2553 มีเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้เกิดขึ้น 10,386 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4,453 คน ผู้บาดเจ็บ 7,239 คน ถ้านับรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันจะมียอดรวมสูงถึง 11,692 คน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ มีสถิติการตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 2 คน สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้กระแสสันติภาพ การแก้ปัญหาความยุติธรรมและการพัฒนาจะถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยรัฐ เพื่อยุติหรือลดระดับความรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่ง บทเพลงแห่งความรุนแรง สงครามและการเรียกร้องความยุติธรรมก็ยังถูกบรรเลงขับขานสะท้อนก้องอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงและพลวัตของสถานการณ์ในพื้นที่ยังสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่ว่า ทางออกแห่งสันติยังต้องสร้างสรรค์กันต่อไปในท่ามกลางสถานการณ์อันซับซ้อนดังกล่าว
“เมื่อเทียบจำนวนและสัดส่วนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บโดยดูที่ภูมิหลังทางด้านศาสนา ร้อยละ 59.02 (2,628 คน) ของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนอีกร้อยละ 38.15 (1,699 คน) ของผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด ร้อยละ 60.13 (4,353 คน) เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ อีกร้อยละ 32.68 (2,362 คน) เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เหยื่อจากการโจมตีในกลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนมากจะเป็นคนมุสลิม ส่วนในกลุ่มเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ส่วนมากและในสัดส่วนที่มากกว่า จะเป็นคนพุทธ จากช่วงเวลา 6 ปี 10 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงแรกนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เริ่มมีระดับลดลงในช่วงกลางปี 2550 อันเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐในการควบคุมและจำกัดพื้นที่ของการก่อความรุนแรงด้วยการระดมกำลังพล และใช้อำนาจแห่งกลไกกฎหมายพิเศษเพื่อกดความรุนแรงในพื้นที่หลายแห่งให้ลดลง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการปิดล้อมตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปจำนวนมากถึงประมาณ 3,000 กว่าคน แม้ว่าจะมีการปล่อยตัวคนเหล่านี้ไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน กระนั้นก็ตาม แม้โดยเฉลี่ยระดับของความรุนแรงนับจากความถี่หรือจำนวนครั้งของเหตุการณ์หลังจากนั้นจะลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปี 2550 แต่ก็ควรสังเกตด้วยว่า เหตุการณ์ในช่วงหลังจากปี 2550 มีลักษณะที่แกว่งไกวขึ้นสูงๆต่ำๆอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาโดยตลอด และในบางครั้งบางช่วงระดับของเหตุการณ์ก็จะพุ่งสูงโด่งขึ้นอย่างฉับพลันในลักษณะซิกแซกสลับฟันปลาอย่างเห็นได้ชัดเจน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังกล่าวอีกว่า ลักษณะพิเศษของสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ระยะหลังส่อให้เห็นแนวโน้มที่ว่า แม้จำนวนครั้งและความถี่ รวมทั้งพื้นที่ของการก่อความไม่สงบจะลดลง แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นตัวคงที่ก็คือ ระดับของการตายและความสูญเสียที่เกิดจากความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ ภาพของข้อมูลการสูญเสีย (การเสียชีวิตและบาดเจ็บ) ที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนจะมีลักษณะแบบแผนที่ไม่ต่างกันมากนักระหว่างช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังปี 2550 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากรายงานความสูญเสียรายเดือน ข้อมูลล่าสุดก็ยังสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าเป็นความรุนแรงเชิงคุณภาพ ในขณะที่ระดับความถี่หรือจำนวนครั้งความรุนแรงน้อยลงแต่จำนวนการตายและบาดเจ็บก็ยังคงที่ กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือการก่อเหตุความรุนแรงลดลงแต่การก่อเหตุแต่ละครั้งมีแนวโน้มที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การมีระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นเป็นระยะๆ ก็เป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของสถานการณ์ภาคใต้ สำหรับสถานการณ์ในปี 2553 นี้ เดือนมิถุนายน กันยายนและตุลาคมเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ กล่าวคือในเดือนมิถุนายนมีเหตุการณ์จำนวนประมาณ 117 ครั้ง เดือนกันยายนมีเหตุการณ์สูงขึ้นอีกเป็นจำนวน 123 ครั้ง เดือนตุลาคมเช่นกันมีเหตุการณ์ความไม่สงบมากถึง ประมาณ 102 ครั้ง โดยเฉพาะในเดือนกันยายนนั้นอาจจะถือได้ว่ามีระดับความรุนแรงสูงที่สุดในรอบ 10 เดือนของปี 2553 ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น อาจจะนับได้ว่าสูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเพราะว่าสถิติรายเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2550 เป็นต้นมาเหตุการณ์ความไม่สงบในภาพรวมของพื้นที่ลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากนั้นนับเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่ระดับความรุนแรงรายเดือนยังไม่เคยสูงเท่าเดือนกันยายน 2553 นี้
“เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนมิถุนายนและเดือนกันยายนปี 2553 นี้ยิ่งสูงเด่นมากเมื่อเทียบสถิติรวมการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในทุกรอบ 15 วันนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2550 ในรอบ 15 วันนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 105 ครั้ง นับตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา จนถึงปี 2553 ไม่เคยมีช่วงเหตุการณ์ในรอบ 15 วันช่วงใดที่สถิติเกินกว่า 80 ครั้งเลย แต่ปรากฏว่าในรอบ 15 วัน ระหว่างวันที่ 1-15 มิถุนายนปี 2553 นี้ มีเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 89 ครั้ง และในระหว่างวันที่ 1-15 กันยายนปีนี้เช่นกันที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 83 ครั้ง ก็นับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบสามปีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เมื่อดูสถิติการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 15 วัน ช่วงเวลาสองเดือนระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2553 นับเป็นช่วงเวลาที่มีการสูญเสียมาก มีการตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉลี่ยวันละ 2.1 คน” ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯ ระบุ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1400 ครั้ง