|
||
นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ในวันอังคาร (23 ก.พ.) ยอมรับในคำพูดที่เตรียมไว้สำหรับเข้าให้ปากคำรัฐสภาอเมริกัน ว่าบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้อาจเร่งรีบขยายการผลิตมากเกินไปเพื่อขึ้นชั้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จนนำไปสู่ข้อบกพร่องต่างๆที่เป็นอันตรายที่เป็นเบื้องหลังการเรียกคืนครั้งมโหฬาร
“โตโยต้าได้ขยายกิจการอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างตรงไปตรงมา ผมหวั่นเกรงว่ามันคงเป็นอัตราที่เติบโตเร็วเกินไป” คำพูดของเขาที่เตรียมบอกกับรัฐสภาสหรัฐฯ
ในคำพูดของเขาที่เตรียมไว้สำหรับให้ปากคำกับรัฐสภาสหรัฐฯในวันพุธ(24) เขายอมรับว่า “ลำดับความสำคัญตามปกติของโตโยต้าเข้าสู่ภาวะสับสน ทำให้เราไม่สามารถหยุด ไตร่ตรองและปรับปรุงแก้ไขได้อย่างที่เราเคยทำมาก่อน”
โตโยดะ ได้กล่าวขอโทษอีกครั้งสำหรับข้อบกพร่องต่างๆในรถยนต์ของค่ายยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ในจำนวนนั้นรวมไปถึงปัญหาคันเร่งค้างที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นตอให้มีผู้ขับขี่ชาวสหรัฐฯ ราว 30 คนเสียชีวิตและจุดชนวนเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคัน “ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งต่ออุบัติเหตุใดๆ ที่ผู้ขับขี่โตโยต้าต้องประสบ”
ทั้งนี้ โตโยดะ จะเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการกำกับตรวจและการปฏิรูปภาครัฐบาลของสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธนี้(24) หลังจากผู้บริหารของโตโยต้าหลายคน ถูกซักถามอย่างหนักหน่วง จากสภาคองเกรสเมื่อวันอังคาร(23)
“เราไล่ตามการเติบโตเหนือความรวดเร็วในการพัฒนาคนและองค์กรของเรา และเราควรจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องนั้นอย่างจริงใจ” โตโยดะยอมรับ พร้อมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวหนึ่งที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในชิคาโก
เขายังได้พูดถึงความเจ็บปวดส่วนตัวต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งก่อตั้งโดยปู่ของเขาและเวลานี้ประสบกับวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 70 ปีของบริษัท “ผมรักรถยนต์เช่นเดียวกับทุกคน และผมก็รักโตโยต้าเหมือนเช่นใครๆ” เขากล่าว พร้อมประกาศว่าจะพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและกระบวนเรียกคืนรถยนต์
ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้ายอมรับว่า บริษัทตอบสนองต่อปัญหาด้านความปลอดภัยช้าเกินไป ขณะที่ โตโยดะ บอกว่าจะมีการจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาด้านคุณภาพขึ้นใหม่ จำนวนนั้นรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
นายจิม เลนซ์ ประธานฝ่ายขายโตโยต้าในสหรัฐฯ บอกกับคณะกรรมาธิการพาณิชย์และพลังงานของสภาคองเกรส ว่าบริษัทใช้เวลานานเกินไปในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก และยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของบริษัทในการจัดการกับปัญหาคันเร่งค้างกะทันหัน
อย่างไรก็ตาม เลนซ์ ยืนยันว่าจุดยืนของโตโยต้าคือปัญหาต่างๆเกี่ยวกับคันเร่งไม่เกี่ยวข้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรถยนต์ ขณะที่เรย์ ลาฮูด รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐฯ ก็เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ขององค์การเพื่อความปลอดภัยของการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไม่พบหลักฐานว่ามีข้อบกพร่องตรงส่วนนี้เช่นกัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2310 ครั้ง