นายกฯ ลั่น รัฐบาลเร่งช่วยทำคลอด กสทช.มั่นใจพ.ร.บ.กสทช.ฉบับนี้ไร้ปัญหาสรรหากรรมการ เดินหน้า 3 G คุ้มครองเสรีภาพสื่อให้ดูแลกันเอง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ และโทรคมนาคมหลังกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯฉบับใหม่บังคับใช้ : โจทย์ต่อไปคืออะไร? จัดโดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่า ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของส่วนรวมที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.)ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงกฎและกติกาต่างๆโดยเฉพาะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระโดยเร็ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ากิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมไม่อาจจะแยกออกจากกัน เพราะเกิดความหล่อหลอมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรหรือคลื่นความถี่ควรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมที่นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามความสับสนเรื่องนโยบายหรือการกำกับดูแลรวมถึงอำนาจหน้าที่ได้เกิดความชัดเจนขึ้นแล้วตามกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการคัดสรรคณะกรรมการ กสทช. เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาความล่าช้าในการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสำหรับนโยบายการสนับสนุน กสทช.ของรัฐบาลตามที่เป็นไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด คือทางรัฐบาลต้องสนับสนุนเครือข่ายให้ครอบคลุมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการคุ้มครองวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่สำคัญได้ครอบคลุมการกำกับดูแลเทคโนโลยี 3 G ซึ่งนับเป็นการแก้ไขปัญหาการหลอมรวมเทคโนโลยี และเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนอย่างมาก
นอกจากนี้เมื่อเกิด กสทช.แล้วในกฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มบทบาทการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม, การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, การคุ้มครองผู้บริโภค และความสัมพันธระหว่างรัฐบาลกับ กสทช.เป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกัน และสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและจรรยาบรรณของทั้งสื่อสารมวลชนและประชาชน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าสำหรับบทบาทของรัฐบาลมีดังนี้ คือ 1.การสนับสนุน กสทช.ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าเกิดปัญหาการโต้เถียงและความล่าช้าในการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. แต่กฎหมายฉบับนี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและสามารถรับประกันได้ว่าการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.จะเป็นไปตามกรอบเวลา
2. การกำหนดนโยบายตามมาตรา 74 กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพราะทางรัฐบาลตระหนักดีว่ากิจการโทรคมนาคมมีความสำคัญในการพัฒนาคน การศึกษา เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้ภาพรวมทางรัฐบาลได้สนับสนุนให้เกิดแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นั้นคือทางรัฐบาลจะดูแลกฎกติกาให้เกิดการแข่งขันที่มีความเสมอภาคและแก้ปัญหาการผูกขาดหรือเหลื่อมระหว่างการกำกับดูแลกิจการองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่ทับซ้อนกันอยู่ รวมถึงการออกแผนบอร์ดแบนด์ แห่งชาติ เพื่อให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วย
3. การเจรจาความตกลงระหว่างประเทศโดยทาง กสทช.จะมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือจากการดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมภายในประเทศ
4. การติดตามและการรายงานผลการทำงานที่ กสทช.ต้องรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้รับทราบ 5. การเร่งรัดผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเพื่อให้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบด้วย 6. การกำกับดูแลหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่เป็นไปตามกฎหมายกำหนดที่เป็นทั้งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรรัฐวิสาหกิจ
7. จรรยาบรรณแม้ว่ากฎหมายฉบับใหม่ กสทช.ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อนำไปสู่การผลักดันการดำเนินการให้อยู่ในกรอบจริยธรรม ขณะที่ทางรัฐบาลเห็นว่าในส่วนของวิชาชีพสื่อสารมวลชนควรให้เป็นการกำกับตรวจสอบและดูแลกันเองโดยล่าสุดทางรัฐบาลมีนโยบายผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิชาชีพสื่อเพื่อให้กฎหมายนี้ออกสู่สภาโดยเร็วเพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพสื่อสารมวลชน
และ 8. ความผิดในกฎหมายคอมพิวเตอร์ต้องมีการทบทวนการบังคับใช้ และ 9.การจัดระบบการใช้สื่อสมัยใหม่ เพราะปัจจุบันสังคมออนไลน์เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเป็นสื่อสารข้อมูลข่าวสารได้ แต่เกิดข้อกังวลว่าข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากนักสื่อสารมวลชนที่มืออาชีพ ดังนั้นควรมีการวางกฎกติมารยาทเพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐด้วย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1772 ครั้ง