รูปภาพ : นายฮุเซยิน เออร์คาน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารตลาดหลักทรัพย์อิสตันบูลของตุรกี
ที่มา : Bloomberg
องค์การที่ประชุมอิสลาม หรือ OIC (Organization of the Islamic Conference) ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนกลุ่มประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดกำลังมองหาลู่ทางในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยการออกดัชนีหุ้นอิสลามที่เป็นไปตามหลักชารีอะห์จากประเทศสมาชิกทั้ง 57 ประเทศ
OIC ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเจดดาห์ได้ว่าจ้างบริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส หรือ เอสแอนด์พี ให้่ริเริ่มดัชนีของหุ้นที่มีการซื้อขายมากที่สุดประมาณ 50 ตัวภายในไตรมาสแรกของปี 2011 นายฮุเซยิน เออร์คาน (Huseyin Erkan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของตลาดหลักทรัพย์อิสตันบูลและผู้ประสานงานข้อริเริ่มดัชนีหุ้นอิสลามจากประเทศกลุ่ม OIC กล่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีซึ่งจะติดตามหุ้นจดทะเบียนที่ถูกต้องตามหลักอิสลามซึ่งห้ามเรื่องแอลกอฮอล์ การพนัน และบุหรี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเจ้ากลุ่มเป้าหมายกองทุน ETFs (Exchange-traded funds) เขากล่าว
“บรรดารัฐบาลของประเทศอิสลามต้องการให้เราร่วมมือในด้านตลาดทุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหุ้นข้ามพรมแดน” นายเออร์คานกล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กที่นครอาบูดาบี “หนึ่งในหนทางที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงการซื้อขายคือ การสร้างดัชนีและ ETFs ต่างๆขึ้นมา”
OIC ซึ่งมีประเทศ UAE อินโดนีเซีย และปากีสถานเป็นสมาชิกด้วยนั้นถือเป็นกลุ่มประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากองค์การสหประชาชาติ กำลังมองหาช่องทางในการเร่งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีและสหภาพเศรษฐกิจอิสลาม (Islamic Economic Unoin) สำหรับประชาการในชาติสมาชิกซึ่งมีมากกว่า 1,400 ล้านคนจากข้อมูลของเว็บไซต์ (http://www.sesric.org/imgs/news/Image/indicators_population.pdf) สินทรัพย์ที่ถือโดยกองทุนที่เป็นไปตามชารีอะห์คาดว่ามีอยู่ประมาณ 52,300 ล้านดอลลาร์ บริษัทบัญชีเอิร์นส์ แอนด์ ยัง (Ernst & Young) กล่าวในรายงานกองทุนและการลงทุนอิสลาม (Islamic Funds & Investment Report) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบรรดาบริษัทและรัฐบาลในตะวันออกกลางและเอเชียก็ได้นำเสนอดัชนีหุ้นและกองทุนอิสลามที่อิงกับหลักชารีอะห์เพื่อดึงดูดเงินทุนไหลเข้า
“แฟนตัวยง”
นายมาร์ก โมเบียส ประธานกรรมการบริหาร (Executive Chairman) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เทมเพลตัน จำกัด (Templeton Asset Management Ltd.) ได้กล่าวว่า เขาเป็น “แฟนตัวยง” (Big Fan) ของกองทุนอิสลามและ “สินทรัพย์ที่มีศักยภาพซึ่งมีอยู่ในอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์อิสลาม” มีมากกว่า 480,000 ล้านดอลลาร์
“ในฝั่งของหุ้นคือที่ซึ่งเราจะเห็นการเติบโตครั้งใหญ่ในอนาคตข้างหน้า” นายโมเบียสซึ่งบริหารกองทุนหุ้นประเทศเกิดใหม่มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ให้เทมเพลตันกล่าวในที่ประชุมในเมืองมานาม่า ประเทศบาห์เรน วานนี้ (24 พฤศจิกายน 2010) “ศักยภาพถือว่าสูงมากๆ”
บริษัทดาวโจนส์ แอนด์ โค (Dow Jones & Co.) และ บริษัทเอ็มเอสซีไอ อิงค์ (MSCI Inc.) ในปัจจุบันได้นำเสนอดัชนีหุ้นอิสลามซึ่งติดตามราคาหุ้นของบริษัทในสหรัฐฯ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ยุโรป และมาเลเซีย ดัชนี S&P 100 Pan Islamic Market ติดตามหุ้น 100 บริษัทจาก 6 ประเทศภูมิภาคอ่าวซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม GCC และประเทศในเอเชีย จากข้อมูลของบลูมเบิร์ก
บริษัทเบอร์ซ่า มาเลเซีย เบอร์ฮาด (Bursa Malaysia Bhd.) ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียในกรุงกัวลาลัมเปอร์และกลุ่มเอฟทีเอสอีนำเสนอดัชนีหุ้นอิสลามหลายดัชนีซึ่งรวมถึงดัชนี FTSE-Bursa Malaysia EMAS Shariah Index ซึ่งติดตามราคาหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางกว่า 271 บริษัท จากข้อมูลเวบไซต์ของเบอร์ซ่า มาเลเซีย
ยิ่งมากยิ่งคึกคัก
“ยิ่งมีดัชนีที่ครอบคลุมหุ้นอิสลามมากเท่าไรยิ่งดี” นายเชซาด จาน้าบ (Shezad Janab) หัวหน้า่ฝ่ายบริหารสินทรัพย์จากบริษัทดามาน อินเวสต์เมนต์ส พีเอสซี (Daman Investments PSC) ในดูไบกล่าวกับบลูมเบิร์กวานนี้ “มันเป็นวงจรที่มีพลัง ดัชนีที่มากขึ้นย่อมหมายถึงมีคนทำตามมากขึ้น การตระหนักที่ดีขึ้น และมันจะบังคับให้บริษัทที่อยู่ในดัชนีมีความโปร่งใสมากขึ้น”
ดัชนี Dow Jones Islamic Market World Index ซึ่งติดตามหุ้นทั่วโลกซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทุนแบบอิสลามและมีมูลค่าหุ้นตามรา่คาตลาดหรือ Market Capitalization (Market Cap) กว่า 12.8 ล้านล้านดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้น 6% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี Dow Jones Global Index เพิ่มขึ้น 5.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่พันธบัตรอิสลามให้ผลตอบแทน 11.7% นับแต่ช่วงต้นปี จากข้อมูลของดัชนพันธบัตรอิสลาม HSBC/NASDAQ Dubai US Dollar Sukuk Index
เอสแอนด์พีจะช่วย OIC จัดตั้งดัชนีอิสลามตัวที่ 2 ซึ่งครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น นายอเล็กซานเดอร์ มัตตุรี่ กรรมการผู้จัดการบริหาร (executive managing director) ของ S&P Indices กล่าว
“เหตุผลเบื้องหลังความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็คือ มันจะดึงดูดความสนใจจากทั้งนักลงทุรท้องถิ่นและนักลงทุนจากต่างประเทศซึ่งต้องการนำเงินทุนเข้ามา” นายมัตตุรี่กล่าวเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก ณ กรุงอาบูดาบีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “ดัชนีอิสลามในรูปแบบที่ซื้อขายได้จะถูกใช้เพื่อออกกองทุน ETFs”
ดึงดูดผ่าน ETFs
เอชเอสบีซี โฮลดิ้งก์ส ผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรอิสลามทั่วโลกรายใหญ่อันดับ 2 วางแผนที่จะเริ่้มทำ ETFs อิสลามในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ในายราซี ฟากิห์ (Razi Fakih) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธุรกิจธนาคารอิสลามของเอชเอสบีซีในดูไบกล่าวเมื่อเดือนตุลาคม กองทุน ETFs เหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าถึงตลาดในภูมิภาคได้มากขึ้น
ETFs จะช่วยให้ชาติสมาชิกกลุ่ม OIC ดึงดูดบางส่วนของเงินทุนไหลเข้ามูลค่ากว่า 79,900 ล้านดอลลาร์ที่เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ ซึ่งคาดว่ายอดเงินทุนไหลเข้าในปีนี้น่าจะทะลุยอด 83,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 จากข้อมูลของอีพีเอฟอาร์ โกลบอล ETFs คือ ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่อิงฐานของดัชนีซึ่งช่วยให้นักลงทุนสามารถซื้อและขายกลุ่มการลงทุนทั้งหมดของหุ้นหลายๆตัวได้ใน 1 หลักทรัพย์การเงิน
ดัชนีของกลุ่ม OIC จะช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนมีส่วนกับความมั่งคั่งที่มาจากน้ำมันของประเทศในอ่าวเปอร์เซียได้ นายชาร์เบล อัซซี่ (Charbel Azzi) หัวหน้าฝ่ายครอบคลุมลูกค้า (Client Coverage) ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของ S&P Indices กล่าว 1 ใน สมาชิกของ OIC ซึ่งก่อตั้งในปี 1969 รวมถึงซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม OPEC และ กาตาร์ ผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของโลก
ผู้เล่นระดับโลก
“คุณกำลังเล็งกลุ่มผู้เล่นอิสลามรายใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่เพียงระดับภูมิภาค” นายอัซซี่กล่าวกับบลูมเบิร์กที่ดูไบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “พวกเขาจะสามารถลงทุนในตลาดอิสลามซึ่งอยู่นอกเขต GCC หรือ ยุโรป คุณจะมีตลาดอิสลามทั้งหมดภายใต้ร่มเพียงหนึ่งเดียว”
ได้โอกาสมีส่วนร่วมกับตลาด
นายซัจจาด อันวาร์ ซึ่งช่วยบริหารเงินลงทุนมูลค่า 160 ล้านดอลลาร์ ในกองทุนอิสลามและกองทุนที่มิใช่อิสลามทีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็นบีพี ฟูลเลอร์ตัน จำกัด กล่าวว่า เขาจะลงทุนในกองทุนที่ติดตามบริษัทในชาติสมาิชิก OIC
“มันเป็นไปได้และทำได้จริงเนื่องจากดัชนีอิสลามจะช่วยสร้างรูปแบบมาตรฐานให้กับนักลงทุนในโลกอิสลาม” นายอันวาร์ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับบลูมเบิร์กจากนครการาจีวานนี้ “ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม”
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday