วันที่ 28 พ.ย.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดเวทีนโยบายสาธารณะ “จากบทเรียนวัดไผ่เงิน สู่ทางออกของปัญหาท้องแล้ว (ทำ) แท้ง” เพื่อระดมความเห็นและหาแนวทางในการแก้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนาว่า จากกรณีที่พบซากทารก 2,002 ศพที่วัดไผ่เงิน เป็นเครื่องยืนยันปัญหาทำแท้งในสังคมไทยที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะคนที่เป็นต้นตอของปัญหาคือ ผู้ชายที่ทำผู้หญิงท้องแล้วไม่รับ แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่มีข่าวยังไม่เคยมีใครสอบถาม หรือพูดถึงเท่าใดนัก ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ที่มีสวนทำให้เกิดทารก 2,002 ศพนี้ คือผู้ชาย ขณะที่สังคมส่วนหนึ่งอาจประณามผู้หญิงและคนที่ลงมือทำแท้ง รวมถึงสัปเหร่อวัด ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมนี้ จะต้องมีการยกระดับให้สูงขึ้น โดยทุกภาคส่วนจะต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
เอแบคโพลล์เผยเอดส์กับคนรู้จักกันผ่านเน็ตเพิ่ม
เนื่องในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นวันเอดส์โลกของทุกปี ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง พฤติกรรมเสี่ยงของคนเมืองและการยอมรับผู้ป่วยโรคเอดส์ในสังคมไทย กรณีศึกษาเปรียบเทียบแนวโน้มปี 2548 กับปี 2553 ในกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,269 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 20–27 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่ของคนที่ถูกศึกษาหรือร้อยละ 70.4 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เมื่อเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ที่คิดว่าจะทำให้ติดเชื้อเอดส์ได้ ที่เคยสำรวจปี 2548 กับ ปี 2553 พบว่า คนที่เข้าใจว่า การรับเลือดจากผู้ป่วยเอดส์จะทำให้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 88.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 98.3 สัดส่วนของคนที่เข้าใจว่าการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยเอดส์จะทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 51.1 ในปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 97.5 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของคนที่เข้าใจว่า ถ้าว่ายน้ำในสระเดียวกับผู้ป่วยเอดส์จะทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.6 ในปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 27.2 ในปี 2553 นอกจากนี้ สัดส่วนของคนที่คิดว่าการถูกเนื้อต้องตัวกับผู้ป่วยเอดส์จะทำให้ติดเชื้อเอดส์ไปด้วยเพิ่มจากร้อยละ 1.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.2
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนที่ผู้ถูกศึกษามีเพศสัมพันธ์ด้วยที่เป็นสามีภรรยาลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 71.5 มาอยู่ที่ ร้อยละ 68.5 ในขณะที่กลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์แบบแฟนหรือคู่รักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 30.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.1
ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ขายบริการทางเพศลดลงจาก 3.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ การมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานกับเจ้านาย ลูกน้อง คนที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวคือจากร้อยละ 2.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2548 ร้อยละ 62.8 มาอยู่ที่ ร้อยละ 83.2 ในการสำรวจปี 2553 ครั้งล่าสุด และผลสำรวจยังพบด้วยว่า สัดส่วนของคนที่ระบุมีคนใกล้ชิดติดเชื้อเอดส์เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11.4 ในปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.1 ในปี 2553 โดยในกลุ่มที่มีคนใกล้ชิดติดเชื้อเอดส์ร้อยละ 43.8 ระบุเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก ร้อยละ 29.6 ระบุเป็นเพื่อนบ้าน ร้อยละ 22.2 ระบุญาติพี่น้องที่พักอาศัยต่างบ้านกัน รองๆ ลงไปคือ เพื่อนร่วมงาน ญาติในบ้านเดียวกัน และอื่นๆ คือ สามี ภรรยา แฟน และคนรัก เป็นต้น
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มการยอมรับผู้ป่วยโรคเอดส์ในสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และผลวิจัยค้นพบว่า ถ้าผู้ป่วยโรคเอดส์มีระยะใกล้ชิดกับคนตอบแบบสอบถามมากเพียงไร สัดส่วนของคนที่ยอมรับผู้ป่วยเอดส์ก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น การยอมรับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ยืนรอรถเมล์ป้ายเดียวกัน รับได้ร้อยละ 87.4 ในปี 2548 และร้อยละ 86.7 ในการสำรวจครั้งล่าสุด การดูหนังในโรงภาพยนตร์เดียวกัน รับได้ร้อยละ 83.9 ในปี 2548 และร้อยละ 81.6 ในปี 2553 และมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของผู้ป่วยโรคเอดส์ รับได้ร้อยละ 76.9 ในปี 2548 และร้อยละ 71.7 ในปี 2553 แต่เมื่อถามถึงการโอบกอดผู้ป่วยโรคเอดส์ พบว่า รับได้ร้อยละ 24.6 ในปี 2548 และร้อยละ 41.1 ในปี 2553 และถ้าดื่มน้ำแก้วเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเอดส์ พบว่า รับได้ร้อยละ 17.7 ปี 2548 และร้อยละ 13.7 ในปี 2553 ตามลำดับ
ยิ่งไปกว่านั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ของผู้ถูกศึกษาหรือร้อยละ 67.4 ในปี 2548 และร้อยละ 56.7 ในปี 2553 ยังคงรู้สึกว่า โรคเอดส์เป็นเรื่องน่ากลัว และถ้าคนที่ตนเองรักติดเชื้อโรคเอดส์ พบว่า สัดส่วนของคนที่ยอมรับได้ลดลงจากร้อยละ 66.7 ในปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 40.4 ในปี 2553 และสัดส่วนของคนที่ยอมรับไม่ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.9 ในปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 30.0 ในปี 2553 สำหรับแนวทางป้องกันในมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.7 ระบุป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สวมถุงยางอนามัย รองๆ ลงไปคือ ไม่เปลี่ยนคู่นอน ไม่มีคู่นอนหลายคน เปลี่ยนเข็มฉีดยาทุกครั้งเมื่อมีการใช้งานแล้ว และควรรณรงค์ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไป 4-5 ปี พฤติกรรมเสี่ยงของประชาชนในการติดเชื้อ HIV และเป็นโรคเอดส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่การยอมรับและไม่ยอมรับผู้ป่วยโรคเอดส์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการสำรวจเมื่อห้าปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเอดส์มากเท่าไหร่ สัดส่วนของคนที่ยอมรับผู้ป่วยโรคเอดส์มีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
จากผลสำรวจ มีข้อเสนอแนะให้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคเอดส์ในสถานที่ทำงานเพราะผลสำรวจพบมีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ของ “คนทำงาน” และ ในเครือข่ายสังคมทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ เพราะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของคนที่มีเพศสัมพันธ์กันเกือบเท่าตัว ทางออกคือ การเร่งรณรงค์ให้กับประชาชนในสถานที่ทำงานทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน และคำเตือนรณรงค์ป้องกันและให้มีการยอมรับผู้ป่วยโรคเอดส์ ไม่กีดกัน ไม่แสดงความรังเกียจผู้ป่วยทั้งในที่ทำงาน สถานประกอบการต่างๆ ในชุมชนหนาแน่น และในโลกออนไลน์
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 15.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 24.6 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40 – 49 ปี และ ร้อยละ 14.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 75.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและ ร้อยละ 1.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 38.1 ค้าขายอิสระ/ ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 24.3 เกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงาน ร้อยละ 12.9 พนักงานเอกชน ร้อยละ 5.6 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.8 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 2.5 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 1.8 ว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ