ปัญหาการโละกรรมการฯ ในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ชุดที่มีนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เป็นเลขาธิการ นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกอย่างรุนแรงในคณะกรรมการกลางฯ และในสังคมมุสลิมโดยรวม เสียงวิจารณ์ถึงเหตุผล ถึงความเป็นมาเป็นไป ดังกระหึ่มไปทั่วปริมณฑล MTODAY ในฐานะสื่อมวลชน ขอตรวจสอบความเป็นมาเป็นไปเพื่อให้การรับรู้ของสังคม
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.)ได้ประชุมประจำเดือน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 มีนายอาศีส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางฯ เป็นประธานในที่ประชุม วาระเร่งด่วนที่มีการนำเสนอในที่ประชุม คือ การยกเลิกตำแหน่งต่างในคณะกรรมการกลางฯ ตั้งแต่ตำแหน่งรองประธาน เลขาธิการฯ รองเลขาธิการฯ และคณะทำงาน 12 ฝ่าย โดยไม่มีเหตุผลที่มาที่ไปถึงการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การโต้แย้งจากฝ่ายนายพิเชษฐ์ ตลอดจนมีการขุดคุ้ยการทำงานของคณะกรรมการกลางฯ อย่างดุเดือด โดยเฉพาะฝ่ายฮาลาล และนำไปสู่การลาออกจากฝ่ายฮาลาลของนายอนิรุทธิ์ สมุทรโคจร
ประเด็นโต้แย้งปลดได้หรือไม่
คณะกรรมการกลางอิสลามฯ จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี พ.ศ 2540 มีคณะกรรมการรวม 53 คน เป็นตัวแทนจากคณะกรรมการจังหวัดฯ 39 คน ที่เหลือเป็นโควตาของจุฬาราชมนตรี ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานฯ เลขาธิการฯ และรองเลขาธิการฯ ในวันประชุม 29 กันยายน มีคณะกรรมการกลางฯลาประชุม 2 คน มีคนลงมติประมาณ 40 คน ที่เหลือ งดออกเสียง รวมทั้งนายพิเชษฐ์
นายปรีชา อนุรักษ์ รองเลขาธิการฯกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการกลางฯ ซึ่งที่ประชุมมีอำนาจดำเนินการได้ ภายใต้ พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี พ.ศ.2540 มาตรา 3
ขณะที่นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนในคณะกรรมการฯ ไม่ถูกต้อง ตนยังไม่ยอมรับมติการถอดถอนออกจากเลขาธิการ กอท. เพราะการถอดถอนไม่ถูกต้องตามระเบียบ เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กอท.จะครบในเดือนพฤศจิกายน 2554 ดังนั้น มติที่ออกมาถือว่า ไม่ชอบธรรม ตนจะยื่นหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการถอดถอนมติ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบด้วย
“ ผมยังมองว่า ตัวเองยังเป็นเลขาธิการ กอท.อยู่ นั่นหมายความว่า ยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาลอยู่เช่นกัน จะรอจนกว่ากฤษฎีกาจะตีความออกมา ผมจึงจะยอมรับมติทั้งหมด” นายพิเชษฐ กล่าว
ในประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายไพศาล พรหมยงค์ และพล.ท.สมโภชญ์ เงินเจริญ ได้เป็นตัวแทนนายพิเชษฐ์ ไปยื่นหนังสือต่อกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กระทรวงยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมาย โดยฝ่ายนายพิเชษฐ์ มั่นใจว่า จะได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากณะกรรมการกฤษฎีกา เคยตีความเป็นบรรทัดฐานกรณีการปลดคณะกรรมการอิสลามประจำจงหวัดมาแล้ว
ทุจริตในกอท.ต้นเหตุโละชุดพิเชษฐ์
เหตุผลการปลดนายพิเชษฐ์ พ้นจากเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ มีข่าวออกมามากมาย ทั้งกรณีของซาอุดิอารเบีย รวมไปถึงกรณีของการบริหารกิจการฮาลาล แต่ไม่มีคณะกรรมการกลางคนใด ออกมาให้เหตุผลชัดเจน ความไม่ชัดเจนนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมามากมาย รวมไปถึงการวิจารณ์ฝ่ายคณะกรรมการฯที่ลงมติปลดด้วยว่า มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเหตุผลของการปลด ที่ประเด็นของฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล เป็นเหตุผลหลักของการปลด กรณีของปัญหาซาอุดิอารเบีย เป็นข้ออ้างให้เกิดความชอบธรรมเท่านั้น
ฝ่ายกิจการฮาลาล เป็นหน่วยงานที่ดูแลการขออนุญาตจำหน่ายสินค้าและบริการตามหลักศาสนาอิสลาม นับเป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องสูง เนื่องจากการจะได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ซึ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ นายพิเชษฐ์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาล ได้มีบทบาทเข้าไปตรวจสอบการทุจริตภายใน เนื่องจากนายพิเชษฐ์มีภารกิจมาก ไม่มีเวลาบริหารมากนัก จึงได้มอบหมายให้รองเลขาธิการฯ รับผิดชอบงานแต่ละฝ่าย
ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯยุคนายพิเชษฐ์ ประกอบด้วยนายดำรงค์ สุมาลยศักดิ์, นายเขตรัฐ เทพรัตน์ , นายสมัคร สำเภารัตน์ และนายปรีชา อนุรักษ์ เมื่อทราบว่า มีการทุจริตของฝ่ายกิจการฮาลาล จึงแต่งตั้ง พลโทสมโภชน์ เงินเจริญ นายทหารสังกัดกองอำนวยการรักาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ และรักษาราชการตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน แทน นายนิรันดร์ พันธกิจ ที่ลาออกไป เมื่อเดือนมีนาคม 2553 เพื่อให้ตรวจสอบ บัญชีรายรับ รายจ่าย ต่างๆ ของคณะกรรมการกลาง ที่ผิดระเบียบจนได้เบาะแส การทุจริตในการเบิกเงินของฝ่าย
พบทุจริตในกิจการฮาลาล
สำหรับคณะกรรมการฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล ประกอบด้วย ที่ปรึกษา นาย อรุณ บุญชม,นายดุลยาลิน อนุรักษ์, นาย ไชยา สกุลชาห์, นายพีชเรข พิริยหะพันธุ์, นายสมัคร สำเภารัตน์, ประธาน รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี, รองประธาน นายรัศมีดำชะไว, นายเสรี ปาทาน, นายเขตรัฐ เทพรัตน์ กรรมการ นายปรีชา อนุรักษ์, นายวีระ หัดหมัด, ร.ต.อ.สันธานสุมาลยศักดิ์, อนุกรกรมการ นายนัสเซอร์มาลาวัยจันทร์, นายสมาน อาดัม กรรมการ / เลขานุการ นายเสรี ล้ำประเสริฐอนุกรรมการ / ผู้ช่วยเลขานุการ และนายสมยศหวังอับดุลเลาะ อนุกรรมการ / ผู้ช่วยเลขานุการ
เมื่อพล.ท.สมโภชย์ พบเบาะแสการทุจริต จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล ในการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8/2553 โดยปรับคณะกรรมการฯชุดของ รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี ออกแต่งตั้ง นายทินกร มีหิรัญ เข้าไปดำรงตำแหน่งแทน ที่ประชุมยังแต่งตั้ง ดร.อดิศักดิ์ อิสมิมานะ, นายไพศาล พรหมยงค์, นายประดิษฐ์ นิมา, ดร.บรรจง โซ๊ะมณี เป็นคณะกรรมการตรวจสอบฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล จากการตรวจสอบพบมีการทุจริตการใช้จ่ายเงิน นายไพศาล พรหมยงค์ จึงแจ้งให้นายพิเชษฐ ทราบ และนำปัญหาไปหารือกับจุฬาราชมนตรี เพื่อดำเนินการ
อาศิส พิทักษ์คุมพล พิเชษฐ์ สถิรชวาล
พบเบิกเงินโดยมิชอบเดือนละกว่า 9 แสนบาท
ความไม่ชอบมาพากลของฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล ที่คณะกรรมการชุดนายไพศาล ตรวจพบ อาทิ การเบิกจ่ายเงินให้ผู้ตรวจสถานประกอบการและที่ปรึกษาสถานประกอบการ ตั้งแต่เดือนมกราคม. 2552 โดยไม่มีคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้ตรวจสถานประกอบการ ตามมติคณะกรรมการกลางฯ จนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจสอบสถานประกอบการและที่ปรึกษาสถานประกอบการ ถือเป็นการแต่งตั้งย้อนหลัง ทั้งที่มีการจ่ายเงินไปแล้วกว่า 1 ปี แสดงว่า ได้ทำผิดมาตลอด โดยตลอดเวลา 1 ปี 6 เดือน มีการเบิกเงินของฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล เบิกเงินไปเดือนละประมาณ 9 แสนกว่าบาท ซึ่งคณะที่ปรึกษาสถานประกอบการนั้น มีชื่อนายอาศีส พิทักษ์คุมพล อยู่ในลำดับที่ 73 ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารกิจการฮาลาลยังไปเปิดบัญชี ในนามคณะกรรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อีก 2 บัญชี ซึ่งการเปิดบัญชีของฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล เพื่อโยกเงินจากบัญชีที่ถูกต้อง นำไปเก็บไว้เป็นเงินเกือบ 4 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบการเปิดบัญชีธนาคารจะต้องผ่านมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและผู้ที่ลงนามเปิดบัญชี จะต้องได้รับอนุมัติเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นแต่ละฝ่ายก็จะเปิดบัญชีวุ่นวายไปหมด ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของนายปรีชา อนุรักษ์ โดยมีผู้ลงนามเปิดบัญชี ประกอบด้วยนายรัศมี ดำชะไว, ร.ต.อ.สันธาน สุมาลยศักดิ์ และนาย สมาน อาดัม
“นับเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบว่าด้วยการเงินขององค์กรอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุเหล่านี้ นายพิเชษฐ์ จึงนำเรื่องไปปรึกษากับจุฬาราชมนตรี/ซึ่งท่านได้มีคำสั่งให้นายพิเชษฐ์ นำเรื่องไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด สน.ลำหิน ซึ่งคนที่รับอาสาลงนามในบัญชี” แหล่งข่าว กล่าว
บรรจง โซะมณี กับพล.ท.สมโภชญ์ เงินเจริญ
ฝ่ายเสียประโยชน์รวมตัวเพื่อล้มพิเชษฐ์
การตรวจสอบการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการรวมตัว ของผู้เสียผลประโยชน์ เพื่อล้มขจัดนายพิเชษฐ์ ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ ซึ่งต่อมานายพิเชษฐ์ ได้มอบหมาย ให้นายไพศาล นำเรื่องทั้งหมด เข้าปรึกษาจุฬาราชมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับโครงสร้างใหม่ ในฝ่ายกิจการฮาลาล ซึ่งจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับความผิด ให้งดปฎิบัติงาน
นายพิเชษฐ์ ได้รวบรวมคณะกรรมการกลางฯ 27คน เพื่อลงมติปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารกิจการฮาลาล ประกอบด้วย 1. นาย อรุณ วันแอเลาะ 2. นาย ประสิทธิ์ เพชรทองคำ 3. ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม 4. นาย การีม อับดุลเลาะห์ 5. นาย บรรจงโซ๊ะมณี 6. นาย วิทยากร ลูกหยี 7. นาย อดิศักดิ์ อัสมิมานะ8. นาย หมัด ตู้ดำ 9. นาย ประดิษฐ์ นิมา 10. นาย อับดุลเลาะ แอนดริส 11. นาย ต้าเหยบหวังดี 12. นาย ทินกร มีหิรัญ 13. นาย เกชา เปลี่ยนวิถี 14. นาย พัฒนา หลังปูเต๊ะ 15. นาย ประสิทธิ์ มะหะหมัด 16. นายสนิท รอมาลี 17. นาย ไพศาล พรหมยงค์ 18. นาย สุริยา ปันจอร์ 19. นาย พิเชษฐ์ สถิรชวาล 20. นาย นิแวอาลี หะยีนิเลาะ 21. นาย ดำรง สุมาลยศักดิ์ 22. นายทรงศักดิ์ มานะจิตร 23. นาย สมัคร สำเภารัตน์ 24. นาย ดีน ยีสมัน 25. นาย วีระ หัดหมัด 26. นาย สุวัฒน์ กูบกระบี่ และ 27. นาย ไพศาล อับดุลลอ
นายพิเชษฐ์ นัดประชุมคณะกรรมการกลางฯ ประจำเดือน ในวันที่ 14 และ 15 กันยายน 2553 ฝ่ายผู้เสียผลประโยชน์ได้วิ่งล็อบบี้อย่างหนัก เพื่อไม่ให้ครบองค์ประชุม อาทิ มีการโทรข่มขู่คณะกรรมการบางคน มีการลักพาตัวบางคน ไม่ให้เข้ามาร่วมประชุม ให้ตำรวจเข้ามาควบคุมตัว ผู้ป่วยที่อยู่ที่โรงพยาบาลไม่ให้เข้ามาร่วมประชุม จึงทำให้การประชุมในวันดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ที่แปลกคือ คนที่ไม่มาประชุมในช่วงเช้า กลับมาประชุมเลือกประธานคณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางในช่วงบ่ายได้ ซึ่งได้เลือกนายสมัย เจริญช่าง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานจัดงาน
ไพศาล พรหมยงค์ ดร.อิสมาแอ อาลี
พยายามช่วยเหลือคนผิดสู่ยุคเสื่อม
“กรรมการบางท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการศาสนา เรียนจบระดับดอกเตอร์ เมื่อรู้ว่า มีการทุจริต ประพฤติมิชอบในคณะกรรมการกลางฯ ก็เป็นตัวตั้งตัวตี ที่จะนำผู้กระทำความผิดไปลงโทษ แต่พอรู้ว่า ผู้กระทำผิดเป็นหลานตัวเอง ก็หนีการประชุมไม่มีจุดยืนของความถูกต้องตามแนวทางของอิสลามเลย รวมทั้ง มีความพยายามช่วยเหลือคนผิดด้วยการแก้ไขระเบียบ โดยมีการะบุว่า ระเบียบ กฎข้อบังคับ ไม่ใช่กุรอาน หรือ ฮาดีษ ถ้ามันผิดก็แก้ได้ ถ้าทำแบบนี้ ก็ทำให้การบริหารองค์กรเละมาก ต่อไปฝ่ายต่าง ๆ จะเปิดบัญชีและเบิกเงินไปใช้กันสนุก องค์กรศาสนาก็จะเสื่อม ก่อนหน้านี้ จุฬาราชมนตรี ให้ดำเนินคดีกับคนกระทำผิด หากมาปกป้องภายหลัง ก็เท่ากับอุ้มคนผิด ซึ่งการแต่งตั้งที่ผ่านมามีการตั้งคนที่กระทำผิดมาดำรงตำแหน่งอีก ซึ่งขัดกับคำพูดของจุฬาฯ ที่พูดไว้ว่า คนที่ผิดให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า มีการนำหลักฐานเท็จมาเบิกเงินของคณะกรรมการกลางฯ จำนวนมาก อาทิ ค่าตั๋วเครื่องบินของฝ่ายต่างๆ มีการเบิกจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งเมื่อไม่มีคนที่คานอำนาจอย่างนายพิเชษฐ์ กรณีแบบนี้ อาจเกิดขึ้นมาก เพราะพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาละเร่ เป็นเลขานุการส่วนตัวจุฬาราชมนตรี เมื่อมาเป็นเลขาธิการฯด้วย ทำให้ไม่มีฝ่ายตรวจสอบ อำนาจทั้งหมดจึงอยู่ที่จุฬาราชมนตรีทั้งหมด
“คนใกล้ชิด จุฬาราชมนตรีบางคน ไม่มีอาชีพอะไรเป็นหลักแหล่ง คอยแต่ประจบสอพลอเพื่อผลประโยชน์ เพื่อหวังได้รับโควตากรรมการกลางฯ รวมทั้ง มีการนำชื่อจุฬาราชมนตรี ไปแอบอ้างเพื่อหวังผลประโยชน์ ฝากจุฬาราชมนตรีตรวจสอบคนใกล้ชิดด้วย ” แหล่งข่าว กล่าว
อีกด้านหนึ่ง นายอนิรุทธิ์ สมุทรโครจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ในคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ด้วยเหตุผลว่า รับไม่ได้ที่มีการแต่งตั้งคนที่ถูกตรวจสอบพบว่า ทุจริตกลับมาดำรงตำแหน่งฝ่ายฮาลาลอีกครั้ง
“โดยมาตรฐานจริยธรรมทั่วโลกคนที่ถูกกล่าวว่ากระทำความผิด แม้จะถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธ์ ไม่ควรได้รับการแต่งตั้งจนกว่าจะพ้นมลทิน ผมจึงขอให้เรียกร้องให้คนที่ถูกกล่าวหา พิจารณาตัวเองถอนตัวจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้จุฬาราชมนตรี ทบทวนการแต่งตั้ง ผมขอดุอา(ขอพร)จากอัลเลาะฮฺให้เปิดใจจุฬาราชมนตรีให้เดินบนทางที่ถูกต้องตามรอยของศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.)”นายอนิรุทธิ์ กล่าวในวันแถลงข่าว
เปิดผลประโยชน์ในกอท.
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารกิจการอิสลาม ตามพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี พ.ศ 2540 เป็นองค์กรที่ต้องพึ่งตนเอง โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเฉพาะเบี้ยประชุมคณะกรรมการเดือนละครั้งคนละ 1,000 บาท รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสถานที่ ด้งนั้น งบประมาณบริหารองค์กร กอท. จึงจัดหามาเอง อาทิ จากการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย จากการบริหารกิจการฮาลาล สมัยที่นาย ประเสริฐ มะหะหมัด เป็นจุฬาราชมนตรี มีเบี้ยประชุม ครั้งละไม่เกิน 300- 500 บาท ในสมัยนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นจุฬาฯ นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ ได้มีการเข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับกิจการฮาลาลทำให้องค์กรมีรายได้ปีละหลายสิบล้านบาท
“เมื่อรายได้ คณะกรรมการกลางฯ เริ่มเกิดกิเลส พยายามออกมติเพื่อนำเงินออกมาใช้ อาทิ การเพิ่มเบี้ยประชุม จาก 500 บาท เป็น 6,000 บาทต่อครั้ง ไม่รวมเบี้ยประชุมของกระทรวงมหาดไทยอีก 1,000 บาท กำหนดค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ซึ่งแต่เดือนกรรมการกลางฯ จะเบิกเงิน คนละ 15,000-20,000 บาท ไม่โบนัสพิเศษ ที่ฝ่ายบริหารกิจการฮาลาลจัดให้ ซึ่งคณะกรรมการฯได้ไม่เท่ากัน “ แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการพิเศษอีก กำหนดเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาทต่อคน บางคนได้รับ 3,500 บาท ตามแต่ความสำคัญ บางคนวันหนึ่งประชุม 3 คณะๆ 3,500 บาท รวมแล้วกว่า 10,000 บาท คณะกรรมการกลางฯ บางคน ได้ลดตัวไปเป็นที่ปรึกษาสถานประกอบการ เพื่อรับเงินจากที่ปรึกษาเดือนละ 1,500 บาท บางคนเป็นที่ปรึกษาถึง 10 โรงงาน บางคน 40 โรงงาน ซึ่งมีแต่ชื่อ แต่ไม่เคยไปตรวจโรงงานเลย จนผู้ประกอบการบางโรงงาน บอกว่า ที่ปรึกษาไม่มีประโยชน์ ขอยกเลิก
“ไม่รู้ว่า สามัญสำนึกและศักดิ์ศรี ของคำว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่เป็นองค์กรสูงสุดของมุสลิมในประเทศไทยอยู่ที่ไหน กรรมการกลางฯ บางคนขาดวุฒิภาวะ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้องค์กรบังหน้าเพื่อแสวงหาประโยชน์อาศัยพวกมากลากไป ไร้ซึ่งหลักการ และระเบียบ” แหล่งข่าว กล่าว
การเมืองครอบองค์กรศาสนา
คณะกรรมการกลางอิสลามฯ ยุคปัจจุบัน มีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงอย่างชัดเจน โดยในคณะกรรมการกลางฯ มีคนของพรรคประชาธิปัตย์อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการกลางฯ สายนายสมัย เจริญช่าง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปยึดกุมสภาพในคณะกรรมการกลางฯ เกือบเบ็ดเสร็จ จะเห็นได้จากการปลดนายบพิเชษฐ์ออกจากตำแหน่ง มีกรรมการเกือบ 40 คน ให้ความร่วมมือ รวมทั้ง การแต่งตั้งนายสมัย เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานเมาลิด ประจำปี 2553 ทั้ง ๆ ที่นายสมัย ถูกข้อกล่าวหาถึงความเหมาะสมในการไปเป็นประธานในพิธีวันสงกรานต์และมีคนรดน้ำดำหัว ซึ่งถือว่า ขัดกับหลักการอิสลาม
“นายสมัย เคยเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร น่าจะมีวุฒิภาวะในการเป็นมุสลิมสูง แม้จะเป็น ส.ส. แต่พิธีกรรมใดที่เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาน่าจะหลีกเลี่ยงหรือบอกกล่าวให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ไม่ใช่ยอมตามใจชาวบ้านจนเสียศรัทธา” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาละเร่ ซึ่งมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ ก็เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกัน เท่ากับว่า การเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรศาสนาอย่างเต็มตัว เห็นได้จากการปลดนายพิเชษฐ์ ที่อ้างว่า จากปัญหาซาอุดิอารเบีย ทำให้องค์กรคณะกรรมการกลางฯ ขาดความเป็นตัวเองและจุดยืนของตัวเอง
หมายเหตุ: MTODAY นำเรื่อง ปัญหาในกอท.มาเปิดเผย เป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการตรวจสอบองค์กรที่ถือว่า เป็นองค์กรสูงสุดของมุสลิมในประเทศไทย เพื่อให้การขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อศาสนา ต่อมุสลิมไทยและต่อประเทศชาติ คงอายุกุรอ่าน ที่ระบุว่า “จงกล่าวความจริง แก่ผู้ปกครองที่ฉ้อฉล” คณะกรรมการกลางฯ เป็นผู้บริหารองค์กรเปรียบเหมือนผู้ปกครอง หากมีความผิดพลาด ก็ย่อมถูกตักเตือน เราไม่มีเจตนาให้ร้ายใคร และพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3029 ครั้ง