สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค ถก กทช. แก้ปัญหาลูกค้าพรีเพดถูกยึดเงิน เผยจำนวนเงินถูกยึดกว่า 7 หมื่นล้านบาท เตรียมเรียกเอกชนหารือปฏิบัติตามกฎหมาย เผยสถิติ 11 เดือนแรกปีนี้ ลูกค้าร้องเรียนกว่า 200 ราย
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แก้ปัญหาลูกค้าในระบบเติมเงิน (พรีเพด) ร้องเรียนถูกยึดเงิน มีมติยืนตามเดิมเมื่อวันที่ 6 พ.คง 53 ตามประกาศ กทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
ทั้งนี้ สาระสำคัญ คือ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำอันมีลักษณะเป็นการบังคับ ให้ผู้ใช้บริการใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่ ผู้ประกอบการจะได้รับอนุญาตจาก กทช. ขณะเดียวกันการกำหนดวันหมดอายุของบัตรเติมเงินในการให้บริการ 1 ปี ผู้ประกอบการอาจกำหนดเวลาดังกล่าวได้ แต่เมื่อพ้นกำหนดต้องคืนเงินที่ค้างอยู่ให้แก่ผู้ใช้บริการ
สำหรับข้อมูลช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.53) สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 200 ราย โดยแต่ละโอเปอเรเตอร์ยินดีที่จะคืนค่าโทร.ที่เหลืออยู่ให้กับผู้ที่ร้องเรียนใน 3 รูปแบบ คือ 1.คืนให้ทั้งค่าโทร.และเลขหมาย กรณีที่เลขหมายที่ระงับการใช้งานไปแล้ว 2. คืนเงินผ่านเลขหมายอื่นที่ลูกค้าต้องการ กรณีที่ไม่ต้องการใช้เบอร์เดิม และ 3.ออกเช็คเงินสดให้ กรณีที่ลูกค้าต้องการเงินสดคืน โดยมูลค่าการร้องเรียนอยู่ที่รายละ 1,000 – 7,000 บาท
“ภาย ใน 1-2 สัปดาห์นี้ กทช.จะมีหนังสือเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย เข้ามาซักซ้อมเรื่องสัญญาและศึกษาเงื่อนไขให้ชัดเจน ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องกลับไปแก้ไขสัญญาที่ผูกพันในการ กำหนดโปรโมชั่นในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน”นพ.ประวิทย์กล่าว
สำหรับมูลค่าเงินที่หายไปกับบัตรเติมเงินกว่า 100 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน คิดจากจำนวนผู้ใช้พรีเพด 60 ล้านเลขหมาย เท่ากับมีเงินหายไปกว่า 6,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 7 หมื่นล้านบาทที่ผู้ให้บริการเก็บไปจากผู้ใช้แต่หมดอายุการใช้งานก่อน
ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การออกประกาศกทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เป็นเรื่องที่ดีเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งในประเทศอื่นๆไม่มี แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ กทช.ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อไม่ดำเนินการตามประกาศ ถือเป็นความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนี้ กทช. ควรจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของสัมปทาน กรมสรรพากร เรื่องการจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้ และภาษีที่ควรแยกรายได้จากบริการเติมเงินที่ยังไม่มีการใช้งานจากลูกค้า
ขณะที่บริษัทเอกชนต่างให้ความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ว่าผู้ใช้บริการจะจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับโอเปอเรเตอร์สูงถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากกำไรในแต่ละปีของโอเปอร์เรเตอร์แต่ละรายรวมกันยังไม่ถึงเลย
ส่วนสถิติรับเรื่องร้องเรียนกรณีถูกยึดเงินในระบบและต้องการให้คืนเงินเข้าระบบ ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. มีจำนวน 155 เรื่องจากผู้ให้บริการ 4 ราย คือ เอไอเอส, ดีแทค, ทรูมูฟ และฮัทช์ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1 แสนบาท ปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน (พรีเพด) กว่า 61 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 90% ของเลขหมายโทรศัพท์มือถือทั้งหมดที่เปิดใช้บริการ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3015 ครั้ง