นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม. ถึงท่าทีของประเทศไทยในการส่งตัวแทนไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (ซีเอสซีอี) เพื่อประกบกับการให้ข้อมูลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกเชิญไปให้ข้อมูลกับซีเอสซีอีในวันที่ 16 ธ.ค. นี้ว่า เนื่องจากทูตที่อเมริกาของไทย อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าทูตคนใหม่จะสะดวกหรือมีความพร้อมมากแค่ไหน แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหา หากมีความจำเป็นในการให้ข้อมูลก็ต้องมีตัวแทนหรือส่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ในอเมริกาก็มีหน่วยงานของไทยที่ประสานงานกับคณะกรรมาธิการชุดต่างๆและรัฐสภาอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยกำลังพิจารณาดูว่าจะเหมาะสมเพียงไรในการให้ข้อมูล ซึ่งตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณา
“แต่เราจะมีการเฝ้าดูว่า ข้อมูลต่างๆที่เขาต้องการคืออะไร เพราะการทำรายงานของเขาก็ไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไร เป็นเพียงการทำรายงานเพื่อเสนอต่อคนที่เกี่ยวข้องในระบบรัฐสภาของอเมริกา อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ คงจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม”นายปณิธาน กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าในส่วนของทางการไทยรับปากที่จะเข้าไปบรรยายด้วยหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า ยัง เพราะกำลังดูความเหมาะสมอยู่ เพราะเข้าใจว่าทูตเพิ่งเดินทางกลับและทูตใหม่เพิ่งเดินทางไปจึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เรื่องทูตคงไม่ใช่ประเด็น เพราะเราจะส่งตัวแทนใครไปก็ได้หากพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะให้ข้อมูล แต่ทั้งนี้ข้อมูลต่างๆก็เป็นสิ่งที่เราให้ข้อมูลเป็นระยะๆอยู่แล้ว
นายปณิธาน กล่าวอีกว่า ส่วนสหรัฐอเมริกาจะอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็คงไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไร เพราะการตัดสินใจเป็นประเทศนั้นๆว่าจะให้เข้าหรือไม่ เพราะเป็นดุลพินิจของเขา แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศของเราจะเฝ้าดูติดตามบุคคลที่มีหมายจับหรือว่ามีหมายศาลและคดี แล้วจะมีการแจ้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานที่ดูแลการเข้าเมือง ตำรวจและอัยการเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมกับกฎหมายของประเทศนั้นๆ รวมทั้ง ข้อตกลงและสนธิสัญญาที่เรามี แต่เรามั่นใจว่าหลักฐานที่เรามีสามารถที่จะดำเนินการได้และเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดูแล
“ในกรณีนี้ถ้าอเมริกาทราบว่าเขา(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะเดินทางไป ทางสหรัฐอเมริกาก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย”นายปณิธาน กล่าว
นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกาได้ส่งหนังสือเชิญพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปให้การและเป็นพยานในการนำเสนอมุมมอง ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สหรัฐเชิญไป ซึ่งตนได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว เข้าใจว่า หลายเรื่องทั้งเรื่องยาเสพติด ภาคใต้ คงไม่ใช่เฉพาะเริ่องที่แยกราชประสงค์ ส่วนเรื่องที่ราชประสงค์นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแล้ว ใครไปแก้ไขหรือไปทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่คงไม่ได้
“นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อดำเนินการกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ” นาขถวิล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นว่าจะเอาซีดีไปเปิดให้ทางสหรัฐดูด้วย เลขาฯสมช. กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะส่งคนไปติดตามดูหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ต้องเรียนถามผู้อำนายการศอฉ.
เลขาฯสมช. กล่าวถึงการพิจารณายกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉินว่า ศอฉ. กำลังประเมินอยู่ หากเหตุการณ์เรียบร้อยดีก็คงจะเลิกเร็ว ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีปัจจัยอะไร เพียงแต่ดูสถานการณ์ในช่วง 1-2 วันนี้ ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เลื่อนการชุมนุมออกไปนั้นก็เป็นการดีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรใช่หรือไม่ เลขาสมช. กล่าวว่า ไม่มีอะไรเพราะทุกคนตั้งใจมาเฉลิมฉลองในโอกาสที่สำคัญ ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางศอฉ.จะประเมินสถานการณ์ไปจนถึงปลายปีเลยหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ประเมินทุกระยะซึ่งสัปดาห์นี้ก็มีการประชุมก็ต้องประเมินกันอีก ตนคิดว่าถ้าเหตุการณ์เรียบร้อยก็คงยกเลิก ส่วนจะยกเลิกได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถบอกได้
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ฐานะกรรมาธิการสิทธิสมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อให้การกับวุฒิสภาสหรัฐ กรณีละเมิดสิทธิฯในการสลายกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรมีความจริงใจต่อรัฐบาลไทยในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หากพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปให้ปากคำวุฒิสภาที่สหรัฐจริง เพราะเมื่อเดือนที่ผ่านมาทางการไทยได้ส่งตัวนายวิกเตอร์ บูท นักค้าอาวุธข้ามชาติ ไปสหรัฐ แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐจะทำหน้าที่แยกจากรัฐบาลสหรัฐก็ตาม แต่การเข้าประเทศสหรัฐต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐ
“ถ้าหากสิ่งที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ แถลงนั้นเป็นจริง เท่ากับรัฐบาลสหรัฐ ท้าทายประเทศไทยในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐสภาและทางการสหรัฐควรรู้ด้วยว่าในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯนั้นได้เกิดกรณีฆ่าตัดตอนตามนโยบายปราบปรามยาเสพติด และเหตุการณ์กรือเซะตากใบ ก็เป็นปมปัญหา ที่เป็นการปราบปรามของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ” นายประสาร กล่าว
ดังนั้นทางการไทย กระทรวงต่างประเทศ ควรถือโอกาสนี้ พิสูจน์ความจริงใจของสหรัฐด้วยการขอให้ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย ตามสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และควรใช้โอกาสนี้ ให้ทางการสหรัฐทราบถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีฆ่าตัดตอน และกรณีกรือเซะตากใบ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1333 ครั้ง