ผู้หญิงกับการเงินอิสลาม
โดยเบ๊นซ์ สุดตา
โดยปกติแล้วในโลกของอิสลามแต่เดิมนั้นผู้หญิงมักจะมีบทบาทที่จำกัดในแทบทุกมิติทั้งในแง่ของปัจจัยจากข้อกำหนดในพระคัมภีร์เองและลักษณะทางสังคมที่มีพัฒนาการตามกระแสของประวัติศาสตร์
ตัวอย่างง่ายๆที่เห็นได้ชัดคือ
การที่ผู้หญิงในประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดในหลายๆประเทศต้องแต่งกายปิดหน้าปิดตาคลุมผ้าอย่างมิดชิด
ในด้านการเมืองเองผู้หญิงก็ดูจะไม่เป็นที่ยอมรับในการมีบทบาทมากนัก
ซึ่งผิดกับตะวันตกที่ผู้หญิงมีบทบาทในทางการเมืองสูงขึ้นโดยลำดับ
แต่ปัจจุบันด้วยพลวัตเศรษฐกิจโลกที่เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างในด้านเศรษฐกิจ
การเมือง สังคม และวัฒนธรรมไปทั่วโลกไม่เว้นแท้แต่ในแดนอิสลามที่เคร่งครัด
การแผ่ซ่านของระบบทุนนิยมมายังประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจต่างๆทั้งในแถบเอเชียและตะวันออกกลางก็ได้แปรเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงรวมถึงบทบาทของเพศผู้ให้กำเนิดในด้านระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในโลกมุสลิมด้วย
ตัวอย่างที่ง่ายและชัดที่สุดสำหรับบทบาทของผู้หญิงยุคใหม่ในโลกมุสลิมก็คงไม่พ้นดร.เซติ
อัคมาร์ อาซิส ซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย
การที่ประเทศมาเลเซียไว้ใจให้สุภาพสตรีทำหน้าที่ในการรับผิดชอบระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศถือว่าเป็นพัฒนาการที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการเป็นสังคมมุสลิมสมัยใหม่ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ดี
และมีความเป็นนักปฏิบัตินิยมและเสรีนิยมสูงไม่ยึดติดกับกรอบธรรมเนียมเดิมๆจนเกินไป
การขึ้นมาของดร.เซติถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของบทบาทของผู้หญิงในโลกอิสลามยุคใหม่ที่ระบบเศรษฐกิจอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเงินอิสลามกำลังทวีบทบาทเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งของระบบการเงินโลกและจะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและบทบาทของประเทศมุสลิมในเวทีโลกด้วย
หน้าที่ของเธอนั้นนอกจากจะเป็นผู้รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจมาเลเซียแล้ว
ธนาคารกลางมาเลเซียยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบกติกาที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินอิสลามของมาเลเซียและก็ถือเป็นกรอบอ้างอิงในระบบการเงินอิสลามทั่วโลกด้วย
ดังนั้นกล่าวได้เลยว่าสตรีเพียงคนเดียวในหมู่บุรุษเพศกลับมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางระบบการเงินอิสลามทั่วโลกก็ว่าได้
นอกจากจะเห็นความโดดเด่นในแง่ของตัวบุคคลแล้ว
ในภาพรวมของทั้งระบบเองก็มีแนวโน้มของสตรีที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในการร่วมกำหนดทิศทางระบบการเงินอิสลามเช่นกัน
และเป็นอีกครั้งที่ประเทศมาเลเซียเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
โดยที่ประเทศมาเลเซียมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ไม่สามารถพบเห็นได้เลยในโลกการเงินหรือแม้แต่โลกมุสลิมโดยๆทั่วไปทั่วโลก
นั่นคือ
การที่ผู้หญิงสามารถก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านชารีอะห์ (Shariah Advisers) โดยตัวเลขล่าสุดระบุว่า
ในประเทศมาเลเซียมีผู้หญิงเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านหลักการชารีอะห์อยู่ประมาณ
10 คน ขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤตขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่กรรมการที่ปรึกษาชารีอะห์ในสถาบันการเงินต่างๆอย่างหนัก
โดยตัวเลขจาก Funds@Work ระบุว่า ทั่วโลกมีนักวิชาการอิสลามแค่
221 คน ขณะที่นักวิชาการระดับนำของโลก 6
คนแรกต้องรับผิดชอบนั่งเป็นที่ปรึกษาด้านชารีอะห์กว่า 1 ใน 3
ของจำนวนคณะกรรมการชารีอะห์ในสถาบันการเงินทั่วโลกกว่า 1054 คณะกรรมการ
แสดงให้เห็นถึงความขาดแคลนอย่างหนักของบุคลากรด้านนี้และโอกาสของผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซียที่จะสามารถก้าวเข้ามาเติมเต็มช่องว่าตรงนี้
เนื่องจากมาเลเซียไม่มีการปิดกั้นทางศาสนากับผู้หญิง
อีกทั้งผู้หญิงมาเลเซียก็มีโอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียมและหลายคนก็จบการศึกษาจากต่างประเทศ(Reuters, November 4, 2010)
ขณะที่ในแถบตะวันออกกลางนั้นดูเหมือนว่าม่านทางวัฒนธรรมและจารีตดั้งเดิมที่เคร่งครัดจะยังคงปิดกั้นโอกาสของผู้หญิงในการเข้ามาทัดเทียมกับผู้ชายบนเก้าอี้กรรมการชารีอะห์อยู่
แต่ใช่ว่าทุกที่จะปิดกั้นเสียทั้งหมด
โดยขณะที่ประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นประเทศรากเหง้าของอิสลามจะยังปิดกั้นผู้หญิงในทุกๆด้านมากมายแต่ประเทศอย่างUAE นั้นดูจะมีทัศนคติที่ผ่อนคลายกว่ามาก
อีกประเทศที่น่าจะไม่ปิดกั้นบทบาทของผู้หญิงในด้านการเงินอิสลามมากนักก็คือ กาตาร์
ซึ่งมีแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในเชิงเสรีนิยมมากเช่นเดียวกับ UAE และด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนประชากรของทั้ง 2
ประเทศนี้รวมถึงนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันอุตสาหกรรมบริการต่างๆรวมถึงด้านการเงินให้เป็นแกนหลักของระบบเศรษฐกิจในอนาคตก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในระบบการเงินอิสลามในตะวันออกลางด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจของผู้หญิงในระบบการเงินอิสลามในตะวันออกกลางนั้นกลับไม่ใช่บทบาทในด้านของการบริหารแบบในมาเลเซีย
แต่กลับเป็นบทบาทในแง่ของตลาดที่มีศักยภาพสูงในระบบการเงินอิสลาม
โดยเฉพาะบริการด้านการธนาคารและการจัดการการลงทุน
ทั้งนี้รายงานล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษา Boston
Consulting Group (BCG) ระบุว่า
ผู้หญิงในตะวันออกกลางมีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 22% ของสินทรัพย์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริหารความมั่งคั่ง (Wealth
Management) ในปี 2009 หรือพูดง่ายๆก็คือ
การบริหารเงินให้คนรวยนั่นเอง ในขณะที่ตัวเลขจาก Al Masah Capital ระบุว่า ผู้หญิงในประเทศซาอุดิอาระเบียถือเงินสดอยู่กว่า 11,900
ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ด้วยการศึกษาและหน้าที่การเงินที่ดีขึ้น
เมื่อรวมกับเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูจากราคาน้ำมันที่สูงทำให้ผู้หญิงในภูมิภาคนี้ต้องการบริการการเงินที่มีความหลากหลายและตอบโจทย์ต่อความต้องการในการบริหารความมั่งคั่งที่สูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ที่น่าสนใจก็คือ ในตะวันออกกลางมีการเปิดสาขาธนาคารที่เป็นสาขาสำหรับสุภาพสตรีโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก
โดยในซาอุดิอาระเบียเองกลับกลายเป็นประเทศที่มีความคึกคักในการเปิดสาขาธนาคารที่ให้บริการสุภาพสตรีโดยเฉพาะ
โดยธนาคาร National Commercial Bank ของซาอุมีสาขาสำหรับผู้หญิงมากถึง 46 สาขาในปี 2010 จากเพียงแค่ 2 ในปี
1980 ขณะที่ธนาคาร Saudi Hollandi Bank จะเพิ่มสาขาผู้หญิงจาก
11 ในปีนี้เป็น 15 ในอนาคต (Reuters, October 21, 2010) ขณะเดียวกันได้มีการออกกองทุนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะเช่นกันในหลายๆสถาบันการเงิน
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเป็นตลาดที่น่าสนใจในด้านการเงินอิสลามนั้นนอกจากภาพรวมและโอกาสที่ดีขึ้นแล้ว
หน้าที่ในการรับผิดชอบบุตรในครอบครัวและการเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้นของผู้หญิงในตะวันออกกลางน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในฐานะตลาดที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมนี้
โดยงานศึกษาในปี 2007 ของธนาคารโลกระบุว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของในUAE มีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปีเทียบกับ 12%ของผู้หญิงในสหรัฐฯ
เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและความต้องการทางการเงินของผู้หญิงในภูมิภาคนี้ที่จะสูงขึ้นอีกในอนาคต
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1858 ครั้ง