รูปภาพ : พนักงานของธนาคาร Bank Islam สาขา Putrajaya นอกกุรงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียกำลังทำงานอยู่
ที่มา : Reuters
มหาวิทยาลัยต่างๆกำลังขยายการเปิดหลักสูตรการเงินอิสลามเนื่องจากความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญกฎชารีอะห์ล้นเกินปริมาณบุคลากรที่มีอยู่ในระบบการเงินอิสลามซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติแห่งมาเลเซียหรือ International Islamic University of Malaysia วางแผนที่จะเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้ว) ในด้านตลาดทุน การธนาคาร และการประกันอิสลามหลังจากโครงการทั่วไป (General Program) ทางด้านการเงินอิสลามมีผู้สมัครลงทะเบียนเรียนพุ่งขึ้นจากปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว ศาสตราจารย์โมหัด อัสมี่ โอมาร์ คณบดีสถาบันการธนาคารและการเงินอิสลามของของมหาวิทยาลัย (IIUM Institute for Islamic Banking & Finance) กล่าว ขณะที่มหาวิทยาลัยลา โทรบ (La Trobe University) ในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดหลักสูตรการเงินอิสลามไปในปีนี้ กำลังทำงานกับเจ้าหน้าที่ชองทางการมาเลเซียในการเสนอวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม
การขาดแคลนทักษะถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการขยายตัวของภาคการธนาคารอิสลามทั่วโลก นายแพทริค อิหม่าม นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็มเอฟกล่าวกับบลูมเบิร์ก ขณะที่นายอิชาค พัตติ (Ishaq Bhatti) ผู้อำนวยการโครงการการธนาคารและการเงินอิสลามของลา โทรบคาดการณ์ว่าภายในอีก 5-7 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมมีความต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอิสลามถึง 50,000 คน
“ตอนนี้มีคนน้อยมากๆที่มีความรู้ดีจริงๆทั้งด้านการเงินและการตีความกฎชารีอะห์” นายอิหม่ามตอบคำถามทา่งอีเมล์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา “ในการทำการธนาคารอิสลาม คุณต้องคล่องทั้งด้านการเงินและหลักอิสลาม ปกติแล้วก็ต้องทั้งคู่หรืออย่างอื่นด้วย”
มาตรฐานอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมการเงินอิสลามซึ่งคณะกรรมการบริการการเงินอิสลามหรือ IFSB ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียคาดการณ์ว่าจะมีขนาดที่ 1.6 ล้า่นล้านดอลลา่ร์ในปี 2012 กำลังพัฒนามาตรฐานสากลเพื่อยกระดับการกำกับดูแล องค์การการบัญชีและการตรวจสอบสำหรับสถาบันการเงินอิสลามหรือ AAOIFI (Accounting & Auditing Organization for Islamic Financial Institutions) ในกรุงมานาม่า ประเทศบาห์เรนกล่าวว่า การขาดแคลนนักวิชาการอิสลามเพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้งทางผลประโยชน์เนื่องจากหลายๆคนจะนั่งให้คำปรึกษาในหลายๆคณะกรรมการพร้อมกัน
ชีค นิซาม ยาคูบี้ของบาห์เรน และ นายอับดุล ซัตตาร์ อาบู กุ๊ดดะห์จากซีเรียซึ่งทั้ง 2 ต่างนั่งในกรรมการชารีอะห์ในสถาบันการเงินอิสลามกว่า 85 แห่งอยู่ในอันดับ 1 ในบรรดาสุดยอดผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาชั้นนำ 20 คนในรายงานเดือนตุลาคมที่ออกโดยซอว์ย่า (Zawya) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านข่าวธุรกิจและทำเนียบรายชื่อออนไลน์ของตะวันออกกลาง และ Funds@Work บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติเยอรมันในเมืองโครนเบิร์ก
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกำลังเตรียมการออกประกาศนียบัตรสำหรับนักวิชาการอิสลามที่เป็นมาตรฐานใบแรก คณะกรรมการถาวรมีกำหนดคัดเลือกภายในสิ้นปีนี้เพื่อจัดการเรื่องการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อออกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่มีคณสมบัติในการนั่งในคณะกรรมการชารีอะห์ นายอัซนัน ฮาซาน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบกล่าวเมื่อการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาในกรุงกัวลาลัมเปอร์
“คุณสามารถเห็นความหิวโหยและความกระหายสำหรับการเงินอิสลามเมื่อเราประกาศเปิดหลักสูตรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2009″ นายพัตติจากมหาวิทยาลัยลา โทรบกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ “เบื้องต้น เราคิดว่าจะมีผู้สมัครลงทะเบียน 100 คน หลังจากนั้นเราเริ่มได้รับคำร้องขอจากบุคคลชั้นนำ (Very high-profile requests) ทั้งจากรัฐบาลและในอุตสาหกรรมการเงิน ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มจำนวนเป็น 200″
ไทย เซเนกัล
ไทย เซเนกัล และ ซูดาน เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการดึงเอาความมั่งคั่งบางส่วนจากคนมุสลิมกว่า 1,600 ล้านคนทั่วโลกโดยการขายพันธบัตรอิสลามซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบจากนักวิชาการที่รอบรู้เรื่องกฎชารีอะห์
มหาวิทยาลัยดูแรม (Durham University) ของอังกฤษ, มหาวิทยาลัยอัล-อาซาร์ (Al-Azhar University) ในกรุงไคโร และ สถาบันเอธิก้าแห่งการเงินอิสลาม (Ethica Institute of Islamic Finance) ในดูไบทั้งหมดต่างก็เปิดหลักสูตรการเงินอิสลามด้วย ขณะที่มหาวิยาลัยฮาวาร์ดของสหรัฐฯเสนอโครงการด้านกฎหมายอิสลามศึกษาหรือ Islamic Legal Studies ผ่านทางวิทยาลัยกฎหมายของทางมหาวิทยาลัย จากข้อมูลของเว็บไซต์ฮาวาร์ด
มหาวิทยาลัยลา โทรบกำลังทำงานกับศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการเงินอิสลาม (International Centre for Education in Islamic Finance) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อขออนุญาตในการออกประกาศนียบัตร “ผู้ชำนาญการเงินอิสลามรับอนุญาต” หรือ Chartered Islamic Finance Professionals นายพัตติกล่าว
สถาบันการธนาคารและการเงินอิสลามแห่ง IIUM ของมาเลเซียจะเริ่มหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านตลาดทุนอิสลามในเดือนกันยายน 2011 ภายใต้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต.มาเลเซีย คณบดีสถาบันให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา
“เรามีนายธนาคาร นักกฎหมาย และบัณฑิตใหม่ๆเข้าร่วมในชั้นเรียนของเรา” ศาสตราจารย์โมหัด อัซมี่กล่าว โดยศาสตราจารย์โมหัด อัซมี่สอนด้านตลาดทุนอิสลามที่มหาวิทยาลัยตรีสักติ (Trisakti University) ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียด้วย
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดยเบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday