นาย จารึก กาลานุสนธิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่ ต.เกาะยอและประสบวาตภัยจากพายุดีเปรสชั่นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือของภาคใต้ มีฝนตกหนัก ทำให้น้ำทะเลในทะเลสาบสงขลามีสภาพเป็นน้ำจืด สำหรับปลาขนาดใหญ่มันจะสามารถปรับตัวอยู่ได้ในสภาพน้ำจืด แต่สำหรับพันธุ์ปลากะพงขาวขนาดเล็กที่จะนำลงเลี้ยงชุดใหม่ไม่สามารถจะนำลงเลี้ยงได้ เนื่องจากลูกปลากะพงขาวขนาดเล็กจะต้องเลี้ยงอยู่ในน้ำเค็ม หากนำลงเลี้ยงในช่วงนี้ลูกปลาจะตายทั้งหมด เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจะต้องรอให้พ้นฤดูมรสุมไปก่อน หรือประมาณปลายเดือนมกราคม เพื่อให้น้ำในทะเลสาบสงขลามีความเค็ม จึงจะสามารถนำพันธุ์ชุดใหม่ลงเลี้ยงในกระชังได้
ในขณะเดียวกันในช่วงนี้ก็มีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนพันธุ์ปลากะพงขาว เนื่องจากจะต้องมีการสั่งจองล่วงหน้า ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาขนาด 6 นิ้ว หรือที่เรียกว่า ปลาขุน ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ นำปลาขนาด 1 นิ้ว ไปเลี้ยงอนุบาลในกระชังเพื่อขุนให้โตให้ได้ขนาด 6 นิ้ว ตามขนาดที่ตลาดต้องการ เนื่องจากปลาขนาดนี้เมื่อนำมาลงเลี้ยงในกระชังใหญ่ อัตรารอดมีสูงมาก ไม่เสี่ยงด้วย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่ ต.เกาะยอ นิยมสั่งปลาขนาด 6 นิ้วมาเลี้ยง โดยราคาปลาขนาด 6 นิ้ว ราคาตัวละประมาณ 18 บาท เป็นราคาที่คิดจากขนาดปลานิ้วละ 3 บาท ซึ่งมีขนาด 6 – 7 นิ้ว และ 7 – 8 นิ้ว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรจะสั่งปลาขนาดใด
“อยากจะฝากถึงรัฐบาล หากนำพันธุ์ปลามาแจกช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ขอพันธุ์ปลากะพงขาว ขนาด 6 นิ้ว หากเป็นปลาขนาดเล็กเกษตรกรจะต้องมาทำการอนุบาลบางคนอนุบาลไม่เป็นปลาตายหมดยกกระชัง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปลาขนาดเล็กจะตายเกือบทั้งหมด” นาย จารึก กล่าว
สำหรับประชาชนในพื้นที่ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา และบริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลาส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเลี้ยงปลากะพงขาวในกะชัง หลายพันกระชัง ถูกพายุถล่มทำให้ปลากะพงขาวที่หลุดจากกระชังสูญหายไปกับกระแสน้ำเป็นจำนวนมหาศาล
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2736 ครั้ง