ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม สิรินธรฯเปิดผลวิจัยผลกระทบน้ำท่วมกรุงเทพฯ พบหากระดับน้ำสูงเท่าปี2538 พื้นที่ส่วนใหญ่ในกทม.จะจมน้ำทันที
นายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เปิดเผยว่า แบบจำลองน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร(กทม.) ระบุชัดว่า หากกทม.ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น ในปี 2538 กทม.ชั้นในจะประสบกับวิกฤตอย่างหนัก
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ ศึกษาแบบจำลองผลกระทบภาวะน้ำท่วม และน้ำทะเลขึ้นสูงในเขต กทม.ชั้นใน และปริมณฑล ซึ่งได้จัดทำขึ้น เพื่อหาเหตุผลและปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมกทม.ชั้นใน
โดยจากการนำ 4 ปัจจัย ประกอบด้วย 1. ปริมาณน้ำฝนที่ตกเพิ่มขึ้น 15% ในปัจจุบันโดยเปรียบกับจากข้อมูลย้อนหลัง 30ปี จากกรมอุตุนิยมวิทยา 2.แผ่นดินในกทม.ทรุดตัวลงปีละ 4 มิลลิเมตร
3.ระดับน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยสูงขึ้น 1.3 ซ.ม. ต่อปี และ 4.เกิดจากภาพรวมของระบบผังเมืองที่พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่สีเขียว ลดลงกว่า 50% ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา มาสร้างเป็นแบบจำลองกรุงเทพ เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพและภูมิประเทศ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้ สร้างแบบจำลองขึ้นเป็น 2 กรณีคือ สภาพในปัจจุบัน กับสภาพในอนาคต โดยกำหนดให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2538 พบว่า พื้นที่กทม. ไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำได้
นายเสรีกล่าวว่า เมื่อน้ำทะลักเข้ามา พื้นที่ที่อันตรายที่สุดคือพื้นที่ที่เป็นกระเพาะหมู คือน้ำจะล้นคันกั้นน้ำเข้ามาในกทม.ชั้นใน สภาพที่จะเกิดขึ้นคือ น้ำจะท่วมพื้นที่คลองเตย ถ.บางนาตราด ฝั่งขาออก สวนหลวง ร.9 พื้นที่ลาดพร้าว วังทองหลางทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่ฝั่งธนบุรีเป็นต้นมา รวมไปถึง บางขุนเทียน บางบอน แสมดำ บางแค ถนนพระราม 2
“ระดับน้ำจะลดหลั่นจากบริเวณพื้นที่ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล คือ ชายฝั่งทะเลระดับน้ำจะอยู่ที่ 1.8 เมตร และระดับจะลดลงมาเรื่อยๆตามระยะทางที่ห่างจากชายฝั่งทะเล โดยน้ำจะท่วมขังอยู่ราว 2 เดือน โดยเครื่องสูบน้ำช่วยอะไรได้ไม่มาก เพราะเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่เวลานี้ สำหรับเพื่อสูบน้ำฝนเท่านั้น ขณะที่สภาพที่จะต้องเผชิญ ในเวลานั้นคือ ทั้งน้ำฝนน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนรวมกัน”นายเสรีกล่าว
สำหรับ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น พบว่า จะมีประชากรในกทม.ประมาณ 680,000 คน ได้รับผลกระทบ น้ำจะเอ่อเข้ามาท่วมอาคารที่ 1.16 ล้านหลัง ในจำนวนนี้จะเป็นบ้านพักอาศัยจำนวน 0.9 ล้านหลังคาเรือน โดย 1 ใน 3 จะอยู่ในพื้นที่ บางขุนเทียน บางบอน บางแค และพระสมุทรเจดีย์ นอกจากนี้ยังพบว่าอาคารและที่พักอาศัยเขตดอนเมืองประมาณ 89,000 อาคาร จะได้รับผลกระทบ รวมความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
“เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ และสามารถป้องกันได้หากวางแผนจัดการอย่างรอบคอบ เพราะเราได้เสนอวิธีป้องงกันและแก้ปัญหาเอาไว้ด้วย คือ 1.เร่งหาพื้นที่แก้มลิงเหนือกทม.ตั้งแต่สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา เพื่อเป็นที่ระบายน้ำโดยเร่งด่วน 2.เร่งขุดขยายคลองระบายน้ำที่มีอยู่เวลานี้โดยเร็ว และ 3.ต้องสร้างคันกั้นกั้นน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันน้ำเอ่อทะลักเข้ามาในพื้นที่กทม.โดยสร้างเป็นคันดินในพื้นที่ริมฝั่งทั้งหมด ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งวิธีการนี้ประเทศเวียดนามได้ดำเนินการไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงานวิจัยทั้งหมดนี้ ทางศูนย์สิรินธรฯได้ส่งให้ทางธนาคารโลก แล้วและ มีการแจ้งกลับมาว่า ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ทีมผู้บริหารกทม.แล้วตั้งแต่สมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่ากทม. แต่ยังไม่มีใครคิดจะดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2274 ครั้ง