สัมมนาภัยพิบัติ “สมิทธ” ชี้ อนาคตคนไทยตายด้วยโลกร้อนมากขึ้น “ก้องภพ” ระบุ ระบบสุริยจักรวาลเปลี่ยนแปลง ระวังภัยพิบัติ
วันที่ 19 ธันวาคม ที่ห้องประชุมอาคาร ดร.สุข พุคยาภรณ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “เจาะลึกภัยพิบัติ…พลิกวิกฤตให้เป็นทางรอด” จัดโดยนสพ.เดลินิวส์ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเว็บไซต์พลังจิต มีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมงานกว่า 1 พันคน โดย ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในฐานะสื่อมวลชนของประเทศ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้ง 3 หน่วยงาน จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของโลก ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นกัน ดังเห็นได้จากข่าวสารจากสื่อมวลชนต่างๆ
ดร.ประภา กล่าวต่อว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ พี่น้องร่วมชาติของเราต้องประสบปัญหาน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ แม้ภาครัฐและเอกชนเยียวยาให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ก็เป็นการช่วยเหลือเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบความเสียที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ยังดีเสียกว่าที่พวกเราจะนิ่งอยู่เฉย เพราะในห้วงเวลาเช่นนั้น น้ำใจและกำลังใจ คือสิ่งสำคัญ ที่พวกเราต่างก็เป็นพี่น้องร่วมชาติพึงมีให้แก่กัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบางอย่างมนุษย์ก็สามารถรู้หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ จนสามารถเตรียมพร้อมรับมือหรืออพยพคนออกจากพื้นที่ได้ทัน แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติบางอย่าง มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย ผลกระทบที่ตามมาจึงก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเกือบทุกครั้ง
“การจัดงานสัมมนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ตื่นตระหนก สามารถเตรียมพร้อมรับมือ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้” ดร.ประภา กล่าว
ต่อจากนั้น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึง “สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในปัจจุบัน” ว่า จากประสบการณ์การทำงานกว่า 22 ปี โดยปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาวัดอุณหภูมิในไทยได้สูงถึง 42.5 องศาเซลเซียส จากอดีตที่มีอุณหภูมิสูงสุดที่ 37.5 องศาเซลเซียส พบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้ทำให้เห็นว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลง สถิติล่าสุดไทยมีคนเสียชีวิตจากโลกร้อนในปีนี้ 16 คน เพิ่มจากอดีตที่มีคนเสียชีวิต เพียง 1-2 คน ปกติอุณหภูมิร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ถ้าต้องทนอยู่ในสภาวะอากาศที่สูงถึง 42.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ไม่เฉพาะในไทย ในอินเดียมีคนเสียชีวิตด้วย ดังนั้นต้องให้ความรู้กับประชาชนในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัตินี้
“ส่วนปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ภาคอื่นๆของประเทศไทย โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการย้ายเมืองหลวงของไทยไปอยู่ภาคอื่นๆ เนื่องจากถ้าย้ายไปภาคอีสานก็ต้องเจอกับสภาพขาดแคลนน้ำ หากย้ายไปภาคเหนือก็ต้องพบกับการเกิดแผ่นดินไหว ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกก็เสี่ยงกับการเจอสตอร์มเซิร์จ ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น “ ดร.สมิทธ กล่าว
ด้าน ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรคนไทยที่ทำงานในองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา กล่าวในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างอวกาศกับการเปลี่ยนแปลงบนโลก” ว่า 20 ปีที่ผ่านมา ระบบสุริยะจักรวาลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีพลังงานต่างๆเข้ามาในระบบสุริยะจักวาล นาซ่าส่งดาวเทียมขึ้นไปศึกษาพบความเปลี่ยนแปลงมวลลมสุริยะลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ เช่น ดาวอังคารเกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย ดาวพฤหัส มีความสว่างเพิ่ม 200% ความร้อนสูงขึ้น ส่วนโลก ก็พบปริมาณรังสีคอสมิกมาก มีปริมาณฝุ่นละลองเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณฝนดาวตก และวัตถุพวกอุกาบาตรเข้ามาในโลกมากขึ้น รวมถึงตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศนอกโลก
“ชั้นบรรยากาศของโลกลดลง ส่งผลให้โลกมีความไว้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนอกโลก และแกนโลกมีการเคลื่อนตัวจากเดิม ช่วงต้นปี 2013 หรือปี 2556 ต้องระวังเรื่องภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น จากปฎิกิริยาของดวงอาทิตย์ที่จะส่งผลกระทบต่อโลก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้โลกเกิดความร้อนเพิ่มสูงขึ้น เราควรเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องอาหารให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 3-5 วัน” ดร.ก้องภพ กล่าว
ขณะที่ ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวบรรยายในหัวข้อ “พายุหมุนเขตร้อน คลื่นพายุกระทบฝั่ง และน้ำท่วม” ว่า พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุที่อยู่ในทะเลเขตร้อน มีปัจจัยจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เหมาะสมอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส โดยพายุหมุนเขตร้อนจะเกิดในน้ำทะเลลึก และเคลื่อนตัวเข้าฝั่งกลายเป็นสตอร์มเซิร์จ โดยเส้นทางการเกิดพายุจะเกิดไม่ซ้ำที่กันขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเดือน ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท วางเครื่องมือเตือนภัยพิบัติทางทะเลซึ่งสามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้า 7 วันก่อนพายุจะเคลื่อนเข้ามายังชายฝั่ง
“การหลีกเลี่ยงภัยพิบัติต่างๆ คือ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับภัยพิบัติ เช่น ต้องฟังคำเตือนภัย และมีการกระจายคำเตือนการเกิดภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ต้องส่งคนลงพื้นที่ทันที่เมื่อมีข้อมูลการเกิดภัยพิบัติ เพื่อเตือนประชาชน รวมทั้งต้องมีการก่อสร้างที่หลบภัยในพื้นที่ ในหมู่บ้านเมื่อเกิดภัยพิบัติ และมีการซ้อมอพยพภัยพิบัติอย่างจริงจัง” ดร.วัฒนา กล่าว
ส่วน ดร.เสรี ศุเพทราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริธร กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อมูลมากมายแต่ยังขาดการนำมาบริหารจัดการ ถ้าสามารถบริหารจัดการได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น ข้อมูลตรวจจับเรดาร์กลุ่มฝนและปริมาณน้ำฝนซึ่งต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันคาดการณ์ว่าอีก 2 ปีข้างหน้า จะเกิดลานินญา ฝนตกหนักมากแล้วค่อยๆเบาลง โดยปี พ.ศ. 2554 จะเกิดฝนตกหนัก ส่วนปีพ.ศ. 2555 ฝนไม่ตกเกิดความแห้งแล้ง
“จากข้อมูลต่างๆชี้ว่า ในระยะยาวช่วง 10-20 ปี หน้าแล้งก็จะแล้งหนัก หน้าฝนก็จะฝนมาก และจากการประมวลข้อมูลปัจจุบันที่มี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น 5% และแผ่นดินทรุดตัว เป็นต้น บวกกับฐานข้อมูลน้ำท่วมในปีพ.ศ. 2538 พบว่า ถ้าเกิดน้ำท่วมอีก กรุงเทพฯ จะรับไม่ได้ รวมทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ซึ่งจากการวิเคราะห์มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมถึง 40% เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาในปีนี้คนกรุงเทพฯรอดพ้น แต่ปีหน้ากรุงเทพฯมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม และภายใน 10 ปีนี้ ความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯมีเกิน 50 % และในอนาคตอาจได้เห็นการนั่งรถแล่นบนน้ำในกรุงเทพฯ” ดร.เสรี กล่าว
ดร.เสรี กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะสร้างเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมคือ สร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ และสร้างเจ้าพระยา โดย 2 มาตรการแรกทำไม่ได้ ความหวังอยู่ที่การสร้างคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นคันดินที่เหมาะกับสภาพแวดล้อม การสร้างที่พักน้ำ (แก้มลิง) และทำคลองระบายน้ำ โดยปีนี้ต้องใช้เงินอีกเป็นแสนล้านในการทำมาตรการป้องกันน้ำท่วมทั้ง 3 มาตรการ ส่วนการเกิดสึนามิในประเทศไทยจะเกิดเมื่อไหร่ยังคาดการณ์ไม่ได้ ต้องรอคำนวณจากการเกิดแผ่นดินไหว แต่ขณะนี้ได้ทำแบบจำลองการเกิดสึนามิว่าจะเคลื่อนตัวไปที่ไหนบ้าง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถระบุเวลาจะเคลื่อนเข้าฝั่ง เพื่อใช้ในการหลบหนีได้
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กล่าวถึง “วิกฤตน้ำท่วมโลก” ว่า ขณะนี้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และใช้พื้นที่และทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้ปัจจุบันโลกเล็กเกินไปสำหรับประชากรทั้งโลก ซึ่งมีคนในแอฟริกาตายไปเดือนละ 1 ล้านคน เพราะไม่มีอาหาร และถ้าจะให้ประชากรโลกอยู่กันอย่างเพียงพอต้องใช้โลกถึงหนึ่งใบครึ่ง วันนี้โลกไม่เพียงพอสำหรับมนุษย์แล้วข้อมูลจากศูนย์ของสหรัฐอเมริกา โดย 30 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสูงขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส ส่วนขั้วโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดผลกระทบ อากาศแปรปรวน ร้อนจัด หนาวจัด แห้งแล้ง ปะการังมีการเปลี่ยนสีและฟอกสี และมีพายุที่รุนแรงเพิ่มขึ้นและขาดแคลนน้ำ
ดร.อาจอง กล่าวต่อว่า ช่วงหน้าร้อนแม่น้ำโขงจะแห้งสนิท เพราะน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงละลายไปมาก โดยสิ่งที่อันตรายที่สุด คือ น้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ที่สะสมมาหลายพันปีเริ่มละลายและเริ่มไหลออกจากแผ่นดินแอนตาร์กติก ซึ่งมีปฏิกิริยาเร่งจากบริเวณขั้วโลกเหนือที่มีแก๊สมีเทนผุดขึ้นมาจากการละลายของน้ำแข็ง ซึ่งแก๊สมีเทนมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเร็วกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า และถ้าเมื่อไหร่ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 6-7 เมตร เมืองที่อยู่ติดทะเล เช่น ฟลอริด้า ไมอามี่ เซี่ยงไฮ้ รวมถึงกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยเมืองในแถบภาคกลางตอนล่างเสี่ยงจะจมอยู่ใต้น้ำ เช่น จ.สมุทรปราการ นนทบุรี และ ปทุมธานี เรื่องน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องที่กะทันหัน สามารถเตรียมการรับมือได้ การสร้างเขื่อนคงเป็นเรื่องที่สายเกินไป ซึ่งองค์การนาซ่าได้จัดทำแผนที่ใหม่ของโลก พบว่าเมืองเซียงไฮ้ไม่มีเหลือเลย
“น้ำทะเลสูงขึ้นทำให้โลกขาดความสมดุล ซึ่งปัจจุบันแกนโลกมีการเคลื่อนที่เพื่อหาสมดุลใหม่ ขณะที่เปลือกโลกก็เคลื่อนไหวเร็วขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลเช่นกัน ส่งให้เกิดแผ่นดินไหวบนรอยต่อของเปลือกโลก ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาที่รอยต่อและรอยร้าวของเปลือกโลกที่อยู่ในประเทศพม่า ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ จึงควรต้องสร้างบ้านให้ทนต่อการเกิดเผ่นดินไหวได้อย่างน้อย 5 ริกเตอร์” ดร.อาจอง กล่าว
สำหรับ นพ.ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวถึงเรื่อง “การเตรียมการรองรับและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ว่า จุดอ่อนของคนไทยจากเหตุการณ์สึนามิ คือ ทำงานไม่เกิน 3 วัน และทำงานเอาหน้า แต่ก็ยังมีคนดีๆอีกมากมายที่นำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ และพยายามทำการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง สถาบันฯจะเป็นตัวประสานให้เกิดการช่วยเหลือ โดยใช้เบอร์ 1669 เป็นเบอร์รับแจ้งเหตุซึ่งเป็นบริการฟรีที่สถาบันฯ ให้เงินทุนสนับสนุน
“ถ้าเกิดภัยพิบัติใหญ่ ๆ เช่น แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากทีมแพทย์ของสถาบันฯ พร้อมรับมือ ซึ่งหลังเกิดสึนามิ 7 ปีที่แล้ว ทีมแพทย์ของสถาบันฯ ซ้อมรับมือกันอย่างหนัก เชื่อว่าถ้าเกิดสึนามิอีกครั้ง ทีมแพทย์จะเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและจะทำให้เกิดการสูญเสียน้อยมาก เพราะมีกลไกการเตรียมพร้อมรับมือระดับสากล ขณะที่ประชาชนต้องเชื่อข้อมูลการเตือนภัยจากหน่วยงานต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา ต้องซ้อมเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง” นพ.ชาตรี กล่าว
ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนาเป็นการอภิปรายหมู่ “พลิกวิกฤตให้เป็นทางรอด” วิทยากรทั้ง 8 คน ขึ้นเวที พร้อมด้วย นายคณานันท์ ทวีโภค หัวหน้ากลุ่มพลังจิตพิชิตภัยพิบัติ จากเว็บไซต์พลังจิตดอทคอม เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมฟังการสัมมนาซักถามเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติ ตัวอย่างคำถามที่น่าสนใจ อาทิ ข้อถามที่ว่าระบบเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ดร.สมิทธ ชี้แจงว่า ระบบเตือนภัยตนเป็นคนก่อตั้ง ขณะนี้มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นสึนามิเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้งานได้ผลเป็นอย่างไร จุดที่เกิดสึนามิอยู่ในทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย เป็นรอยเลื่อน ถ้าอุปกรณ์เตือนภัยไม่ทำงาน ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณ 6 จังหวัดภาคใต้จะมีเวลาหลบหนีสึนามิเพียง 10 กว่านาทีเท่านั้น จึงฝากให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติช่วยดูแลระบบและอุปกรณ์เตือนภัยให้ดี เป็นต้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1620 ครั้ง