สหภาพการเงินอาหรับ: ล้มอีกรอบอาจลุกไม่ขึ้น
โดย เบ๊นซ์ สุดตา
การตกต่ำลงในลักษณะที่อาจกู่ไม่กลับของเศรษฐกิจสหรัฐฯรวมถึงสถานภาพและพื้นที่ทางอำนาจในเวทีเศรษฐกิจโลกของพญาอินทรีตัวนี้ได้ก่อให้เกิดช่องว่างทางอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้น
และเมื่อทศวรรษที่ 2 แห่งศตวรรษที่ 21 เริ่มขึ้นในช่วง11 ปีนับจากปี 2010 นี้การท้าทายเงินดอลลาร์จะมีความดุเดือดและเข้มข้นมากขึ้นจามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ในตอนนี้จีนกับรัสเซียคือ
หัวหอกสำคัญในการสร้างขั้วอำนาจทางการเงินโลกเพื่อมาถ่วงดุลสหรัฐฯที่ใช้อำนาจผ่านเงินดอลลาร์
นอกจากนั้นประเทศอื่นๆอย่างมาเลเซีย ฝรั่งเศส บราซิล
และอิหร่านก็ออกมาพูดชัดเจนรวมถึงเริ่มลงมือทำในการจัดการกับระบบการเงินโลกที่ดอลลาร์ยังคงแผ่อิทธิพลได้ทั่วโลกแต่สภาพเริ่มจะเซมาเรื่อยๆแล้ว
ค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินเอเชียและประเทศเกิดใหม่อื่นๆรวมถึงราคาทองคำที่แพงขึ้นเป็นตัวสะท้อนสภาวะนี้ได้ดี
อาหรับเองก็มีความฝันที่จะเป็นอย่างสหภาพยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการตั้งเงินยูโรเป็นเงินตราสกุลเดียวของภูมิภาค
นอกจากนั้นอาหรับเองก็ต้องการให้ตัวเองเป็นแกนกลางในการผลักดันบทบาทของอิสลามในเวทีเศรษฐกิจโลก
การตั้งเงินตราสกุลเดียวและการรวมระบบเศรษฐกิจของชาติสมาชิกกลุ่ม GCC ทั้ง 6 ประเทศถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้นำชาติอาหรับในภูมิภาคอ่าวนี้ต้องการไปให้ถึง
แต่ความล้มเหลวซ้ำซากที่เกิดขึ้นในกลุ่มGCCอันเนื่องมาจากการแตกสามัคคีกันภายในกลุ่มทำให้แผนการตั้งเงินตราสกุลเดียวเริ่มเกิดคำถามจากทั้งภายในและภายนอกมากขึ้น
การแยกตัวออกมาของ 2 ชาติสมาชิกจากการตั้งเงินสกุลเดียวอย่างโอมานในเดือนธันวาคม
2006 และโดยเฉพาะ UAE เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2009 ที่ผ่านมา ทำให้แผนการตั้งเงินตราสกุลเดียวที่วาดฝันกันว่าจะเริ่มใช้ภายในปี
2010 นี้เริ่มล่าช้าออกไปแบบไม่มีกำหนด และแม้จะตั้งเงินตราสกุลเดียวขึ้นมาได้
เงินสกุลนี้จะมีผู้ใช้แค่ 4 ประเทศเท่านั้นนั่นคือ ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ คูเวต
และบาห์เรน
ซึ่งจะก่อให้เกิดการขาดความสมดุลอย่างมากเพราะซาอุดิอาระเบียจะมีอิทธิพลครอบงำสมาชิกที่เหลือสูงมาก
ขณะเดียวกันเงินสกุลใหม่จะขาดความแข็งแกร่งและการยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพราะเศรษฐกิจสำคัญและใหญ่อันดับที่
2 ของกลุ่ม GCC อย่าง UAE ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ก่อตั้งและใช้เงินสกุลใหม่นี้ด้วย
ในอนาคตชาติอาหรับทั้ง 6 แห่งกลุ่ม GCC จะเผชิญกับความท้าทายกับระบบการเงินโลกมากขึ้นและอาจพลาดโอกาสสำคัญในการจัดตั้งขั้วอำนาจทางการเงินของตัวเองขึ้นมาอย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในระบบการเงินโลกจะยิ่งบีบให้อาหรับปรับตัวเองออกจากระบบผูกค่าเงินคงที่ไว้กับดอลลาร์ได้ยากลำบากมากขึ้นเพราะการเกิดความล่าช้าและไม่กล้าคิดนอกกรอบในการปรับเปลี่ยนระบบการเงินโดยเฉพาะระบบอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง
ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม GCC ช่วงต้นเดือนธันวาคม
2010ผ่านมาด้านหนึ่งแม้จะยังไม่สามารถประสานรอยร้าวภายในกลุ่มจากการแตกคอกันของซาอุดิอาระเบียและUAE ลงได้ แต่ก็พอจะมีพัฒนาการสำคัญที่พอจะเป็นความหวังของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจชาติอาหรับกลุ่มนี้ขึ้นมาได้
โดยแม้ว่าทางกลุ่มจะยังไม่สามารถหารือถึงข้อตกลงและกลไกในการตั้งสหภาพการเงินได้
แต่ขณะนี้การประนีประนอมผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม GCC ได้มาลงตัวในเรื่องของการค้าเป็นหลัก
ซึ่งแง่หนึ่งการที่ทั้ง 6
ชาติสามารถตกลงในเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็วก็เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีนโยบายในการลดการพึ่งพาภาคปิโตรเลียมและหันมาส่งเสริมภาคการค้า
ภาคบริการ การเงิน และการผลิตมากขึ้น เห็นได้จากการผลักดันโครงการรถไฟเชื่อมทั้งภูมิภาคระยะทางกว่า
2,117 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2017
รวมถึงการอนุญาตให้บริษัทของประเทศในกลุ่ม GCC ตั้งสาขาได้อย่างเสรีทั่วทั้งภูมิภาค
และบริษัทเหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับบริษัทท้องถิ่นด้วย
การผลักดันเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการมุ่งสู่การเป็นตลาดร่วมของภูมิภาคซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการมุ่งสู่การตั้งเงินตราสกุลเดียวด้วย
การผลักดันด้านการค้านั้นถือเป็นเป้าหมายสำคัญทางนโยบายของUAEซึ่งยืนยันมาตลอดว่าทางกลุ่มควรให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าก่อนเรื่องการเงิน
ผลลัพธ์เช่นนี้ด้านหนึ่งก็สามารถมองได้ว่าทางกลุ่มก็ต้องการเอาใจ UAE ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ผ่านมาด้วย
ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการประสานผลประโยชน์และวางกรอบกติกาและกลไกที่จะนำไปสู่การตั้งเงินตราสกุลเดียว
แต่ดูเหมือนกับว่าพัฒนาการในด้านการเงินนี้คงต้องเผื่อใจกันพอสมควรว่าอาจไม่ได้ดังหวังเพราะเป็นอีกครั้งที่ประเทศสมาชิกที่ต่างวาดฝันที่จะเป็นแบบประเทศกลุ่มเงินยูโรจะมีคำพูดที่ขัดกับการประกาศวาระใหญ่ของภูมิภาคเอาไว้
โดยล่าสุดประเทศ UAEเองได้ออกความเห็นผ่านเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักวิชาการหลายคนว่า
ตอนนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะตั้งเงินตราสกุลเดียว
ขณะเดียวกันก็กล่าวชัดว่าการตรึงค่าเงินเดอร์แฮมของตัวเองไว้กับเงินดอลลาร์ยังให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจUAE อยู่ซึ่งเป็นการตอกย้ำกับท่าทีของอดีตเลขาธิการกลุ่ม GCCอย่างนายอัลอัตติเยาะห์ที่เพิ่งหมดวาระไปว่า มาตรการ QE2 มูลค่า 600,000
ล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯจะไม่ส่งผลให้ทางกลุ่มเลิกตรึงค่าเงินกับดอลลาร์อีกต่อไป
นอกจากการแตกสามัคคีภายในรวมถึงท่าทีที่ดูเหมือนจะชักเข้าชักออกและลังเลจากการสลัดออกจากพันธนาการของเงินดอลลาร์แล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เงินอาหรับหมดรัศมีในเวทีโลกได้ก็คือ
การก้าวขึ้นมาของเงินหยวนจีนในเวทีการเงินโลก
ซึ่งหากอาหรับชักช้าในการผลักดันการตั้งสหภาพการเงินและเงินสกุลเดียวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
ไม่ช้าประเทศมุสลิมอื่นๆจะเบนหน้าเข้าหาเงินหยวนในฐานะที่เป็นสกุลเงินทางเลือกในการทางการค้าและทุนสำรองทันที
โดยในตอนนี้แม้เงินหยวนจะยังไม่สามารถแทนที่เงินดอลลาร์ได้ทันที
แต่จีนก็คิดการใหญ่ด้วยกันกระชับอิทธิพลในด้านเศรษฐกิจ พลังงาน
และความมั่นคงบนเส้นทางสายไหมแล้ว หากเทียบกันแล้ว
โครงข่ายทางการขนส่งอาหรับนั้นด้อยกว่าจีนทั้งในแง่ของปริมาณ
ความครอบคลุมและเทคโนโลยี การเปิดตัวของเงินหยวนในฐานะเงินสกุลทางเลือกในระบบการค้าน้ำมันหรือเปโตรหยวนจะเป็นการเร่งให้เงินดอลลาร์เผชิญกับแรงเทขายมหาศาลในอนาคต
ซึ่งหากว่าอาหรับไม่มีการเตรียมตัวตรงนี้ให้ดีอาจเจอผลกระทบใหญ่ได้
เมื่อถึงตอนนั้นสหภาพการเงินอาหรับคงเหลือแค่ชื่อในประวัติศาสตร์และชาติอาหรับอาจถูกต้อนให้เข้าไปอยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่งของระบบการเงินโลกก็เป็นได้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1508 ครั้ง