ทั้งนี้หน่วยข่าวความมั่นคง ได้นำสถิติการก่อเหตุในปี 2551 และ 2552 มาประเมิน พบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม มีการก่อเหตุรุนแรงเป็นเชิงสัญลักษณ์ เช่น การลอบยิง-ลอบวางระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ชุดคุ้มครองครู ราษฎรไทยพุทธ และไทยมุสลิม รวมทั้งมีการวางเพลิงทรัพย์สินของทางราชการ วางระเบิดแหล่งชุมชน ตลาด ร้านอาหาร สถานบันเทิง เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นสิ่งบอกเหตุว่า ในปีนี้ก็อาจเกิดเหตุรุนแรงในลักษณะเดียวกันขึ้นมา
“ช่วงวันที่ 1-31 ธันวาคม 2551 คนร้ายลงมือ 103 เหตุการณ์ แบ่งเป็นวางระเบิด 23 ครั้ง ลอบยิง 65 ครั้ง วางเพลิง 9 ครั้ง ก่อกวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 107 ราย ส่วนปี 2552 เกิด 107 ครั้ง ได้แก่ วางระเบิด 30 ครั้ง ลอบยิง 66 ครั้ง วางเพลิง 3 ครั้ง และก่อกวน 8 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 57 ราย บาดเจ็บ 136 ราย ขณะที่ช่วงวันที่ 1-12 ธันวาคมปีนี้ ก่อเหตุไปแล้ว 34 ครั้ง ได้แก่ วางระเบิด 5 ครั้ง ลอบยิง 20 ครั้ง วางเพลิง 5 ครั้ง ก่อกวน 4 ครั้ง เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 12 ราย”
หน่วยข่าวระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานความเคลื่อนไหวของแกนนำผู้ก่อเหตุในต่างประเทศ ได้สั่งการให้สมาชิกทั้งเก่าและใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกระบบฐานข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นกลุ่มเยาวชนที่จบการฝึกทางยุทธวิธี การใช้อาวุธ และวัตถุระเบิดจากประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 150 คน และกลุ่ม 2 จำนวน 160 คน แทรกซึมเข้าพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดชายแดนเพื่อเตรียมก่อเหตุ โดยซึ่งรูปแบบการลงมือ จะใช้วิธีที่เคยทำมาแล้ว เช่น ประกบยิง โจมตีจุดตรวจ จุดสกัดที่มีกำลังน้อย วางระเบิดตามเส้นทางและสถานที่ต่างๆ เพื่อลวงให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและสังหารด้วยระเบิดชุดที่ 2 ที่ซุกซ่อนไว้ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่มีการปฏิบัติซ้ำๆ เช่น ชุดรักษาความปลอดภัย พื้นที่เฝ้าระวังในเขตเมือง ได้แก่ แหล่งชุมชน ตลาด ร้านอาหาร สถานบันเทิง รวมทั้งชุดลาดตระเวนและจุดตรวจ จุดสกัดที่มีกำลังน้อย
“สำหรับพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มการก่อเหตุสร้างสถานการณ์รุนแรงอยู่ในเกณฑ์สูง และต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษได้แก่ อ.เมือง อ.บันนังสตา อ.รามัน จ.ยะลา, อ.ยะรัง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, อ.รือเสาะ อ.บาเจาะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่หลัก และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา, อ.สายบุรี อ.เมือง จ.ปัตตานี, อ.เมือง อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่รอง” หน่วยข่าวระบุ
ส่วนการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษฎา แก้วจันทร์ดี ผกก.สภ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเหตุยิงกันภายในตลาดนัด ม.2 ต.โคกโพธิ์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จึงนำกำลังไปตรวจสอบ โดยที่เกิดเหตุเป็นเขียงหมูซึ่งสามี-ภรรยาเจ้าของร้าน คือ นายประดิษฐ์ มณีพรหม อายุ 49 ปี และ นางจริยา มณีพรหม อายุ 47 ปี นอนเสียชีวิตที่บริเวณดังกล่าวในสภาพถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 9 มม.เข้าที่ลำตัวหลายนัด
จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุระหว่างที่ทั้ง 2 คนกำลังขายหมูอยู่ภายในร้าน คนร้าย 2 คนขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา แล้วใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงจนทั้งคู่ล้มลงไป และคนร้ายได้เดินมาจ่อยิงซ้ำจนทั้ง 2 คนเสียชีวิต จึงขับรถหนีไป
ส่วนความคืบหน้ากรณีกลุ่มคนร้ายลอบยิงเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองพระเสียชีวิต 2 นาย ที่บริเวณถนนอุตสาหกรรมตัดกับถนนเลียบแม่น้ำปัตตานี เขตเทศบาลนครยะลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผกก.สภ.เมืองยะลา เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำการตรวจสอบรถกระบะมาสด้า รุ่นธันเดอร์ สีน้ำเงิน ซึ่งตรงกับที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ โดยคาดว่า รถคันดังกล่าวยังอยู่ในพื้นที่ ขณะที่การสืบสวนพบว่า คนร้ายมีด้วยกัน 6 คน เวลานี้ทราบชื่อทั้งหมดแล้ว โดยเป็นกลุ่มที่ก่อเหตุมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2548 และจากการตรวจสอบหัวกระสุนปืนก็พบว่าเป็นปืนที่ใช้ก่อเหตุยิงทหารพรานเสียชีวิต5 ศพ ขณะกลับจากละหมาดที่มัสยิด บ้านตาเซะ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อปลายปี 2552 โดยคาดว่าจะออกหมายจับได้ภายใน 1-2 วันนี้
เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน พ.อ.มล.ประวีร์ จักพันธ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา ได้สั่งการให้ ร.อ.ชาญ ว่องไวเมธี ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 1206 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สภ.คลองลึก และ ตำรวจท่องเที่ยว นำกำลังไปตั้งจุดตรวจค้นบริเวณจุดตรวจร่วมทางเข้าตลาดโรงเกลือ หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจพบชาวกัมพูชามุสลิม 117 คน ทยอยพากันหิ้วกระเป๋าสัมภาระเดินทางเข้าด่านพรมแดนมายังประเทศ ซึ่งจากการสอบถามทราบว่า ทั้งหมดได้เช่ารถตู้ 10 คันเพื่อไปส่งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบางส่วนจะเดินทางไป จ.ปัตตานี และอีกส่วนจะเดินทางไป อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จึงขอกักตัวไว้และขอตรวจค้นอย่างละเอียด
จากการตรวจค้นพบยาปฏิชิวนะจำนวนมากซุกซ่อนมาในกระเป๋าของแต่ละคน นอกจากนี้ยังพบครีมเบ๋าดั๋ม ซึ่งเป็นครีมทาผิวมีส่วนผสมของปรอทและสารตะกั่วอีกจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเช่นกัน โดยมีการห่อพันด้วยเทปกาวอย่างแน่นหนา และอ้างว่า จะนำไปฝากญาติ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่เห็นว่า มีจำนวนมากเกินความจำเป็น จึงทำการตรวจยึดไว้ทั้งหมด และทำการถ่ายภาพบันทึกประวัติของทุกคน ก่อนอนุญาตให้เดินทางต่อไปได้
ร.อ.ชาญ กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบว่า ชาวเขมรมุสลิมทั้ง 117 คน เดินทางมาจาก จ.กัมปงจาม จ.กันดาล และ จ.ตาแก้ว ของกัมพูชา โดยอ้างว่าจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ ซึ่งการที่มีชาวเขมรมุสลิมเดินทางลงไปยัง 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยจำนวนมาก ทำให้ต้องเข้มงวดในการตรวจค้น เนื่องจากเกรงจะนำสิ่งของซึ่งเป็นยุทธปัจจัย เช่น ยาปฏิชิวนะและครีมอันตรายผสมวัตถุอันตราย ไปส่งให้แนวร่วมโจรใต้ จึงต้องตรวจยึดไว้ทั้งหมด
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2139 ครั้ง