รูปภาพ : พนักงานของธนาคาร Bank Islam สาขา Putrajaya นอกกุรงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียกำลังทำงานอยู่
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์และธนาคารแบงก์อิสลาม มาเลเซีย เบอร์ฮาด (Bank Islam Malaysia Bhd.) วางแผนเตรียมออกตราสารอนุพันธ์ที่เป็นไปตามชารีอะห์หรืออนุพันธ์อิสลามในประเทศมาเลเซียซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและราคาโภคภัณฑ์ได้
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ของอังกฤษซึ่งทำกำไรส่วนมากจากตลาดเกิดใหม่จะเริ่มการขายสัญญาอนุพันธ์อิสลามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2011 ซึ่งจะให้ความคุ้มครองจากความผันผวนของต้นทุนของสินค้าต่างๆเช่น ข้าว และ น้ำมัน จากแถลงการณ์ทางอีเมล์ของธนาคารซึ่งตอบคำถามเมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม 2010) ด้านแบงก์อิสลาม มาเลเซีย ซึ่งเป็นธนาคารอิสลามที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศมาเลเซียก็เตรียมออกสัญญาสวอปส์ (Swaps) ซึ่งจะช่วยให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดที่มาจากการชำระเงินที่มีลักษณะแตกต่างกันจากสินทรัพย์อ้างอิง
การขาดแคลนผลิตภัณฑ์การเงินอิสลามเหล่านี้ (หมายถึงอนุพันธ์อิสลาม) กำลังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม บาดลิสเยาะห์ อับดุล กานี่ (Badlisyah Abdul Ghani) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีไอเอ็มบี อิสลามิก แบงก์ เบอร์ฮาด ในกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าวกับบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2010 ที่ผ่านมา ตลาดจะถูกจำกัดอยู่แค่การประกันความเสี่ยงหรือเฮดจิ้งเท่านั้นหลังจากตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตการเงินโลกซึ่งส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากการที่สินเชื่อเสียหายไปมูลค่ากว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์
“อุตสาหกรรมได้เดินผ่านชุดของนวัตกรรมมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในการนำเสนอทางเลือกในแบบที่อิงกับกฎชารีอะห์และวันนี้อุตสาหกรรมสามารถกล่าวได้ว่า เรามีอนุพันธ์อิสลามแล้ว” ซเยด อัลวี โมหัด สุลต่าน ผู้อำนวยการฝ่ายคิดผลิตภัณฑ์ (ฝ่าย Origination) ที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ซาดิก เบอร์ฮาด(Standard Chartered Saadiq Bhd) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจธนาคารอิสลามของธนาคารในมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่่านมา “การยอมรับในวงกว้างในเรื่องมาตรฐานต่างๆจะช่วยนำมาสู่การปรับตัวเข้าหากันภายในอุตสาหกรรมมากขึ้น”
ตราสารอนุพันธ์คือ สัญญาซึ่งมูลค่าของสัญญาผูกอยู่กับสินทรัพย์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร โภคภัณฑ์ และ ค่าเงิน หรือเหตุการณ์ต่างๆเช่น การเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยหรือสภาพอากาศ
การอนุมัติจากทางการ
ก่อนหน้านี้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ได้นำเสนอสัญญาอนุพันธ์ที่อิงกับโภคภัณฑ์ให้กับลูกค้่าในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดการเงินอิสลามระหว่างประเทศหรือ IIFM ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกฎระเบียบด้านการเงินอิสลามซึ่งอยู่ในกรุงมานาม่า ประเทศบาห์เรน ได้ออกเอกสารทางกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสำหรับอนุพันธ์อิสลามในเดือนเดียวกันนั้น สแตนดาร์ดชาร์เตอร์จะเป็นธนาคารแรกที่ให้บริการผลิตภัณฑ์นี้ในมาเลเซียและกำลังรอการอนุมัติจากทางการอยู่ จากแถลงการณ์ทางอีเมล์
สัญญาอนุพันธ์อิสลามไม่สามารถซื้อขายหรือใช้เพื่อเก็งกำไรได้ภายใต้กฎชารีอะห์ นายอัสนัน ฮาซาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติแห่งมาเลเซียในกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ผลิตภัณฑ์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ถูกตรวจสอบจากคณะทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านหลักชารีอะห์เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามหลักชารีอะห์และสัญญาเหล่านั้นถูกหนุนด้วยสินทรัพย์อ้างอิงจริงๆ นายซเยด อัลวีกล่าว
“ลูกค้าต้องการเครื่องประกันความเสี่ยง ถ้าหากว่าคุณมีลูกค้าซึ่งต้องการจ่ายเงินในอนาคตสำหรับทรัพย์สินซึ่งบริษัทซื้อในต่างประเทศ พวกเขาต้องทำประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน” นายอัสนันกล่าว นายอัสนันได้นั่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาชารีอะห์ในหลายที่รวมถึงที่ธนาคารกลางมาเลเซียด้วย
ตลาดเอเชียแปซิฟิก
เอเชียแปซิฟิกแซงหน้าอเมริกาเหนือในฐานะตลาดอุนพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2010 และมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 38% ของทั้งโลก จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมสัญญาล่วงหน้า (Futures Industry Association) ในกรุงวอชิงตัน นั่นเทียบกับ 33% ของอเมริกาเหนือ
ซีไอเอ็มบี อิสลามิก ซึ่งเป็นผู้บริหารการจัดจำหน่าย (Arranger) พันธบัตรอิสลามมากที่สุดในโลกในปีนี้ กำลัง “สำรวจ” ช่องทางในการออก CDS หรือ Credit-Default Swaps ซึ่งเป็นสัญญาประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อที่จะมาช่วยเสริมธุรกิจอนุพันธ์อิสลามอื่นๆไม่ว่าจะเป็นสัญญาสวอปส์อัตรากำไรอิสลาม (Islamic Profit-Rate Swaps), สวอปส์ข้ามสกุลเงิน (Cross-Currency Swaps) และสัญญาสวอปส์อัตรากำไรข้ามสกุลเงิน (Cross Currency Profit-Rate Swaps) นายบาดลิสเยาะห์ระบุ
“มันยังถือเป็นวันเริ่มต้นมากๆสำหรับตลาด แต่เรายังคงได้รับความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ด้านสัญญาอนุพันธ์จากนักลงทุนสถาบันเช่นเดียวกับบริษัทต่างๆซึ่งต้องการประกันความเสี่ยงสถานะของบริษัท” นายบาดลิสเยาะห์กล่าว “หากปราศจากเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ใช้ได้จริง สถาบันการเงินอิสลามจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและในลักษณะเชิงรุกได้”
ความต้องการพุ่งขึ้น
ด้านธนาคารแบงก์อิสลาม มาเลเซียวางแผนที่จะออกสัญญาแบบใหม่ซึ่งอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนกำไรหรืออัตราผลตอบแทนระหว่างคู่สัญญา นายฮิซามุดดิน จามัลลุดดิน ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของทางธนาคารกล่าวในงานสัมมนาอนุพันธ์อิสลามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สัญญาใหม่นี้จะเป็นส่วนเพิ่มเติมจากสัญญาประกันความเสี่ยงที่อิงหลักชารีอะห์ที่มีอยู่แล้วของธนาคาร เขากล่าว
ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯอาจเพิ่มขึ้นในปี 2011 สร้างโอกาสที่ “เหมาะเจาะ” สำหรับธนาคารที่ออกอนุพันธ์ประเภทสัญญาสวอปส์ นายฮิซามุดดินกล่าว
“มันสำคัญมากสำหรับผู้ถือพันธบัตรอิสลามในการสามารถเข้าถึงเครื่องมือประกันความเสี่ยงซึ่งช่วยให้พวกเขาตอบโต้กับความท้าทายในสภาพแวดล้อมของอัตราดอกเบี้ยที่กำลังสูงขึ้น” เขากล่าว “อัตราดอกเบี้ยดูเหมือนจะชนจุดต่ำสุดแล้ว”
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday