ปัญหาอาชญากรรมที่สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนมากที่สุดแห่งปี 2553 อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 33.5 ได้แก่การกลับมาแพร่ระบาดของยาเสพติด อันดับที่สองหรือร้อยละ 23.1 ได้แก่ ขโมย จี้ปล้น ชิงทรัพย์ อันดับที่สามหรือร้อยละ 19.5 ได้แก่ปัญหาการฆาตรกรรม อันดับที่สี่หรือร้อยละ 10.8 ได้แก่ การคุกคามทางเพศ ข่มขืน อันดับที่ห้า หรือร้อยละ 3.7 ได้แก่ แก๊งปาหิน รองๆลงไปคือ การก่อการร้าย ความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนใต้ การใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี วัยรุ่นตีกัน ชาวบ้านโดนลูกหลง การค้ามนุษย์ และอื่นๆ เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น
ผลการจัดอันดับ “ตำรวจมือปราบ” ที่ช่วยบรรเทาทุกข์ปัญหาอาชญากรรมมากที่สุดแห่งปี 2553 อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 32.6 ได้แก่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับที่ 2 หรือร้อยละ 30.1 ได้แก่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อันดับที่ 3 หรือร้อยละ 21.4 ได้แก่ พล.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อันดับรองๆ ลงไปได้แก่ พล.ต.ท. สัณฐาน ชยนันท์ พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ และพล.ต.ต. วิสุทธิ์ วานิชบุตร เป็นต้น
ผลการจัดอันดับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ชอบมากที่สุดแห่งปี 2553 อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 58.8 ได้แก่ ทุจริตคอรัปชั่น อันดับที่ 2 หรือร้อยละ 8.3 ได้แก่ รีดไถ ข่มเหงประชาชน อันดับที่ 3 หรือร้อยละ 6.6 ได้แก่ ไม่เอาใจใส่ในการบริการ บริการล่าช้า อันดับที่ 4 หรือร้อยละ 6.4 เท่ากันที่เป็นพฤติกรรมที่ชาวบ้านไม่ชอบ ได้แก่ เรื่องชู้สาว และความเห็นแก่ตัว รองๆ ลงไปของพฤติกรรมที่ประชาชนไม่ชอบได้แก่ การเลือกปฏิบัติ ดูแลไม่ทั่วถึง วางตัวไม่เหมาะสม ไม่ให้ความร่วมมือกับประชาชน ทุจริตการเลือกตั้ง ซื้อเสียงเสียเอง สร้างสถานการณ์การชุมนุม ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เป็นต้น
ส่วนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยากพบเห็นมากที่สุดในปีหน้า ปี 2554 อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 38.3 ได้แก่ ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกต่อหน้าที่ของตนเองและบ้านเมือง อันดับที่ 2 หรือร้อยละ 17.6 ได้แก่ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ดูแลประชาชนเท่าเทียม อันดับที่ 3 หรือร้อยละ 15.8 ได้แก่ ตั้งใจทำงานพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้น อันดับที่ 4 หรือร้อยละ 8.3 ได้แก่ บริการด้วยไมตรีจิต ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร อันดับที่ 5 หรือร้อยละ 5.4 ได้แก่ ทำงานด้วยความสามัคคี รองๆ ลงไปคือ การเสียสละต่อสังคม ทำงานจริงไม่เห็นแก่พวกพ้อง ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ดูแลแก้ปัญหาของประชาชนอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นต้น
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข แต่ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาอาชญากรรมหลายเรื่องโดยเฉพาะการกลับมาของปัญหายาเสพติด การจี้ปล้นชิงทรัพย์ การฆาตรกรรม และการคุกคามทางเพศ การข่มขืน ที่ต้องการวิธีการป้องกันและลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพแบบยั่งยืน วิธีการดังกล่าวไม่ควรจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลหรือ ตำรวจมือปราบที่เป็นขวัญใจของประชาชนเพียงอย่างเดียว วิธีการป้องกันที่นานาประเทศใช้ลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมที่ได้ผลดีและยั่งยืนที่น่าพิจารณาคือ
ประการแรก คือ ยุทธศาสตร์ที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากมาย ได้แก่ การเพิ่มความถี่ของการพบปะพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนแบบ “เคาะประตูบ้าน” ลงพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มการ “ฟัง” เสียงของประชาชนให้มากขึ้น เป็น “ผู้ฟังที่ดี” ต่อเสียงร้องเรียนของประชาชนและรีบลงมือปฏิบัติรวดเร็วฉับไวตอบสนองแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนด้วย “ความไว้วางใจ” (Trust) ต่อกัน ประการที่สอง คือ การให้ความคุ้มครอง “เหยื่อ” อย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดต่อกลับไปดูแลผู้เสียหายจนมั่นใจได้ว่าพวกเขาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน ประการที่สาม คือ การลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของสถานีตำรวจให้มีอาวุธประจำกายตำรวจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลที่ทันสมัยในการตรวจพิสูจน์คนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว ผ่านระบบสมาร์ทการ์ดเลข 13 หลักบัตรประชาชนและบัตรประจำตัวอื่นๆ ของผู้ต้องสงสัย
ประการที่สี่ คือ การใช้ป้อมตำรวจเป็นสถานีย่อยที่มีตำรวจประจำตลอด 24 ชั่วโมง มิให้กลายเป็นป้อมตำรวจที่รกร้างว่างเปล่าและแหล่งมั่วสุมของกลุ่มมิจฉาชีพเสียเอง ประการที่ห้า คือ รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติน่าจะพิจารณาให้มีหน่วยงานอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและหน่วยงานประเมินผลที่เชื่อถือได้ตามหลักวิชาการสากลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมในแต่ละพื้นที่
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 54.5 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 45.5 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 2.9 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 16.4 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 19.0 อายุระหว่าง 30-39 ปีและร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 36.2 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 65.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 30.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 4.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 32.2 เป็นผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 24.5มีอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ ร้อยละ 13.1 เป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 12.9 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.4 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.9 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1304 ครั้ง