เมื่อนวัตกรรมการเงินอิสลามเริ่มล้ำเส้นหลักศาสนา: หายนะอาจเป็นคำตอบสุดท้าย
โดยเบ๊นซ์ สุดตา
ระบบการเงินอิสลามถือว่ามีพัฒนาการที่น่าพอใจในช่วงเข้าสหัสวรรษใหม่นับแต่ปี2000 เป็นต้นมา จนถึงปี 2010 ระบบการเงินอิสลามมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลมากกว่า1 ล้านล้านดอลลาร์
ระบบการเงินอิสลามกำลังกลายเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งใหม่ที่ใครต่อใครไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิมเองหรือคนในศาสนาอื่นเองต่างเข้ามาจับจองกันทั่วหน้า
และพื้นที่ทางความมั่งคั่งแห่งนี้ก็กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกด้วย
ส่งให้มีผู้คนกระโจนเข้ามาร่วมแสวงหาโอกาสใหม่ๆในพื้นที่ทางเศรษฐกิจภายใต้กลิ่นอายของหลักอิสลามมากขึ้น
กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ระบบการเงินอิสลามนั้นสามารถพัฒนาได้รวดเร็วมากจนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนักก็คือ
นวัตกรรมทางการเงินอิสลาม ในสายตาของคนทั่วไปนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อพูดถึงการเงินอิสลามนั้นคนมักจะนึกถึงแต่เรื่องของการห้ามคิดดอกเบี้ยเท่านั้น
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วนั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆของหลักการชารีอะห์ซึ่งมีรายละเอียดมากมายและลึกซึ้งยิ่งนัก
และแน่นอนหลักของอิสลามนั้นได้บัญญัติในสิ่งที่ใหญ่โตและครอบคลุมกว่านั้นก็คือ
เป็นหลักการพื้นฐานในการดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนโลก
สะท้อนถึงทัศนะการมองโลกว่า โลกในอุดมคติในสายตาของคนมุสลิมนั้นเป็นอย่างไร
ซึ่งในหลักชารีอะห์นั้นไม่ได้ห้ามแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น
แต่ครอบคลุมไปถึงหลักการของการแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจและข้อกำหนดทางศีลธรรมที่ห้ามการข้องแวะและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างเช่น
กิจการสุราและแอลกอฮอล์ การพนัน รวมถึงธุรกิจการเงินที่คิดดอกเบี้ยด้วย
นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ การห้ามเรื่องกิจกรรมการเก็งกำไร
การเงินอิสลามซึ่งเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลยในช่วงทศวรรษที่
1970-1980 ได้พัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการและการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง
และก็สามารถแข่งขันได้ดีกับบริการการเงินตะวันตก
แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชาวมุสลิมที่มีขีดความสามารถในการผสมผสานการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินกับหลักการทางจริยธรรมได้ดี
ซึ่งโลกยุคใหม่นี้ก็เริ่มมีการเรียกร้องถึงการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นด้วย
กุญแจสำคัญในด้านนวัตกรรมที่ผ่านมาของระบบการเงินอิสลามหนักไปที่การสนองความต้องการทางการเงินขั้นพื้นฐานในทางเศรษฐกิจ
ซึ่งย่อมหมายถึงการทำหน้าที่ในการจัดสรรเงินออมเพื่อการลงทุน
การพัฒนาการเงินอิสลามในช่วงปี 2000-2010 จึงมุ่งไปที่การพัฒนาระบบธนาคารและตลาดทุนอิสลามโดยเฉพาะในเรื่องของตลาดตราสารหนี้
ซึ่งยอดการออก Sukukหรือ พันธบัตรอิสลามก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
แม้จะเจอกับช่วงสะดุดจากวิกฤตการเงินโลกและวิกฤตดูไบบ้าง
แต่นั่นไมได้ชะลอการเติบโตของภาคตลาดทุนอิสลามเลย ซึ่งตรงกันข้ามนักลงทุน บริษัท
สถาบันการเงิน
และรัฐบาลทั่วโลกต่างสนใจในการออกพันธบัตรอิสลามมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการออกที่มาเลเซีย
ส่งผลให้ธุรกิจอื่นๆทั้งที่ปรึกษาการเงินอิสลาม กฎหมาย การบัญชี
วาณิชธนกิจด้านอิสลาม และธุรกิจหลักทรัพย์อิสลามในมาเลเซียเฟื่องฟูไปด้วย และนั่นย่อมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในแถบตะวันออกกลางด้วยซึ่งกำลังขบคิดถึงแนวทางในการแข่งกับมาเลเซีย
ด้วยความมั่งคั่งที่มากขึ้นของประเทศในแถบเอเชีย
ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงทั้งการผลิต การค้า
และการชำระเงินระหว่างประเทศที่สูงขึ้น
อีกทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและระบบการเงินที่มีปัญหาเรื้อรังในแถบยุโรปและสหรัฐฯ
ทำให้แนวโน้มในความต้องการด้านการเงินอิสลามมีมากขึ้นด้วย
ดังนั้นนวัตกรรมในด้านอื่นๆจึงถูกเร่งผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งไปที่ความต้องการของตลาดและนักลงทุนเป็นสำคัญ
แต่ดูเหมือนว่าบรรดานายทุนและนักการเงินของโลกอิสลามจะเริ่มโดนระบบทุนนิยมโลกที่มุ่งแต่การแข่งขันอย่างดุเดือดและกำไรสูงสุดเป็นสำคัญดึงเอาระบบการเงินอิสบามออกจากความสมดุลที่ควรจะเป็น
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านวัตกรรมคือสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การเงินอิสลามมีที่ยืนเป็นทางเลือกในระบบการเงินโลก
แต่ด้วยนวัตกรรมอีกเช่นกันที่เริ่มส่อเค้าลางของการบ่มเพาะวิกฤตภายในตัวเองของระบบการเงินอิสลามขึ้นมา
ในปีนี้มีนวัตกรรมอยู่ 2
ประเภทที่เป็นไฮไลท์ในช่วงก่อนสิ้นปี นั่นก็คือ
การเกิดขึ้นของตลาดเงินอิสลามซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนและการล้นเกินของสภาพคล่องในธนาคารอิสลามซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของธนาคารอิสลามได้
แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลกว่านั่นก็คือ
การเกิดขึ้นของ “อนุพันธ์อิสลาม” (Islamic Derivatives)ซึ่งตอนนี้ธนาคารใหญ่ๆไม่ว่าจะเป็นสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ของอังกฤษ หรือ
ซีไอเอ็มบีของมาเลเซียต่างประกาศชัดว่าจะเร่งการให้บริการสัญญาอนุพันธ์นี้ภายในปี
2011 หากได้รับไฟเขียวจากทางการมาเลเซีย
โดยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์จะเน้นการให้บริการสัญญาอนุพันธ์ที่ใช้ประกันความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่น
ข้าวและน้ำมัน ขณะที่ซีไอเอ็มบีนั้นไปไกลกว่าเพื่อนก็คือ ต้องการออก Islamic
Credit Default Swaps (Islamic CDS) ซึ่งอิงบนหลักการเดียวกับสัญญา CDSในตะวันตกที่สัญญานี้ออกเพื่อจ่ายเงินชดเชยเงินต้นทั้งหมดหากหนี้สินที่ได้รับการประกันไว
คือ พันธบัตร ไมได้รับการชำระหนี้ตรงตามกำหนดหรือพูดง่ายๆธนาคารที่ออก CDS จะรับภารเงินต้นแทนหากผุ้ออกพันธบัตรเกิดชักดาบขึ้นมา
หากพิจารณาหลักการพื้นฐานของการเงินอิสลามอย่างหลักชารอะห์ก็จะพบว่า
จริงๆแล้วการเงินอิสลามนั้นระบุชัดว่า ผู้ประกอบการต้องมีการรับความเสี่ยงร่วมกันแต่ในตอนนี้มีการวางแผนที่จะออกสัญญาประกันความเสี่ยงต่างๆนานา
และด้วยความผันผวนของระบบการเงินและการมุ่งที่การหากำไรมากกว่าการเคร่งบนหลักการอิสลามจริงๆจะทำให้สัญญาประกันความเสี่ยงขยายตัวมากไปกว่านี้อีก
โดยนอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการเตรียมออกสัญญาประกันค่าเงินและอัตรากำไรอิสลามด้วย
นอกจากการสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักชารีอะห์ในระดับรากฐานแล้ว
หลักการอื่นๆของอิสลามที่เคร่งครัดกว่านี้อย่าง การาร์ (Gharar) ซึ่งห้ามเรื่องความแน่นอน, ไมเซียร์ (Maisir) ซึ่งห้ามการเก็งกำไรก็บ่งชัดว่ากิจกรรมที่มุ่งไปในการเล่นกับความเสี่ยงอย่างอนุพันธ์ก็สมควรห้ามด้วย
ซึ่งแน่นอนฝั่งผู้อยู่ในอุตสาหกรรมก็มักจะอ้างว่า
สัญญาพวกนี้จะไม่ใช่เพื่อซื้อขายและเก็งกำไร
แต่หากดูตัวอย่างในตะวันตกซึ่งก่อนเกิดวิกฤตการเงินธุรกิจการออกและค้าตราสารการเงินพิสดารในตระกูลตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์ก็เฟื่องฟูมาก
และมักจะอ้างถึงประโยชน์ต่างๆนานาทั้งการบริหารความเสี่ยง การลงทุนระยะยาว
การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มประสิทธิภาพ
แต่สุดท้ายแล้วทั้งกิจกรรมการออกและค้าตราสารอย่าง CDO ในสหรัฐฯและการออกและค้าCDS ในตลาดพันธบัตรยุโรปก็ก่อปัญหาจนกลายเป็นวิกฤตการเงินทั้งวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และการล้มละลายของLehman Brothers ในสหรัฐฯจากการเร่งผลิตไล่ปั่นราคาทั้งอสังหาริมทรัพย์และCDO มหาศาล
และการโจมตีตลาดพันธบัตรยุโรปและค่าเงินยูโรผ่านการปั่นราคา CDS เพื่อหวังผลในการทุบราคาพันธบัตรและค่าเงินผ่านการใช้ CDS สร้างความตื่นตระหนกให้ตลาดจนกลายมาเป็นวิกฤตในกรีซและไอร์แลนด์อย่างที่เห็น
จนทุกวันนี้ผู้นำยุโรปและในสหรัฐฯต่างเรียกร้องถึงการคุมตลาดอนุพันธ์อย่างเข้มข้นเพื่อเลี่ยงวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในอนาคต
จริงๆหาใช่เพียงการออกอนุพันธ์อิสลามเท่านั้นที่สมควรหลีกเลี่ยง
แต่บรรดากิจกรรมต่างๆในระบบตลาดเงินตลาดทุนอิสลามในปัจจุบันก็สมควรมีการทบทวนตัวเองด้วยโดยจะต้องมีการคำนึงถึงหลักการอิสลามและการสร้างประโยชน์ในระยะยาวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจริงๆ
การค้าตราสารทุนและผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆสมควรกำหนดขอบเขตเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรจนเกินตัวและนำไปสู่ความเสียหายของภาคเศรษฐกิจจริงด้วยเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยตะวันตกและเพื่อให้แน่ใจว่าระบบการเงินอิสลามจะไม่ถูกคนโลภในคราบอิสลามบางกลุ่มรวมทั้งกองทุนกระหายเลือดตะวันตกฉกฉวยโอกาสในการปั่นฟองสบู่รอบใหม่จนนำไปสู่ความเสียหายทั้งโลก
ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าระบบการเงินอิสลามในปัจจุบันมีลักษณะเชื่อมโยงไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ล่าสุดแม้แต่โอไอซียังคิดแม้กระทั่งการสนับสนุนการสร้างตลาดทุนระหว่างประเทศเชื่อมโยงระบบการซื้อขายทั่วทั้งโลกอิสลาม
กิจกรรมแบบนี้หากพิจารณาอย่างเคร่งครัดตามหลักอิสลามแล้วจะพบว่า เข้าข่ายส่งเสริมการเก็งกำไรอย่างชัดเจน
เพราะถ้าหากไม่หวังมูลค่าการซื้อขายในระดับโลกคงไม่คิดเอาประเทศมุสลิมทั้งโลกมาแพ็กรวมกันเพื่อแข่งกับระบบตลาดทุนขนาดใหญ่ในประเทศอื่นๆ
หากมุสลิมทั้งหลายไม่ลืมและยังระลึกถึงพระอัลเลาะห์อยู่พระองค์ก็ย่อมไม่ละทิ้งพวกเขา
พระองค์ประทานอัลกุราอ่านมาก็เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์หาใช่เป็นเพียงยี่ห้อการค้าของคนโลภบางกลุ่มเท่านั้น