รูปภา่พ : นายหลิว ปินเจี่ย ผู้อำนวยการ GAPP ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านธุรกิจสื่อของทางการจีน
ที่มา : China Daily
ประเทศจีนจะลงทุนมากขึ้นในองค์กรสื่อกระแสหลักต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรสื่อที่มีเป้าหมายเป็นผู้อ่านต่างประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อปรับปรุงการนำเสนอภาพที่ถูกต้องของจีนต่อโลกให้ดีขึ้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงรับผิดชอบด้านสื่อของรัฐบาลจีนเปิดเผย
แผนจำนวนมากเช่น การกระตุ้นให้องค์กรสื่อกระแสหลักตั้งสถานีทำการในต่างประเทศมากขึ้น ยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลกลางอยู่ นายหลิว ปินเจี่ย (Liu Binjie) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสื่อและสิ่งพิมพ์หรือ GAPP (General Administration of Press and Publication) เปิดเผยกับไชน่าเดลี่วันนี้ (4 มกราคม 2011)
“เนื่องจากสถานะของจีนในเวทีระหว่างประเทศกำลังพุ่งทะยาน องค์กรสื่อกระแสหลักของเราจึงมีอิทธิพลมากขึ้นทั่วโลกด้วย” นายหลิวกล่าว
ธันวาคม 2010 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของจีนได้ออกไชน่าเดลี่ฉบับสุดสัปดาห์ในยุโรปเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษและรวมถึงฉบับทวีปเอเชียด้วย (เป็นรายสัปดาห์เช่นกัน) ซึ่งครอบคลุมกลุ่มประเทศต่างๆในเอเชีย
ในเวลาเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ของทางการจีนอย่าง CCTV ก็ได้เปิดตัวศูนย์ข่าวภูมิภาคตะวันออกกลางในประเทศ UAE ด้วยการเปิดสำนักงานในดูไบ
นอกจากองค์กรสื่อของจีนแล้ว ยังมีบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่กำลังมองหาลู่ทางในการขยายฐานผู้อ่านในต่างประเทศ
เมื่อสิ้นสุดปี 2010 หนังสือและวารสารจีนได้เข้าสู่หอสมุดแห่งชาติในกว่า 193 ประเทศ จากข้อมูลของ GAPP
ต่างกับหลายปีที่ผ่านมา เมื่อชาวต่างชาติแสดงความสนใจในด้านวัฒนธรรมจีนโบราณอย่างเช่น มวยกังฟูและยาแผนโบราณจีน การเข้าสู่ความทันสมัยและเศรษฐกิจของจีนในตอนนี้กำลังดึงดูดความสนใจมากขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ
“มีประเทศจากตะวันตกจำนวนมากขึ้นกำลังขยายการค้ากับเรา” เขากล่าว โดยเพิ่มเติมอีกว่า ในอนาคตจีนจะทำการตีพิมพ์ชีวประวัติและงานวรรณกรรมเข้าสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น
นายหลิวกล่าวอีกว่า ตลาดสิ่งพิมพ์ในประเทศก็เฟื่องฟูมากด้วยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขจาก GAPP ระบุว่า จีนตีพิมพ์หนังสือกว่า 34,000 ล้านเล่มจากปี 2005-2010
ในปี 2010 ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2009 ขณะที่กำไรเติบโตกว่า 30% และปริมาณหนังสือพิมพ์หมุนเวียนคาดว่าจะทะลุ 50,000 ล้านฉบับด้วย จากตัวเลขของ GAPP
นายหลิวกล่าวด้วยว่า มูลค่าสินทรัพย์ รายได้ต่อปี และกำไรในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จีนทั้งหมดล้วนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากระดับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยยอดขายทะลุระดับ 1 ล้านล้านหยวน (152,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 5 ล้านล้านบาท) ในปี 2010
เขากล่าวอีกว่า GAPP ยังได้ลดขั้นตอนสำหรับสำนักพิมพ์ในการขอสมัครเลขใบอนุญาตสำหรับหนังสือหรือวารสารใหม่ๆในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วย
ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างของบรรดาสำนักพิทพ์ของรัฐบาลยังคงมีพัฒนาการที่ราบรื่น จากปี 2005-2010 สำนักพิมพ์ของรัฐบาลกลางทั้งหมดจำนวน 148 แห่งได้ปรับโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์และกลายเป็นบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างเช่น ร้านหนังสือซินหัวกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศได้กลายเป็นบริษัทแล้วเพื่อเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดเข่มข้น จากข้อมูลของ GAPP
ที่มา China Daily
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ