รูปภาพ : เจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะผู้ประท้วงในเขต El-Harrache ของเมืองแอลเจียร์ส เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2010 ที่ผ่านมา หลังไม่พอใจราคาอาหารแพงเป็นประวัติการณ์
ที่มา : AOMAR OUALI จากสำนักข่าว AP
วัยรุ่นแอลจีเรียหลายร้อยคนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่ของประเทศแอลจีเรีย รวมถึงในกรุงอัลเจียร์ส เมืองหลวงหลังจากประชาชนไม่พอใจอย่างหนักกับปัญหาราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและการว่างงานเรื้อรัง
เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้เฮลิค็อปเตอร์บินวนรอบกรุงแอลเจียร์ ขณะเดียวกันบรรดาร้านค้าต่างๆต้องรีบปิดให้บริการก่อนเวลาปกติ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงถูกส่งลงมาตั้งจุดสกัดตามถนนต่างๆในเมือง Bab El-Oued ตั้งแต่คืนวันพุธที่ 5 มกราคม 2011 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเปิดฉากยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงต่อเนื่องตลอดทั้งคืน จนถึงขณะนี้ (เช้าวันที่ 7 มกราคม 2011 ตามเวลาประเทศไทย) เหตุการณ์ยังไม่มีทีท่าจะสงบลง
ล่าสุดสถานทูตสหรัฐฯในแอลจีเรียได้ออกประกาศเตือนชาวอเมริกันที่อยู่ในแอลจีเรียระวังตัวและหลีกเลี่ยงฝูงชน
บรรดาวัยรุ่นแอลจีเรียที่ไม่พอใจรัฐบาลได้ต่างพากันก่อเหตุจลาจลตั้งแต่ช่วงค่ำวันพุธ ผู้ประท้วงทำการเผาสถานที่ต่างๆทั้งสถานีตำรวจ ร้านตัวแทนจำหน่ายรถเรโนต์ ร้านโทรศัพท์มือถือ และอาคารอื่นๆต่างถูกเผากันถ้่วนหน้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลก็ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่คืนวันพุธเช่นกันเพื่อระงับเหตุ
ขณะที่แถบชานเมืองของเมืองรุยบา (Rouiba) กลุ่มวัยรุ่นได้เผายางรถยนต์และเต้นไปรอบๆและร้องออกไปว่า “เอาน้ำตาลมาให้เรา” ขณะที่คนอื่นๆได้ดึงเอาป้ายสัญลักษณ์ตามถนนออกและทุบไฟส่องทางตามถนนด้วยท้อนเหล็ก ด้านเขตชานเมืองของเมือง Bordj El-Bahri ทางตะวันออกของเมืองหลวงแอลเจียร์ส ผู้ประท้วงได้เผาสถานีตำรวจ ด้านเมืองเดอร์กาน่า (Dergana) ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน กลุ่มวัยรุ่นได้จุดไฟเผาศาลากลางของเมือง
ขณะเดียวกันสื่อท้องถิ่นก็รายงานด้วยว่า การจลาจลได้ลุกลามไปยังเมืองอื่นๆทั้งเมืองโอราน (Oran) และเมืองบิลด้า (Bilda) ด้วย โดยที่เมืองโอราน บรรดาวัยรุ่นได้บุกไปยังโกดังสินค้าเพื่อขโมยเอาถุงแป้งออกมา
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้ถนนต่างๆถูกปิดไป ส่งผลให้นักเรียนและคนงานไม่สามารถกลับบ้านได้ บรรดาผู้ปกครองต่างต้องโทรศัพท์หาลูกๆผ่านมือถือ เตือนให้พวกเขาหาที่้ปลอดภัย
ประเทศแอลจีเรียกำลังฟื้นตัวหลังจากเหตุจลาจลครั้งใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศในทศวรรษที่ 1990 หลังจากกองทัพได้ยกเลิกการเลือกตั้งในปี 1992 ซึ่งพรรคอิสลามคาดว่าจะชนะ โดยเมือง Bab El-Oued ถือเป็นฐานถือมั่นเก่าของพรรค “แนวร่วมกอบกู้อิสลาม” หรือ FIS (Islamic Salvation Front) ซึ่งตอนนี้ถูกยุบไปแล้ว
ราคาอาหารทั้งแป้งและน้ำสลัดพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลาไม่ไกี่เดือน ขณะที่ราคาน้ำตาลก็พุ่งมากกว่าเท่าตัวเช่นกัน ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมา น้ำตาลในแอลจีเรียราคาแค่กิลโลกรัมละ 70 ดีน่าร์ แต่ตอนนี้ราคาพุ่งเป็นกว่า 150 ดีน่าร์ต่อกิโลกรัม
“กลุ่มวัยรุ่นกำลังบ้าคลั่งกับระบบปัจจุบัน พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศที่ร่ำรวยนี้ไม่สามารถสร้างงาน บ้าน และ ความเป็นอยู่ที่เหมาะสมให้กับประชาชนได้” โมฮัมเหม็ด ซาอิด อายุ 55 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง Bab El-Oued กล่าวกับรอยเตอร์
ด้านชาวเมืองอีกคนชื่อ มิเลาด์ อาซิส อายุ 47 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “มันทั้งหมดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกๆของเรา ราคาแพงเกินไปสำหรับคนอย่างเรา มากเกินไป มันมากเกินไป”
ขณะที่อามาร่า อูรับ ชาวเมือง Bab El-Oued อีกคนกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “พวกเขาทำถูกแล้ว คนหนุ่มเหล่านี้ พวกเขาไม่มีงาน ไม่มีบ้าน ไม่มีวีซ่า (เพื่อไปที่ประเทศอื่น) และตอนนี้ ไม่มีแม้กระทั่งขนมปังหรือนม”
ตัวเลขการว่างงานของทางการระบุว่า อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ 10% แต่บรรดาองค์กรอิสระอื่นๆให้ตัวเลขจริงๆไว้ที่เกือบ 25%
ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 286,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างงานและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ประธานาธิบดีอับเดลาซิส บูเตฟลิก้า (Abdelaziz Bouteflika) ยังได้สัญญาว่าจะสร้างบ้านใหม่กว่า 1 ล้านหลังภายในปี 2014
ประเทศแอลจีเรียถือเป็นหนึ่งใน 10 ผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก คาดว่าจะนำเข้าข้าวสาลี 5.3 ล้านตันในฤดูกาลผลิต 2010-2011 สิ้นสุดเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 2.5% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ
เหตุจลาจลในแอลจีเรียครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดเหตุประท้วงขึ้นในประเทศตูนิเซียช่วงกลางเดือนธันวาคมจากปัญหาการว่งงาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
โดยเหตุจลาจลในตูนิเซียเกิดขึ้นหลังจากชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจเผาตัวเองเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ในแถบซิดี บูซิด หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดผลไม้และผักที่เขาขายโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ชายคนนั้นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแต่กลับหางานประจำทำไม่ได้
ที่มา Arab News, Reuters และ Financial Times
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday