วันที่ 10 มกราคม ความคืบหน้าของเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส หลังจากฝนได้หยุดตกลงมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำที่ไหลเอ่อท่วมหมู่บ้านริมตลิ่งแม่น้ำบางนรา ใน 3 ตำบลของ 2 อำเภอ คือ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ และ ต.มะนังตายอ , ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งมีระดับน้ำท่วมสูงถึงเกือบ 2 เมตร ล่าสุดขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว เหลือประมาณ 30 ซม. – 1 เมตรเท่านั้น
ส่วนบรรยากาศภายในโรงเรียนบ้านแกแมเก้า ม.9 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ มีคณะครูและนักเรียนจำนวนหนึ่งมาโรงเรียนเพื่อร่วมกันทำความสะอาดห้องเรียน ภายหลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลง และจะเปิดเรียนได้ในวันที่ 11 ม.ค.54 นี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าระดับน้ำท่วมจะเริ่มลดระดับลงแล้ว แต่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำบางนรา ยังคงปิดการเรียนการสอนในวันนี้อีกจำนวน 5 โรง ประกอบด้วย โรงเรียนใน ต. ตันหยงมัส จำนวน 4 โรง คือ 1.โรงเรียนบ้านวัดร่อน 2.โรงเรียนบ้านแกแมเก้า 3.โรงเรียนบ้านกอแนะเหนือ 4.โรงเรียนบ้านบ่อทอง และอีก 1 โรงในพื้นที่ ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส คือ โรงเรียนวัดลำภู
นายเดชรัฐ สิมสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ทหารและตำรวจนั่งเรือท้องแบน เพื่อนำถุงยังชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปมอบแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกในพื้นที่ ม.3 บ้านปาดังยอ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์อุทกภัย โดยระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเข้าท่วมบ้านเรือนสูงกว่า1.50 เมตร ราษฎรไม่มีไฟฟ้าใช้ และถูกตัดขาดจากพื้นที่รอบนอกมากว่า1สัปดาห์ แล้ว
ทั้งนี้ราษฎรผู้ยากไร้และได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่ได้รับถุงยังชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่างรู้สึกปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรในพื้นที่ ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็ทรงพระราชทานความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง โอกาสนี้พสกนิกรในพื้นที่จึงได้ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระเจริญและมีพระชนมายุยิ่งยืนนานเพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
นายอดุลย์ พรมแสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นราธิวาส เขต 2 เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังจากประสบปัญหาน้ำท่วม ล่าสุดฝนได้หยุดตกแล้วและระดับน้ำเริ่มคลี่คลายยกเว้นพื้นที่ราบลุ่มที่ยังมีน้ำท่วมขังสูง ทำให้โรงเรียนประมาณ 6 แห่งในอำเภอตากใบ3แห่ง อำเภอสุไหงโก-ลก จำนวน2แห่ง และอำเภอสุไหงปาดี1แห่งยังต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว
เนื่องจากทั้งหมดมีทำเลที่ตั้งอยู่พื้นที่ลุ่ม และใกล้แม่น้ำทำให้ทั้งข้าราชการครู และนักเรียนยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปโรงเรียนได้ และที่สำคัญต้องใช้เวลาในการเข้าเคลียร์พื้นที่และฟื้นฟูโรงเรียนก่อนเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ซึ่งจะได้ประสานขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อเข้าไปดำเนินฟื้นฟูพื้นที่โดยเร็วที่สุด
“จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง 6 แห่ง คาดการณ์ว่าจะกลับมาทำการเรียนการสอนได้ตามปกติอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่13 มกราคม นี้ โดยจะสามารถเข้าทำความสะอาดและจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ได้รับความเสียหายหลังจากน้ำลดเสียก่อน” นายอดุลย์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม น้ำได้ท่วมของ 13 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำสุไหงโก-ลก บางนราและแม่น้ำสายบุรี มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.20 เมตร และได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม และขยายวงกว้างกินพื้นที่ 11 อำเภอแล้ว คือ อำเภอสุไหงโก-ลก แว้ง ตากใบ เจาะไอร้อง จะแนะ ระแงะ สุไหงปาดี ยี่งอ บาเจาะ รือเสาะและอำเภอเมือง โดยพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลกมีระดับน้ำท่วมขังสูงสุดโดยภาพรวมเฉลี่ย 60-130 เซนติเมตร คือ บริเวณชุมชนหัวสะพาน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ส่วนพื้นที่อำเภออื่นๆ นั้น มีปริมาณน้ำท่วมขังโดยภาพรวมสูงเฉลี่ย 40-60 เซนติเมตร ส่งผลทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ใน 182 หมู่บ้าน 49 ตำบล 11 อำเภอได้รับความเดือดร้อน 10,014 ครัวเรือน รวม 38,446 คน พื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมขัง จำนวนกว่า 9,000 ไร่ ถนนสายหลักและสายรองภายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วม 67 สาย นอกจากนี้ผลพวงของฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ยังส่งผลทำให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา จ.นราธิวาสทั้ง 3 เขต ถูกน้ำท่วมแล้ว จำนวนกว่า 10 โรง และคาดว่าในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนเป็นการฉุกเฉิน จนกว่าสภาวะน้ำท่วมจะคลี่คลาย ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันอพยพราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.ระแงะ แว้งและอำเภอสุไหงโก-ลก ไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราวในแต่ละพื้นที่อำเภอแล้ว จำนวนกว่า 450 คน
จากผลพวงของสภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ ชาวบ้านได้เริ่มทยอยซื้อสินค้าอาหารแห้งมากักตุน เนื่องจากในอดีตเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม ผู้ประกอบการมักฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ซึ่งแพงกว่าราคาปกติเกือบเท่าตัว โดยอ้างว่าสินค้าขาดตลาด เนื่องจากการขนส่งไม่สะดวก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1929 ครั้ง