เผาเมืองที่แอลจีเรีย : เมื่อวิกฤตอาหารโลกจุดชนวนความเสี่ยงรับทศวรรษใหม่
โดย เบ๊นซ์ สุดตา
ประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารและระบบการเกษตรโลกนั้นเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่Mtoday ติดตามข้อมูลข่าวสารและนำเสนอบทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องนับแต่Mtoday เริ่มทำหน้าที่สื่อสารมวลชนตั้งต้นแต่ปี 2010
และดูเหมือนว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกจะยืนยันถึงสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
หลังจากผู้คนทั่วโลกเบิกบานและสนุกสานกับเทศกาลคริสต์มาสและต่อเนื่องจนถึงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่
ปี 2011 เป็นต้นมา แทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังงานรื่นเริงนี้จบลงจะเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในประเทศแอลจีเรียซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนวัยรุ่นซึ่งตกงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้วกลับต้องเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพงจากการที่ราคาอาหารต่างๆพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
สุดท้ายทนไม่ไหวจนต้องออกมาก่อการจลาจล เผาเมือง ปล้นสะดมเพื่ออาหารเลี้ยงปากท้อง
เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่คืนวันพุธที่ 5 มกราคม 2011 เป็นต้นมา
จนกระทั่งท้ายที่สุดรัฐบาลแอลจีเรียต้องตัดสินใจลดราคาน้ำตาลและน้ำมันพืชลง 41% เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2011 ที่ผ่านมาเพื่อควบคุมไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย
เหตุการณ์จลาจลหลังจากราคาอาหารและสิ่งยังชีพอื่นๆพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
ตอนวิกฤตอาหารปี 2008 มีประเทศกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่มีการจลาจลครั้งใหญ่หลังจากประชาชนไม่พอใจกับราคาอาหารที่พุ่งขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว
ล่าสุดปี 2010 ก่อนเกิดกรณีที่แอลจีเรียก็เกิดการจลาจลเผาเมืองและปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอย่างรุนแรงในนครมาปูโต้
เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิกช่วงต้นเดือนกันยายน 2010
หลังจากรัฐบาลตัดสินใจขึ้นราคาขนมปัง 30% และสุดท้ายเหตุการณ์ก็จบลงหลังจากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการขึ้นราคาขนมปังและรับภาระการแทรกแซงราคาผ่านการอุดหนุนแทน
หากมองดูผิวเผินจะพบว่า
ปัญหาวิกฤตอาหารในช่วงทีผ่านมานั้นจะกระจุกตัวเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงของการปะทุขึ้นของความเสี่ยงทางการเมืองเนื่องจากราคาอาหารและสิ่งยังชีพในประเทศอาหรับและประเทศยากจนในที่อื่นๆด้วย
เนื่องจากปัญหาการว่างงานและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงมาก
แต่เนื่องจากประเทศอาหรับโดยเฉพาะกลุ่ม GCC มีทรัพยากรทางการเงินมากและรัฐบาลมีเสถียรภาพสูงเพราะเป็นรัฐบาลที่นำโดยกลุ่มชนชั้นนำในราชวงศ์
ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาดีกว่าประเทศยากจนที่เป็นประชาธิปไตย
แต่หากมองให้ไกลกว่านั้นก็ใช่ว่าความเสี่ยงทางการเมืองจากวิกฤตอาหารนี้จะกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะประเทศยากจนหรือประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น
ประเทศพัฒนาแล้วหรือแม้แต่ประเทศผู้ส่งออกอาหารเองก็สามารถเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองนี้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือสหรัฐฯต่างมีปัญหาของอัตราการว่างงานที่ยังคงสูงอยู่
ในสหรัฐฯเองซึ่งอัตราการว่างงานยังคงอยู่เหนือระดับ 9% มานานหลายไตรมาสส่งผลให้เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่นัก
ในสหรัฐฯยังคงมีผู้คนจำนวนมากที่ยังรับแสตมป์อาหารเพื่อยังชีพ
ขณะที่ปัญหาวิกฤตการเงินในยุโรปก็ส่งผลให้มีการตัดลดงบประมาณมหาศาลของรัฐบาลในหลายๆประเทศเพื่อลดการขาดดุลและหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อความน่าเชื่อถือของประเทศมาก
นั่นส่งผลให้เกิดการปลดคนงานครั้งใหญ่ในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก
นอกจากนั้นแล้วยังมีการทบทวนภาระค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมด้วย
ในยุโรปเองก็เผชิญกับการประท้วงของประชาชนและบรรดาสหภาพแรงงานอันเนื่องมาจากความไม่พอใจที่รัฐบาลเลือกอุ้มสถาบันการเงินด้วยภาษีประชาชนแต่มาตัดผลประโยชน์ด้านสวัสดิการและการปลดคนงานแทน
ซึ่งถ้าหากราคาอาหารยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเทศที่มีระดับรายได้สูงในยุโรปและสหรัฐฯเองก็อาจเผชิญปัญหาทางการเมืองจากการไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนในประเทศได้
อีกด้านหนึ่งเมื่อวิกฤตอาหารปะทุขึ้นอย่างรุนแรง
นั่นกลับกลายเป็นโอกาสของประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกอาหารหรือแม้แต่ประเทศยากจนแต่โดยพื้นฐานแล้วสภาพทรัพยากรต่างๆทั้งดินและน้ำสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนโฉมเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารได้เช่นกัน
เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดกระแสที่เรียกว่า “การไล่ล่าที่ดิน” หรือ Land Grab ขึ้นทั่วโลก
ทำให้เกิดการไล่ซื้อหรือทำสัญญาเช่าระยะยาวกับที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในแอฟริกา
ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก อาเซียน
หรือแม้แต่ในสหรัฐฯเองซึ่งบรรดาเฮดจ์ฟันด์ไล่ประมูลที่ดินกันแบบรายสัปดาห์
การที่กองทุนทั้งภาครัฐและเอกชนไล่ซื้อหรือเช่าที่ดินเกษตรทั่วโลกนั้นแง่หนึ่งก็เพื่อสนองต่อความต้องการในการบริหารความมั่นคงทางอาหารระยะยาวและเพื่อความมั่งคั่งของนักลงทุน
แต่ในอีกแง่หนึ่งก็กลายเป็นการสร้างความหวาดวิตกกับประเทศเจ้าของที่ดินถึงจุดประสงค์และผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศผู้รับการลงทุนเช่นกัน
กรณีที่เกิดการรัฐประหารที่มาดากัสก้านั้นหลายฝ่ายสันนิษฐานกันว่า
สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการให้บริษัทเกาหลีใต้เช่าที่ดินระยะยาว
ในด้านนี้นอกจากจะเกิดความเสี่ยงในแง่ของความไม่พอใจของคนท้องถิ่นที่วิตกว่าอาหารของตัวเองจะถูกส่งออกหมดและอาชีพการเกษตรจะตกในมือต่างชาติ
ความเสี่ยงของการปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศและมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆก็เป็นความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่งที่จะมาพร้อมกับวิกฤตอาหารได้
ซึ่งในอนาคตบรรดาความเสี่ยงต่างๆดังที่กล่าวมานี้จะปกคลุมสภาพเศรษฐกิจและการเมืองโลกไปอย่างน้อยอีก
10 ปีข้างหน้านับจากนี้อย่างแน่นอน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1793 ครั้ง