ปตท.เตือนรัฐตรึงแอลพีจีครัวเรือน-ขนส่งสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคอาจจูงใจคนใช้รถยนต์หันเติมแอลพีจีเพิ่ม ในขณะที่นโยบายเอ็นจีวีดับสนิท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เปิดเผยถึงการประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล ในกรณีการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ในภาคขนส่งและครัวเรือน แต่ปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม นั้น จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในระยะยาวได้ เนื่องจากจะทำให้การใช้แอลพีจีในภาคขนส่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยรถยนต์จะหันมาใช้แอลพีจีแทนน้ำมันส่งผลให้มีปั๊มแอลพีจีเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว
ประเสริฐ
นอกจากนี้ยังทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลพีจีในปริมาณที่สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมามีปริมาณนำเข้าถึง 1 ล้านตัน และใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนในวงเงินที่มากขึ้น ทั้งนี้ในนระยะกลางและระยะยาวรัฐบาลควรขยับราคาแอลพีจีภาคขนส่งและครัวเรือนขึ้นมาบ้าง เนื่องจากใช้นโยบายตรึงราคาแอลพีจีมาตั้งแต่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมา 4-5 เท่ามาอยู่ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้ว แต่ก็ยังใช้นโยบายตรึงราคาอยู่เหมือนเดิม
“ถ้ารัฐบาลยังปล่อยไว้แบบนี้ คาดว่าระยะกลางและระยะยาวแอลพีจีจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ขณะเดียกวันหากรัฐไม่ขึ้นราคาแอลพีจีขนส่งก็ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี)ปรับขึ้นไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ปตท.จำหน่ายอยู่ 8.50 บาท/ก.ก. ต่ำกว่าต้นทุนที่อยู่ในระดับ 14 บาท/ก.ก. ซึ่งแบกรับภาระขาดทุนปีละ 1 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปในปี 2555 คงจะลงทุนในเรื่องเอ็นจีวีต่อไปไม่ไหว ยิ่งขยายการลงทุนมากต้องรับภาระขาดทุนมากขึ้น ซึ่งรัฐควรพิจารณาว่าจะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้อย่างไร หากจะให้มีการลงทุนต่อ”นายประเสริฐ กล่าว
ด้าน นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.กล่าวว่า การตรึงราคาแอลพีจี คงต้องนำเข้าในระดับสูงต่อไป จากปัจจุบันที่มีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีเดือนละ 1.3 แสนตัน และบางเดือนก็นำเข้าสูงถึง 1.5 แสนตัน/เดือน ซึ่งมองว่าในหลักการแล้วราคาพลังงานน่าจะปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบ้าง อย่างประเทศกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ(จี20)ก็มีมติให้ลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ส่วนจีนและอินโดนีเซีย เริ่มมีการประกาศลดการดอุดหนุนเพราะเห็นว่าไม่เป็นผลดีในระยะยาวหากมีการอุดหนุนต่อเนื่อง ในขณะที่ไทยยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานอยู่จนทำให้เกิดการบิดเบือนของโครงสร้างราคา
การที่รัฐบาลตรึงราคาแอลพีจีไว้ที่ระดับ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ราคาแอลพีจีในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 930 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือตรึงราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งไว้ที่ 18.13 บาทต่อลิตรนั้น หากไม่ปรับขึ้นราคาในภาคขนส่งเลย ก็จะทำให้การใช้แอลพีจีในภาคขนส่งสูงขึ้น โดยปี2553การใช้แอลพีจีในภาคขนส่งขยายตัว13%
น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานขอติดตามมติ ครม. ในเรื่องนโยบายประชาวิวัฒน์ก่อน จึงจะหารือในรายะละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งในส่วนของราคาแอลพีจีครัวเรือนและขนส่งไม่ได้หมายความว่า หลังหมดเวลาการตรึงราคาช่วงเดือนก.พ. นี้แล้ว ราคาจะไม่ขยับขึ้น แต่จะขึ้นหรือไม่ขณะนี้ย้ำว่าต้องดูความเหมาะสม และในส่วนของแอลพีจี เพื่ออุตสาหกรรมในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเพื่อปรับราคาลอยตัวตามนโยบายนายกรัฐมนตรีในเดือนก.ค. นั้น ในช่วงนี้กระทรวงพลังงานจะหารือกับภาคอุตสาหกรรมเช่น กลุ่มเซรามิค และกลุ่มกระจก ว่า เดือดร้อนอย่างไร และจะปรับเปลี่ยนมาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อลดผลกระทบได้หรือไม่
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1487 ครั้ง