รูปภาพ : นายโยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น
ที่มา : Bloomberg
รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมซื้อพันธบัตรยูโรในเดือนมกราคมนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงการสนับสนุนความพยายามของยุโรปในการจัดการแก้วิกฤตหนี้สาธารณะ แต่บรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินต่างตั้งข้อสงสัยถึงท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะช่วยหนุนเงินยูโรได้มากขนาดไหน
นายโยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (อังคารที่ 11 มกราคม 2011) ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการซื้อพันธบัตรยูโรจำนวน 20% ซึ่งจะออกร่วมกัน (ในนามรัฐบาลยุโรป) ในเดือนนี้เพื่อระดมทุนเพื่อช่วยเหลือไอร์แลนด์ นายโนดะกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นจะใช้ทุนสำรองที่อยู่ในรูปของเงินยูโรอยู่แล้วมาซื้อพันธบัตร
การเสนอของญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลังจากจีนได้ยืนยันอีกครั้งถึงคำมั่นของรัฐบาลจีนที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนและบรรดานักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีครั้งนี้แสดงถึงความกังวลของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งการส่งออกและความพยายามของญี่ปุ่นในการกลับมามีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้ง
“ผมคิดว่ามันเหมาะสมกับญี่ปุุ่นในการซื้อพันธบัตรจำนวนหนึ่งเพื่อเสริมความมั่นใจใน EFSF (European Financial Stability Facility) และทำการลงขันในฐานะประเทศใหญ่” นายโนดะกล่าว
สหภาพยุโรปได้จัดตั้งกองทุนมูลค่า 440,000 ล้านยูโรเพื่อเป็นตาข่ายคุ้มครองสำหรับประเทศกลุ่มเงินยูโรที่มีภาระหนี้สินมาก แต่มาตรการนี้กลับล้มเหลวในการยับยั้งนักลงทุนไม่ให้เก็งว่าจะมีการทุ่มเงินเพื่ออุ้มรัฐบาลยุโรปอื่นๆเพิ่มเติม
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ญี่ปุ่นจะยังคงซื้อพันธบัตรยูโรที่ออกภายใต้โครงการนี้ (โครงการพันธบัตรยุโรปเพื่ออุ้มประเทศที่มีปัญหาหรือ EFSF) ต่อไปในฐานะชาติสมาชิกกลุ่ม G7 เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกและควบคุมไม่ให้วิกฤตหนี้ลุกลาม แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อเนื่องจากเขาไม่มีหน้าที่พูดให้ข่าวกับสื่อ
การออกตัวของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสเมื่อวานนี้ (วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2011) หลังจากมีการเก็งกันว่า โปรตุเกสอาจต้องเดินตามกรีซและไอร์แลนด์ในการขอมาตรการความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ส่งผลให้เงินยูโรร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน
ด้านนาย Jyri Kaitanen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟินแลนด์ได้ออกมาให้ความเห็นในวันนี้ว่า ไอร์แลนด์จะไม่ใช่ประเทศสุดท้ายที่ขอความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งต่างจากความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆที่มองว่า ในตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม
นาย Kaitanen กล่าวกับโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า รัฐบาลโปรตุเกสต้องรีบจัดการกับปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความกังวลของตลาด แม้ว่าเขาจะปฏิเสธที่จะพูดถึงว่า ตอนนี้มีการหารือกันถึงการให้เงินกู้แก่โปรตุเกสหรือไม่
การประกาศของญี่ปุ่นช่วยให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้สูงสุดที่ 1.2992 ดอลลาร์ต่อยูโร บนระบบการซื้อขาย EBS จากระดับ 1.2925 ดอลลาร์ต่อยูโรก่อนหน้านี้
แต่หลังจากนั้นเงินยูโรก็ร่วงลงมาหลังจากเป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ทุนสำรองยูโรที่มีอยู่แล้วหมุนไปซื้อพันธบัตรและบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่า แรงส่งจากท่าทีของญี่ปุ่นจะมีผลในช่วงสั้นๆเท่านั้น
“ผมไม่คิดว่า การออกมาพูดครั้งนี้จะเปลี่ยนพื้นฐานของเงินยูโรได้เลย” นายทอดด์ เอลเมอร์ นักกลยุทธ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจากซิตี้กรุ๊ปในสิงคโปร์ให้ความเห็นกับรอยเตอร์
“แม้จะเผชิญกับความจริงที่ว่า เรากำลังเห็นการออกมาหนุน (เงินยูโร) จากทั่วโลก มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาที่แท้จริงๆได้ และนั่นจะไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งตัวรัฐบาลยุโรปเองจะมาพร้อมกับมาตรการแก้ไขที่ครอบคลุมกว่านี้”
อิทธิพลจีน
บรรดานักวิเคราะห์ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากความกังวลว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปจะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นอาจกำลังปฏิบัติการเพื่อรักษาที่ยืนของญี่ปุ่นในเกมการทูตเศรษฐกิจโลกด้วย หลังจากจีนได้ออกตัวว่าจะช่วยซื้อพันธบัตรยุโรปก่อนหน้านี้
การประกาศของจีนเพื่อหนุนสเปนซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 4 ของกลุ่มเงินยูโรซึ่งถูกมองว่าสุ่มเสี่ยงที่สุดหากวิกฤตลุกลามไปถึงโปรตุเกส เกิดขึ้นหลังจากจีนประกาศว่าจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีกเมื่อปีที่แล้ว กรีซเป็นชาติแรกที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินหลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ
“ด้วยท่าทีของจีนที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลกลุ่มเงินยูโรและความโดดเด่นที่มากขึ้นของการทูตสกุลเงิน (Currency-Based Diplomacy) ญี่ปุ่นมีความชัดเจนมากขึ้นในด้านความพยายามที่จะเดินตามจีนเพื่อรักษาการสนับสนุนจากยุโรปเอาไว้ในการเจรจาต่อรองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นกับสหรัฐฯหรือจีน” นายยาสุนาริ อูเอโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดการเงินจากบริษัทหลักทรัพย์มิซูโฮ (Mizuho Securities)
บรรดานักวิเคราะห์ยังกล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับจีนซึ่งมีปัญหากับยุโรปและสหรัฐฯในเรื่องค่าเงินหยวน ญี่ปุ่นสามารถใช้เงินก้อนนี้ในการสร้างมิตรหลังจากมาตรการแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่าหนักจากประเทศคู่ค้า
ข้อมูลที่ออกมาในวันนี้ยืนยันว่า ญี่ปุ่นใช้เงินไปกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์จากทุนสำรอง 1.1 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปีที่แล้วซึ่งเป็นรองแค่ของจีนที่มี 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสกัดไม่ให้เงินเยนพุ่งขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
ในฐานะของส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือไอร์แลนด์มูลค่ากว่า 80,000 ล้านยูโรที่ตกลงกันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สหภาพยุโรปมีความประสงค์ที่จะออกพันธบัตรอ้างอิงจำนวน 4-5 ฉบับในปีนี้โดยตั้งใจให้แต่ละฉบับมีมูลค่าราว 3,000-5,000 ล้านยูโรสำหรับการเสนอขายในแต่ละครั้ง
ด้านแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสหภาพยุโรปกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2011 ว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส และ ชาติสมาชิกยูโรคนอื่นๆกำลังผลักดันให้โปรตุเกสมองหามาตรการช่วยเหลือร่วมกันของสหภาพยุโรป-ไอเอ็มเอฟเช่นเดียวกับกรีซและไอร์แลนด์ก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะมีมูลค่าราว 50,000-100,000 ล้านยูโร
ที่มา ข่าว Real Time จากโปรแกรม Reuters 3000 Xtra
ไอดีข่าว nL3E7CB076
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday