รูปภาพ : ผู้ประท้วงชาวตูนิเซียปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลในเมือง Cite Ettadhamen ใกล้กับเเมือหลวงคือ นครตูนิส (Reuters)
ที่มา : BOUAZZA BEN BOUAZZA ช่างภาพ AP
ประเทศลิเบีย จอร์แดน และ โมร็อคโค ได้ระดมมาตรการเพื่อควบคุมราคาอาหารหลังเกิดวิกฤตจลาจลรุนแรงทั้งในตูนิเซียและแอลจีเรียซึ่งปะทุขึ้นจากปัญหาการว่างงานและความยากจน
ด้านรัฐบาลลิเบียได้ยกเลิกภาษีและค่าธรรมเนียมทางศุลกากรที่เก็บบนสินค้าที่ทำจากข้าวสาลี ข้าว น้ำมันพืช น้ำตาล และนมเด็กทั้งที่ผลิตขึ้นในประเทศและสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ขณะที่รัฐบาลจอร์แดนได้ลดภาษีที่เก็บบนเชื้อเพลิงและอาหารบางรปะเภท และรัฐบาลโมร็อคโคได้เสนอระบบการจ่ายค่าชดเชยใสห้กับผู้นำเข้าข้าวสาลีอ่อน (Soft Milling Wheat) เพื่อรักษาระดับปริมาณอาหารเอาไว้เนื่องจากราคาในตลาดโลกพุ่งต่อเนื่อง
ตูนิเซียหนึ่งในประเทศอาหรับที่มีการควบคุมทางการเมืองเข้มข้นที่สุดเผชิญวิกฤตการจลาจลหนักในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาโดยกลุ่มวัยรุ่นที่โกรธแค้นจากปัญหาการว่างงาน ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างแอลจีเรียก็เผชิญกับการจลาจลใหญ่เป็นเวลา 3 วันด้วยกันหลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานอย่างน้ำมันและน้ำตาลพุ่งอย่างพรวพราด ท้ายที่สุดรัฐบาลแอลจีเรียตัดสินใจลดราคาอาหารลงมาเพื่อปลีกเลี่ยงการปะทะกับฝูงชนที่โกรธแค้นอย่างหนัก
รัฐบาลจอร์แดนกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า ทางการกำลังเตรียมยกเลิกภาษีการขายพิเศษ (Special Sales Tax) 6% ที่เก็บบนเคโรซีนและน้ำมันดีเซล และทางการได้ลดภาษีที่เก็บบนน้ำมันเชื้อเพลิงจาก 18% เหลือ 12% รัฐบาลจอร์แดนยังระบุอีกว่า ทางการได้จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมให้กับบริษัทจัดหาอาหารของรัฐบาลซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของอาหารที่จำเป็นอย่างเช่น น้ำตาล ข้าว และสัตว์ปีก
บรรดารัฐมนตรียังได้รับมอบหมายให้ดำเนินมาตรการต่างๆที่จำเป็นเพื่อลดราคาอาหารพื้นฐานทุกชนิดซึ่งตอนนี้ราคาแพงเกินไป รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้ระงับการส่งออกโภคภัณฑ์ใดๆก็ตามที่คิดว่าราคาสูงเกินไปในตลาดภายในประเทศ
รัฐบาลชาติอาหรับส่วนใหญ่อุดหนุนราคาอาหารในฐานะส่วนหนึ่งของสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกมันว่า “ข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร” โดยรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้จะหยิบยื่นการเข้าถึงอาหารราคาถูกแลกกับการสงบเงียบของประชาชน
ขณะที่รัฐบาลอิยิปต์ได้จัดสรรเงินเป็นมูลค่ากว่า 7% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีไปเพื่ออุดหนุนราคาอาหารและเชื้อเพลิง แม้ว่าทางการจะรู้ดีว่านี่เป็นการผลาญงบประมาณที่สูงมากและสิ้นเปลือง พวกเขาก็ไม่กล้าที่จะลดหรือปรับโครงสร้างระบบการอุดหนุนเนื่องจากกลัวว่าเหตุรุนแรงอาจปะทุขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อด้านราคาอาหารก็วิ่งแตะจุดสูงสุดของปี 2010 ที่ระดับ 22% และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็เกิดการประท้วงขนาดย่อยหลายร้อยครั้งอันเนื่องมาจากความไม่พอใจทางเศรษฐกิจ ในกรณีโดยส่วนใหญ่ รัฐบาลมักจะพยายามยอมทำตามความต้องการของผู้ประท้วงเพื่อควบคุมอารมณ์โกรธแค้นของผู้ชุมนุม
ด้านสถานการณ์ล่าสุดในตูนิเซียก็เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่การประท้วงส่อแววบานปลายกล่าเดิมและรัฐบาลยังคงควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ล่าสุดเมื่อคืนวานนี้ (พุธที่ 12 มกราคม 2011) รัฐบาลตูนิเซียตัดสินใจประกาศภาวะเคอร์ฟิวในเมืองหลวง กรุงตูนิส ของประเทศตูนิเซีย ส่งผลให้ร้านรวงต่างๆต้องปิดทำการเร็วกว่าปกติ และสถานทูตต่างๆเริ่มออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของตัวเองแล้ว
ที่มา Financial Times, Arab News
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday