ธาริตแถลงผลการสอบสวน89ศพในเหตุกระชับพื้นที่ราชประสงค์ เม.ย.-พ.ค.53 พบ 12 ศพ ฝีมือ นปช. เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว 13 ศพ อีก 64 ศพ ยังไม่ชัด
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการดำเนินการสืบสวนคดีพิเศษ กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบอันเนื่องมาจากการชุมนุมระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553ในการกระทำความผิดทางอาญากรณีก่อการร้าย การขู่บังคับรัฐบาลให้กระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปลายปี 2553
ต่อมา ศอฉ.ได้มอบหมายให้ดีเอสไอ สอบสวนกรณีการเสียชีวิต 89 ศพ ดีเอสไอจึงรับมอบสำนวนคดีจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.)เป็นคดีพิเศษอีก 30 สำนวน โดยร่วมสอบสวนกับทางพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ โดยทำการรวบรวมพยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจากพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวจากการบรรทึกของสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งเบื้องต้นผลการสืบสวนสอบสวนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 เป็นการเสียชีวิตที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มนปช.โดยมีผู้เสียชีวิต 12 ราย โดยมีพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และผู้เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ส่วนที่ 2 คดีการเสียชีวิตซึ่งการสืบสวนสอบสวนพบพยานหลักฐานเบื้องต้นว่า เป็นกรณีที่มีความตายอาจเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องรวม 8 คดี ผู้เสียชีวิต 13 ราย ในกรณีนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าควรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 จึงได้ส่งสำนวนให้ตำรวจท้องที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วในชั้นนี้ คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของสตช. เช่น การเสียชีวิต 3 ศพในวัดปทุมวนาราม การเสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต และการเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ที่บริเวณแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และการเสียชีวิตองนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้
ส่วนที่ 3 คดีการเสียชีวิตซึ่งสอบสวนแล้วแต่ยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดจำนวน 18คดี มีผู้เสียชีวิตรวม 64 ราย เช่น การเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นางสาวกมลเกด ฮักฮาด นางฟาบริโอ โปเรงกิ ผู้สื่อข่าวสัญชาติอิตาลี
นายธาริต กล่าวว่า แม้กรณีการเสียชีวิตที่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดยังมีเป็นจำนวนมาก แต่การสอบสวนก็มีรายละเอียดเป็นประโยชน์ต่อคดีมากพอสมควร เช่น สถานที่เกิดเหตุและวันเวลาของการเสียชีวิต บาดแผล วิถีหรือทิศทางของกระสุนหรือระเบิดอื่นๆ แต่เนื่องจากเหตุการณ์เสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่เกิดท่ามกลางการจลาจล มีการเผาทำลายสถานที่สำคัญทั้งในกทม.และจังหวัดสำคัญ จึงเป็นเหตุสับสนวุ่นวายอย่างวิกฤติ การแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงจึงมีข้อจำกัดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งดีเอสไอจะดำเนินการต่อไปและจะได้แถลงให้สาธารณชนรับทราบเป็นระยะ
นอกจากนี้ นายธาริต ยังแถลงขอความเป็นธรรมให้แก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร ซึ่งเข้าปฏิบัติการ กระชับพื้นที่และขอคืนพื้นที่ โดยระบุว่า ดีเอสไอ ในฐานะฝ่ายตรวจสอบซึ่งเป็นคนกลางยืนยันว่า การเข้าปฏิบัติการของฝ่ายทหารเป็นหน้าที่ความจำเป็นตามสถานการณ์วิกฤต และเลวร้ายในระยะนั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และนำความสงบกลับสู่สังคมและประเทศชาติโดยเร็ว การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจึงย่อมเกิดมีขึ้นได้ ฝ่ายทหารตำรวจเองก็เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนการเสียชีวิตของกลุ่มนปช. นั้นจะต้องมีการตรวจสอบเป็นรายคดีไป หากฝ่ายทหารได้กระทำไปด้วยความจำเป็น ป้องกัน เพื่อระงับเหตุร้ายอันวิกฤต ดังกล่าว ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับผิด ซึ่งกระบวนการยุติธรรม โดยศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด ในขณะนี้จึงไม่ควรด่วนตัดสินความถูกผิด เพราะจะเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม
“ผมอยากเปรียบเทียบว่าหากเกิดไฟไหม้ในเมืองขึ้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ต้องทำหน้าที่ดับไฟ หากละเว้นไม่ทำหน้าที่ บ้านเมืองก็จะถูกเผาเป็นจุล ก็เช่นเดียวกับเหตุจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ปล้นสะดม อย่างวิกฤติครั้งนี้ หากทหารไม่เข้าระงับเหตุ ก็จะเกิดมิคสัญญีเลวร้ายไปกว่านี้ อย่างแน่นอน ดังนี้ ฝ่ายทหาร จึงควรได้รับความเป็นธรรมด้วย มิใช่ถูกนปช.ให้ร้ายว่าเข่น ฆ่าประชาชนอยู่ตลอดเวลาดังเช่นข่าวคราวขณะนี้” นายธาริต กล่าว
ผู้สื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าครอบครัวของผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นจะนำคดีไปฟ้องศาลโลก นายธาริต กล่าวว่า ยังไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าหากมีการฟ้องร้องจริงศาลโลกจะมีอำนาจเหนืออธิปไตยของประเทศไทยหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาคดีนักข่าวญี่ปุ่นทางรัฐบาลได้มีคำสั่งใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษไมว่าการทำคดีของคนไทยหรือชาวต่างชาติดีเอสไอให้ความสำคัญเท่าๆกัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1115 ครั้ง