วันที่ 25-26 มกราคม การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรมนูญ ในประเด็นการกำหนดเขตเลือกตั้ง ได้ดำเนินมาถึงช่วงดึก ได้เกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนจากการตีรวนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยเวลา 23.30 น. บรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้พากันลุกขึ้นเสนอให้นายประสพสุข บุญเดช รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม เลื่อนการประชุมออกไปประชุมต่อในวันที่ 26 ม.ค. เนื่องจากที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาตลอดทั้งวันถึง 14 ชั่วโมงแล้ว และยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่ต้องการอภิปรายอีก ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้พักการประชุมแล้วให้ประธานไปศึกษาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ผิดข้อบังคับที่ 86 หมวด 7 หรือไม่ เพราะข้อบังคับดังกล่าวระบุว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้ระบุมาตราที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในหลักการหรือเหตุผล แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ร่างของรัฐบาลทั้งวาระที่ 1 และ 2 ไม่มีการระบุมาตรา ถือว่า การพิจารณารัฐสภาทั้งวันผิดข้อบังคับ
“ดังนั้นประธานต้องนำเรื่องนี้มาทบทวน หากประธานไม่สามารถวินิจฉัยตอนนี้ได้ ก็ควรหยุดการประชุมและเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความได้”นายสุรพงษ์ กล่าว ขณะที่วิปรัฐบาล ได้แก้เกมด้วยการลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการเลื่อนการประชุม ทั้งนี้ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายนายประสพสุข ได้ยกข้อบังคับที่ 86 ขึ้นมาอ่านกลางที่ประชุมว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้ระบุมาตราที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในหลักการหรือเหตุผล หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ตนขอวินิจฉัยว่าเรื่องดังกล่าวไม่ผิดข้อบังคับ
หลัง 24.00 น. การประชุมสภาเป็นไปด้วยความดุเดือดมากขึ้น หลังจากนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต่อจากนายประสพสุข โดยนายชัยยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ผ่านกระบวนการของสภาอย่างถูกต้อง แต่หากยังสงสัยสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ อย่างไรก็ตามเราได้ประชุมอย่างเรียบร้อยมาทั้งวัน แต่พอจะจบกลับมีปัญหา จากนั้น ได้ตัดบทให้สมาชิกอภิปรายต่อไป อย่างไรก็ตามบรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทยอาทิ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี ได้ลุกขึ้นยืนยกมือประท้วงพร้อมกับตะโกนเสียงดังเป็นที่วุ่นวาย ทำให้นายชัย ตัดสินใจเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามารักษาความสงบ แต่บรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่ฟัง แต่กลับยิ่งตะโกนประท้วงประธานในการควบคุมการอภิปราย จนนายชัย ต้องเรียกรปภ.กลับไปประจำอยู่ที่หน้าประตูห้องประชุมเหมือนเดิม และเปิดให้นพ.ชลน่าน ใช้สิทธิประท้วงว่าประธานผิดข้อบังคับพรรค การรักษาความสงบในสภา โดยไม่ได้ทำตามขั้นตอน นายชัย ถึงกล่าวติดตลกว่า ก็เห็นว่ามีหลายคนจะถอดรองเท้า จึงต้องเรียกเจ้าหน้าที่มาดูแล อีกทั้งยังเห็นมีผู้ประท้วงหลายคน กลัวว่าจะทะเลาะกัน จึงต้องเรียกเจ้าหน้าที่มาดูแล ทำให้ส.ส.ในห้องประชุมพากันส่งเสียงหัวเราะ
ทั้งนี้ ระหว่างที่รปภ.เข้ามาในห้องประชุมตามคำสั่งของนายชัยนั้น นายสุชาติ ซึ่งพยายามประท้วงหลายครั้งแต่นายชัยไม่อนุญาตให้อภิปราย ได้สบถด้วยถ้อยคำหยาบคายกลางห้องประชุมว่า ยกมือประท้วงกลับเรียกตำรวจมาจับ ประธานเฮง… เป็นส.ส.แล้วยกมือประท้วงไม่ได้จะเป็นผู้แทนทำ อะไร และคราวนี้จะไม่ถอดรองเท้ามาวางอย่างเดียว แต่จะเขวี้ยงจริงๆ ด้วย
จากนั้นนายชัย ชิดชอบ ประธานที่ประชุม ได้เปิดให้สมาชิกผู้สงวนคำแปรญัตติในมาตรา 94 อภิปรายต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าการประชุมสภายังไม่ราบรื่น โดย ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ชิงลุกขึ้นเสนอญัตติให้สภาวินิจฉัยกรณีที่มีสมาชิกทักท้วงว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดข้อบังคับที่ 86 แต่นายชัย ได้แย้งว่า ที่ประชุมรับญัตติดังกล่าวไม่ได้ เพราะถ้าเป็นญัตติซ้อนจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป จากนั้นนายชัย ได้รีบตัดบท ด้วยการเสนอปิดการอภิปราย โดยอ้างว่าสมาชิกได้อภิปรายโดยรวมไปแล้ว แต่ถูก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นทักท้วงว่าสมาชิกเพิ่งอภิปรายไปแค่มาตรา 93 และ94 เท่านั้น ต้องเปิดให้ผู้สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายครบถ้วนก่อน จึงจะปิดอภิปรายได้ นายชัย จึงเปิดให้สมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติอภิปรายต่อ ซึ่งการอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง
ในช่วงท้ายของการประชุม บรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างรุมติติงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยนายสงวน พงศ์มณี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังตกหล่นไม่ได้แก้ไขในมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ให้สอดคล้องกับมาตรา 93-98 ในร่างแก้ไขนี้ เนื่องจากมาตรา 103 เป็นการเขียนเพื่อใช้กับการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ เช่น วรรค 1 กำหนดว่าพรรคการเมืองที่จะส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งให้ครบจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น และจะส่งเกินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้นหากมีการแก้ไขให้เป็นเขตเลือกตั้งแบบเบอร์เดียวก็จะทำไม่ได้ จึงไม่ควรดันทุรัง ควรให้กรรมาธิการกลับไปทำใหม่
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิชย์ ส.ว.ฉะเชิงเทรา รองประธานวุฒิสภา ได้เสนอให้กรรมาธิการกลับไปพิจารณาใหม่ เมื่อเสร็จแล้วจึงเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง แต่นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการรับงานจากที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 1 เพียงแค่นี้ และได้ทำตามกรอบที่รับมาแล้ว และจากการศึกษามาตรา 103 ก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไร สามารถเลือกตั้งได้ จึงจะไม่ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไป
จนกระทั่งเวลา 02.15 น. หลังจากที่ประชุมใช้เวลาในการพิจารณามาตรา 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 93-98 รวม 11 ชั่วโมง ในที่สุดก็ได้ลงมติเป็นรายมาตรา โดยเห็นชอบในมาตรา 93 ซึ่งเป็นไปตามสูตร 357+125 ด้วยคะแนน 298 ต่อ 211 งดออกเสียง 35 ไม่ลงคะแนน 3 ส่วนมาตรา 94 ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 301 ต่อ 198 งดออกเสียง 40 ไม่ลงคะแนนเสียง 2 ส่วนมาตรา 95 ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 307 ต่อ 192 งดออกเสียง 41ไม่ลงคะแนนเสียง 2 ส่วนมาตรา 96 ที่ประชุมเห็นชอบ ด้วยคะแนน 302 ต่อ 200 งดออกเสียง 40 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 ส่วนมาตรา 97 ที่ประชุมเห็นชอบ ด้วยคะแนน 306 ต่อ 192 งดออกเสียง 43 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 และในมาตรา 98 ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 306 ต่อ192 งดออกเสียง 42 ไม่ลงคะแนนเสียง 2 ทั้งนี้น่าสังเกตว่ามีส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมโหวตไม่เห็นด้วยทุกมาตรา จากเดิมที่เคยแถลงว่าจะงดออกเสียง
นายชัย ได้นัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติในวาระ 3 ในวันที่ 11 ก.พ. เวลา 10.00 น. พร้อมกับสั่งปิดประชุมในเวลา 02.35 น. รวมที่ประชุมใช้เวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจำนวน 16 ชั่วโมง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1457 ครั้ง