ผู้ประท้วงอิยิปต์ไม่หวั่นเคอร์ฟิว ผู้นำฝ่ายค้านโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด โผล่จตุรัสตาฮีร์เข้าร่วมการชุมนุมสหรัฐชี้มูบารัคถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายประชาธิปไตย
สถานการณ์การประท้วงขับไล่ ประธานาธิบดี บอสนี มูบารัค แห่งอิยิปต์ ยังคงตึงเครียดหนัก ล่าสุด รัฐบาลได้เรียกร้องขอให้ผู้ประท้วงเชื่อฟัง และปฏิบัติตามหลังจากที่ได้ประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เมื่อวานนี้ซึ่งเวลาเคอร์ฟิว เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง 4 โมงเย็น
นอกจากนั้น รัฐบาล พร้อมกับส่งเครื่องบินขับไล่ ขึ้นบินเหนือท้องไฟกรุงไคโรห์ เพื่อสร้างความหวั่นเกรงให้กับฝูงชนที่ยังคงออกมาประท้วงในอย่างต่อเนื่องหลายพันคน เมื่อช่วงค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ภาพ/เอเอฟพี
แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าฝูงชนจะไม่ได้หวาดเกรงแต่อย่างใด อีกทั้งกลุ่มฝูงชนยังได้ไปรวมตัวแสดงความยินดี และโห่ร้องต้อนรับ ที่าย โมฮัมเหม็ด เอลบาราเด ผู้นำฝ่ายค้าน และเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ที่ได้เข้าร่วมการประท้วงกับประชาชนในครั้งนี้ที่จตุรัสตาฮีร์ ด้วย
“ผมมาร่วมกับพวกท่าน ก็เพื่อชีวิตของชาวอิยิปต์ทุกคน วันนี้ ผมได้มองไปที่ดวงตาทุกคู่ที่ผมเห็น ซึ่งต่างออกไปจากทุกวัน วันนี้ คุณกำลังเรียกร้องสิทธิ์ และเสรีภาพ และเมื่อเราเริ่มแล้ว เราก็ไม่สามารถถอยหลังกลับได้ สิ่งที่เราเรียกร้องก็คือ การสิ้นสุดของอาณาจักรเผด็จการ และเริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่” เอลบาราเดกล่าว
ก่อนหน้านั้น เขาได้ให้สัมภาษณ์ของซีเอ็นเอ็น นั้น เขาได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค อออกจากประเทศเพื่อรักษาประเทศชาติเอาไว้
“อิยิปต์ กำลังกลายเป็นประเทศที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ” เอลบาราเด กล่าว
เอลบาราเด เป็นถึงอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) และเคยมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศในช่วงก่อนที่สงครามอิรักจะปะทุขึ้น และเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่โดดเด่นที่สุด ที่ฝ่ายค้านของอิยิปต์ได้เลือกเอาไว้ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
ด้านสถานการณ์ที่จตุรัส ตาฮีร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการชุมนุมประท้วงนั้น ยังคงตึงเครียดนัก โดยกองทัพได้ส่งกองทหารหลายร้อยคน เข้าคุมเชิงกลุ่มผู้ประท้วงตามท้องถนนสายต่างๆที่มุ่งหน้าจตุรัสแห่งนี้ พร้อมกับส่งรถถังเข้าคุมสถานการณ์บริเวณจตุรัสดังกล่าวด้วย
ขณะที่บนฟากฟ้าก็มีทั้งเฮลิคอปเตอร์ทหาร และเครื่องบินรบ บินขึ้นคุมสถานการณ์เช่นกันด้วย แต่กระนั้นดูเหมือนว่า การกดดันเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้ผู้ประท้วงถอยหลังแต่อย่างใด
“ไม่มีใครกลัวเคอร์ฟิว เราตกอยู่ในความกลัวมาถึง 30 ปีแล้ว และไม่มีใครจะกลัวอีกต่อไป เราต้องการเสรีภาพ เราต้องการเสรีภาพในการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ประธานธิบดีจริงๆผู้ที่จะสมารถนำประเทศนี้สู่ความก้าวหน้า” หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าว
ขณะเดียวกัน ทางด้าน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรใหญ่ของอิยิปต์กล่าวว่า อิยิปต์ จะต้องเปลี่ยนถ่ายสู่ประชาธิปไตยตามที่ประชาชนเรียกร้อง ซึ่งแม้ว่า สถานการณ์การประท้วงขับไล่มูบารัคนั้นจะไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีนักต่อสหรัฐก็ตาม เนื่องจากประธานาธิบดี มูบารัค ถือเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในตะวันออกกลาง
คลินตัน ปฏิเสธ ที่จะให้การคาดเดาถึงอนาคต ของมูบารัค แต่ในเบื้องต้นนั้น เธอกล่าวว่า ต้องการเห็นประชาชนชาวอิยิปต์ได้รับคำมั่นในประชาธิไตย ไม่ใช่ถูกปกครองตามมโนคติแบบใดแบบหนึ่ง
สถานการณ์การประท้วงที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆนั้นได้ทำให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติ และบรรดานักธุรกิจต่างชาติเริ่มอพยพหนีภัยออกนอกประเทศกันแล้ว โดยรัฐบาล สหรัฐ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และเนเธอร์แลนด์ ได้อออกคำแนะนำ ให้ประชาชนเดินทางออกจากอิยิปต์ทันที ส่วนสถานทูตสหรัฐในกรุงไคโรห์ ก็กำลังจัดเตรียมเครื่องบินเช่าเหมาลำเพื่อขนย้ายชาวสหรัฐออกจากอิยิปต์ ซึ่งจะเริ่มการขนย้ายในวันนี้ เช่นเดียวกับทางด้านแคนาดา ก็จะนำเครื่องบินมาอพยพประชาชนของตัวเองออกจากอิยิปต์ในวันนี้เช่นกัน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ล่าสุดนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ออกคำเตือนประชาชนของตัวเองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปอิยิปต์ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม สวงีเดน ฟินแลนด์ รัสเซีย และโปแลนด์ รวมไปถึงอิรักด้วยที่เตรียมส่งเครื่องบินไปรับประชาชนของตัวเองด้วย
ขณะเดียวกัน แม้ว่ากองทัพจะส่งทหารเข้าควบคุมตามท้องถนนในหลายเมืองทั่วประเทศก็ตาม แต่ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า เกิดเหตุนักโทษหลบหนีออกจากเรือนจำหลายแห่งในประเทศ
ทางตอนใต้ของกรุงไคโรห์ ที่เรือนจำโทรา ทหารซึ่งประจำการอยู่บนรถถึงได้ยิงเตือนหลายนัดเพื่อสกัดบรรดานักโทษที่เตรียมหลบหนีออกจากคุก โดยนักโทษเหล่านี้มีอาวุธติดตัวด้วย
นอกจากนั้น ยังเกิดเหตุกลุ่มมือปืนบุกโจมตีเรือนำอย่างน้อย 4 แห่งทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มติดอาวุธสามารถหลบหนีออกมาได้หลายร้อยคน รวมไปถึงนักโทษอีกหลายพันคนที่หลบหนีออกมาได้
ที่เมืองท่าสำคัญของประเทศอย่าง อเล็กซานเดรียนั้น ทหารสามารถจับกุมกลุ่มนักโทษที่หลบหนีออกจาเรือนจำ วาดี อัล-นาตรุน ได้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น นักโทษจำนวนมากได้หลบหนีออกมา และเปิดฉากยิงกับเจ้าหน้าที่อย่างหนัก ซึ่งทำให้ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ และนักโทษเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ยังไม่ทราบจำนวนชัดเจน
แหล่งข่าวในรัฐบาลอิยิปต์เปิดเผยว่า นักโทษที่หนีออกไปได้นั้น บางคนได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจ ซึ่งทหารต้องเร่งรีบไล่ล่าตามจับตัวอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ เมืองอเล็กซานเดรีย เป็นเมืองท่าชายฝั่งริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีความสำคัญมาก อีกทั้งยังเป็นฐานสำคัญของ กลุ่มพี่น้องมุสลิม (Muslim Brotherhood Group) ซึ่งเป็นกลลุ่มเคลื่อนไหลเพื่อความเปลี่ยนแปลงของชาวมุสลิม อีกทั้งยังเป็นองค์กรฝ่ายค้านสำคัญในหลายประเทศอาหรับ
รายงานบอกว่าแม้ว่ากองทัพจะส่งกำลังทหาร และรถหุ้มเกราะเข้าประจำการตามเมืองต่างๆ แต่ดูเหมือนว่าทหารเหล่านี้ จะไม่ทำร้ายกลุ่มผู้ประท้วงแต่อย่างใด แม้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะลงมือโจมตีรถยนต์ และปล้นสะดมอย่างหนัก โดยห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงไคโรห์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์นั้น ถูกเผาวอดไปแล้วหลังจากที่ถูกฝูงชนบุกเขาปล้นสะดมภ์
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ประท้วงในอิยิปต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแล้ว 102 คน และอีกมากกว่า 2,000 คน ได้รับบาดเจ็บ
ก.ต่างประเทศเร่งเหลือช่วย80คนไทยกลับ
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า มีคนไทยราว 80 คน ตกค้างที่ท่าอากาศยานไคโร ในอียิปต์ ในจำนวนนี้มี 45 คน มีตั๋วโดยสารกลับประเทศไทยแล้ว ขณะที่ 17 คน ประสงค์จะเดินทางไปยุโรป และมีแรงงานไทย 17 คน จะเดินทางไปลิเบีย ขณะที่สถานทูตไทยจัดอาหารดูแล ตลอด 3 วันที่ผ่านมา
นายธานี ยอมรับว่าสถานการณ์ในกรุงไคโรน่าเป็นห่วง และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปอียิปต์ พร้อมประเมินความจำเป็นต้องส่งเครื่องบินไปรับหรือไม่
ปิดอัลจาซีราในอียิปต์
ทางการอียิปต์สั่งยุติกิจกรรมในประเทศทุกอย่างของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีร่ารวมทั้งระงับใบอนุญาตของทางสถานีด้วย หลังจากสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศทั่วโลกอาหรับ รายงานข่าวการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้นำอียิปต์ของประชาชนอย่างคึกคัก
นอกจากนั้นบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวของเจ้าหน้าที่อัลจาซีร่าทุกคนในอียิปต์ ก็ถูกเพิกถอนทั้งหมดด้วย แต่สัญญาณของอัลจาซีร่า ที่ผ่านมาทางดาวเทียม ยังคงสามารถรับได้ในกรุงไคโร ในช่วงที่มีการประกาศเรื่องนี้
หลังทราบเรื่อง ทางอัลจาซีร่า ได้ออกแถลงการณ์ประนาฌเรื่องนี้ โดยบอกว่ามาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเซ็นเซอร์ และสยบเสียงของประชาชนชาวอียิปต์ ทางสถานีมองว่าเรื่องนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกดขี่เสรีภาพในการรายงานข่าวของสถานีและผู้สื่อข่าว ซึ่งในช่วงที่มีความวุ่นวาย และการจลาจลในสังคมอียิปต์ เป็นสิ่งจำเป็นที่เสียงของทุกฝ่ายจะต้องถูกรับฟัง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1563 ครั้ง